‘ไทย’ รุกเวทีโลกเข้าร่วมพันธมิตร BRICS ‘บลิงเคน’ ถามหาเหตุผลยื่นใบสมัคร
“ไทย” เดินหน้าเป็นสมาชิกบริกส์ - โออีซีดี ล่าสุดเข้าเป็นพันธมิตรกลุ่มบริกส์ “บลิงเคน” ถามเหตุผลยื่นสมัคร ไทยแจงยึดเศรษฐกิจมากกว่าภูมิรัฐศาสตร์ เลขาธิการโออีซีดี เยือนไทยสัปดาห์หน้าหารือเป็นสมาชิก “เอกชน” หนุน ชี้ขยายโอกาสการค้า รักษาสมดุลความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
"ไทย" กำลังมีจังหวะก้าวที่สำคัญบนเวทีโลกหลังจากแสดงความจำนงเข้าเป็นสมาชิกกลุ่มความร่วมมือระหว่างประเทศที่จะเพิ่มบทบาทของไทยบนเวทีโลก 2 กลุ่ม ประกอบด้วย
1.กลุ่มบริกส์ (BRICS) ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบร่างหนังสือแสดงความประสงค์ของประเทศไทยในการเข้าร่วมเป็นสมาชิกของกลุ่ม บริกส์ เมื่อวันที่ 28 พ.ค.2567
2.องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) โดย ครม.เห็นชอบร่างหนังสือแสดงเจตจำนงของไทยในการเข้าเป็นสมาชิก OECD เมื่อวันที่ 26 ธ.ค.2566
สำหรับกลุ่มบริกส์ (BRICS) มีนโยบายขยายความร่วมมือกับประเทศที่ไม่ใช่สมาชิก โดยเชิญประเทศที่ไม่ใช่สมาชิกเข้าร่วมกลไกของการประชุมสุดยอดกลุ่มบริกส์ ครั้งที่ 16 เมืองคาซาน ประเทศรัสเซีย วันที่ 22-24 ต.ค.2567
ทั้งนี้ที่ผ่านมาไทยเร่งเดินหน้าเข้าร่วมกระบวนการเป็นสมาชิกกลุ่มบริกส์ เพื่อยกระดับบทบาทของไทยในฐานะผู้มีบทบาทนำในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา และเพิ่มการมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ
สำหรับกลุ่มบริกส์ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2549 เป็นการรวมตัวของประเทศตลาดเกิดใหม่ขนาดใหญ่ โดยมีสมาชิกเริ่มแรก คือ บราซิล รัสเซีย อินเดีย และจีน ภายใต้ชื่อกลุ่ม BRIC ต่อมาแอฟริกาใต้เป็นสมาชิกในปี 2553 และเปลี่ยนชื่อเป็นกลุ่ม BRICS
หลังจากนั้นวันที่ 1 ม.ค.2567 มีสมาชิกเพิ่ม 5 ประเทศ รวมเป็น 10 ประเทศ คือ เอธิโอเปีย อียิปต์ ซาอุดีอาระเบีย อิหร่าน และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ รวมมีประชากรทั้งหมด 39% ของโลก และมี GDP รวม 28.4% ของโลก
กระทรวงการต่างประเทศ สรุปข้อมูลกลุ่มบริกส์เสนอ ครม.เมื่อเดือนพ.ค.2567 เพื่อขอความเห็นชอบการเข้าเป็นสมาชิกกลุ่มบริกส์ ว่า กลุ่มบริกส์มีท่าทีคานอำนาจกับกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว โดยให้ความสำคัญ 3 ประเด็น คือ
1.การปฏิรูปโครงสร้างการจัดการเศรษฐกิจโลกเพื่อให้กลุ่มประเทศกำลังพัฒนามีบทบาทมากขึ้น
2.การส่งเสริมใช้เงินสกุลท้องถิ่นทำธุรกรรมระหว่างประเทศ เพื่อลดการพึ่งสกุลเงินดอลลาร์
3.การสร้างกลไกระหว่างประเทศทางเลือกทั้งด้านการเงิน การให้ความช่วยเหลือ และการระดมทุนเพื่อการพัฒนา
นอกจากนี้ กระทรวงการต่างประเทศรายงาน ครม.ว่าด้านการเมือง และความมั่นคงระหว่างประเทศ กลุ่มบริกส์ มักมีท่าทีไม่สอดคล้องกับท่าทีของกลุ่มประเทศตะวันตก โดยเฉพาะวิกฤติซีเรีย ปัญหานิวเคลียร์อิหร่าน และสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครน
สำหรับขึ้นตอนการยื่นสมัครเข้าเป็นสมาชิกเริ่มจากการที่ไทยยื่นหนังสือแสดงความประสงค์อย่างเป็นทางการต่อประธานกลุ่มบริกส์ ในระดับผู้นำหรือรัฐมนตรีต่างประเทศ จะทำให้ไทยมีสถานะประเทศที่แสดงความสนใจ และท้ายที่สุดผู้นำประเทศสมาชิกกลุ่มบริกส์ จะให้ความเห็นชอบโดยฉันทามติจึงจะมีสถานะเป็นสมาชิกเต็มรูปแบบ (Full Member)
นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะผู้แทนของนายกรัฐมนตรี เดินทางเยือนเมืองคาซาน ของรัสเซีย ที่เป็นเจ้าภาพการประชุมผู้นำกลุ่มบริกส์กับกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนา (BRICS Plus Summit) ครั้งที่ 4 วันที่ 24 ต.ค.2567 ในหัวข้อ “BRICS and the Global South: Building a Better World Together”
สำหรับการประชุมครั้งนี้ได้หารือแนวทางการแก้ไขปัญหาความท้าทายในระดับภูมิภาค และระดับโลก รวมถึงหารือการส่งเสริมระบบพหุภาคีเพื่อการสร้างระบบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่เป็นธรรม และเป็นประโยชน์ต่อประเทศกำลังพัฒนามากขึ้น โดยการประชุมดังกล่าวเกิดขึ้นหลังการประชุมผู้นำบริกส์ เมื่อวันที่ 23 ต.ค.2567
ทั้งนี้ ไทยได้รับเชิญร่วมประชุม BRICS Plus ตั้งแต่ปี 2560 โดยการประชุมครั้งนี้เป็นโอกาสให้ฝ่ายไทยเน้นความมุ่งมั่นการยกระดับปฏิสัมพันธ์กับกลุ่มบริกส์ หลังจากไทยยื่นหนังสือแสดงความประสงค์เข้าเป็นสมาชิกเมื่อเดือนมิ.ย.2567
นอกจากนี้ ข้อมูล BRICS News บัญชี@BRICSinfo บนแพลตฟอร์ม X รายงานว่า กลุ่มบริกส์ ได้เพิ่ม 13 ประเทศเป็นพันธมิตรที่ยังไม่ใช่สมาชิกเต็มตัว ประกอบด้วย แอลจีเรีย เบลารุส โบลิเวีย คิวบา อินโดนีเซีย คาซัคสถาน มาเลเซีย ไนจีเรีย ไทย ตุรกี ยูกันดา อุซเบกิสถาน และเวียดนาม
“บลิงเคน”ถามเหตุผลไทยยื่นใบสมัคร
นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวกับ "กรุงเทพธุรกิจ" ว่า ระหว่างการประชุมผู้นำอาเซียน ระหว่างวันที่ 9 - 11 ต.ค.2567 ที่ประเทศลาว ได้มีการหารือทวิภาคีระหว่าง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กับนายแอนโทนี เจ.บลิงเคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ โดยสหรัฐได้สอบถามการสมัครเข้ากระบวนการเป็นสมาชิกกลุ่มบริกส์ของไทย
ทั้งนี้ ไทยได้ชี้แจงสหรัฐถึงเหตุผลที่ต้องการขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจขยายตัวเพิ่มมากขึ้น โดยไม่ได้มีเหตุผลทางภูมิรัฐศาสตร์แต่เป็นเหตุผลทางเศรษฐกิจ ซึ่งจะเป็นการเข้าสู่ตลาดขนาดใหญ่หลายประเทศที่มีประชากรมาก โดยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยขยายตัวเฉลี่ยไม่ถึง 2% แต่การขยายตลาดจะสนับสนุนเป้าหมายเศรษฐกิจขยายตัวได้ และสหรัฐได้รับฟัง และเข้าใจเหตุผลดังกล่าว
“ทูตจีน” ยินดีไทยเป็นหุ้นส่วนบริกส์
นายหาน จื้อเฉียง เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย ปาฐกถาพิเศษ “เศรษฐกิจจีนในมุมมองใหม่” จัดโดยสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
ทั้งนี้ ช่วงหนึ่งได้ตอบคำถามผู้สื่อข่าวกรณีไทยเป็นหนึ่งใน 13 ประเทศที่ได้รับสถานะหุ้นส่วนของกลุ่มบริกส์ ว่า บริกส์เป็นกลไกรวบรวมประเทศกำลังพัฒนาและประเทศตลาดเกิดใหม่ หรือที่เรียกว่ากลุ่มประเทศใต้ Global South จึงได้รับความสนใจมากขึ้น
ช่วงนี้สถานการณ์โลกซับซ้อนมากมีปัญหาหลายด้าน เช่น ปัญหาด้านความมั่นคง และปัญหาการพัฒนาประเทศต่างๆ จึงเชื่อว่ากลไกบริกส์ทำให้โลกน่าเชื่อถือขึ้น
สำหรับการประชุมผู้นำบริกส์ปี 2566 รับสมาชิกใหม่ 5 ประเทศ ในการประชุมปี 2567 มีมากกว่า 30 ประเทศต้องการเป็นสมาชิกบริกส์ ซึ่งการประชุมสุดยอดบริกส์วันที่ 23 ต.ค.2567 ได้เปิดประตูต้อนรับสมาชิกใหม่ โดยมีมติว่าประเทศที่สมัครควรมาเป็นประเทศหุ้นส่วนเสียก่อน ซึ่งทราบว่าไทยได้เข้าเป็นประเทศหุ้นส่วนบริกส์ในชุดแรกในรอบนี้จึงขอแสดงความยินดี
“ประเทศจีนขอแสดงความยินดีเป็นอย่างยิ่ง และอยากจะขอเชิญไทยเข้าร่วมครอบครัวบริกส์”เอกอัครราชทูตจีน กล่าว
แนะรักษาสมดุลความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การที่ไทยสมัครสมาชิกทั้งกลุ่มบริกส์ และ OECD อาจเปิดโอกาสให้ไทยได้รับประโยชน์จากความร่วมมือในมิติที่หลากหลาย
สำหรับกลุ่มบริกส์ มีแกนนำเป็นรัสเซีย บราซิล จีน อินเดีย และแอฟริกาใต้ โดยมุ่งเน้นการสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจ และการเมืองระหว่างประเทศเกิดใหม่หรือประเทศกำลังพัฒนา
ดังนั้น การที่ไทยเข้าร่วม BRICS อาจเปิดโอกาสให้ไทยขยายการค้า และการลงทุนในตลาดเกิดใหม่ที่มีศักยภาพสูง เช่น การเข้าถึงทรัพยากรหรือเทคโนโลยีจากประเทศสมาชิก การพัฒนาความร่วมมือทางการเงินผ่านธนาคารเพื่อการพัฒนาของ BRICS (New Development Bank) ซึ่งจะช่วยสนับสนุนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของไทยได้
ขณะที่ OECD เป็นกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วที่มีสมาชิกส่วนใหญ่มาจากชาติตะวันตก และเน้นเรื่องการส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจ และการพัฒนามาตรฐานในระดับสากล
ดังนั้น การเข้าร่วม OECD จะทำให้ไทยมีโอกาสได้รับคำแนะนำจากประเทศที่มีเศรษฐกิจพัฒนาแล้วในด้านการปฏิรูปเศรษฐกิจ การพัฒนามาตรฐานการบริหารจัดการที่ทันสมัย การปฏิรูปภาษี และการจัดการการค้า ซึ่งจะช่วยยกระดับศักยภาพในการแข่งขัน และดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ
“การที่ประเทศไทยต้องการเป็นสมาชิกทั้งสองกลุ่มก็แสดงถึงความพยายามของไทยในการขยายความร่วมมือระหว่างประเทศในระดับโลก แต่ในขณะเดียวกันไทยก็ต้องรักษาสมดุล และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่มีจุดยืนแตกต่างกันไว้ด้วยเช่นเดียวกัน” นายสนั่น กล่าว
คาดสมาชิก“บริกส์”เพิ่มขึ้นอีกหนุนการค้า
นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวกับ "กรุงเทพธุรกิจ" ว่า การส่งออกไทยต้องพยายามรักษาตลาดเดิม สร้างตลาดใหม่ ซึ่งกลุ่มบริกส์เป็นกลุ่มประเทศเศรษฐกิจใหม่เพราะมีทั้งประเทศในแถบเอเชีย เอเชียใต้ และแอฟริกา โดยกลุ่มบริกส์ มีสัดส่วนการส่งออก 18% ของการส่งออกไทยทั้งหมด
ทั้งนี้ถือเป็นโอกาสของไทยในการส่งออกเพิ่ม โดยเฉพาะจีน และอินเดียเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ และภายใต้ความร่วมมือภายในกลุ่มบริกส์ จะขยายมากขึ้นเรื่อยๆ และจะมีประเทศต่างๆ ในตะวันออกกลาง มาร่วมเพิ่มขึ้น
สำหรับสินค้าไทยที่มีโอกาสส่งออกได้เพิ่มมากขึ้น และเป็นสินค้าที่น่าสนใจสำหรับกลุ่มบริกส์ คือ สินค้าในกลุ่ม อาหาร ชิ้นส่วนยานยนต์
อย่างไรก็ตามควรศึกษาความเป็นไปได้ แต่ความท้าทายในการรักษาสมดุลด้านการเมือง ซึ่งตลอดเวลาไทยสามารถวางบทบาทที่ดี เน้นความเป็นกลางทางการเมืองระหว่างประเทศ และเน้นค้าขายมากกว่า
ไทยตั้งเป้าเข้าร่วมสมาชิก OECD ใน 5 ปี
สำหรับความคืบหน้าของประเทศไทยในการเข้าเป็นสมาชิก OECD ที่ไทยได้ดำเนินการยื่นเจตจำนงสมัครเข้าเป็นสมาชิก OECD และภาคีสมาชิกของ OECD ได้มีมติยอมรับให้ไทยเข้าสู่กระบวนการหารือเพื่อเข้าสู่ขั้นตอนการเป็นสมาชิกในอนาคต
แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยกับกรุงเทพธุรกิจว่า ในสัปดาห์หน้า นายมาทีอัส คอร์มัน เลขาธิการ OECD จะเดินทางมายังประเทศไทย และมีกำหนดการเข้าหารือกับนางสาวแพทองธาร ที่ทำเนียบรัฐบาล
ทั้งนี้ ถือเป็นโอกาสอันดีที่จะได้มีการพูดคุยกันถึงความคืบหน้าของการเข้าร่วมเป็นสมาชิก OECD ของไทย รวมทั้งรับฟังคำแนะนำจากเลขาธิการ OECD ที่จะช่วยให้ไทยสามารถบรรลุเป้าหมายของประเทศไทยในการเข้าเป็นสมาชิกได้
รวมทั้งไทยตั้งเป้าหมายในการทำงานว่าจะเข้าเป็นสมาชิกของ OECD ภายใน 5 ปี โดยจะร่วมโปรแกรมต่างๆ รวมทั้งปรับปรุงกฎระเบียบ ข้อกฎหมาย และมาตรฐานต่างๆ ให้ทัดเทียมสากล ทั้งนี้ การประเมินว่าไทยจะได้รับการยอมรับให้เป็นสมาชิกนั้นไม่สามารถระบุระยะเวลาที่ชัดเจนได้ขึ้นกับการพิจารณาภายในของประเทศต่างๆ ที่เป็นภาคีสมาชิกในกลุ่มด้วย
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิกาสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า การผลักดันให้ไทยเป็นสมาชิก OECD ครม.มอบหมายให้ สศช.เป็นหน่วยงานหลักทำงานร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ โดยขั้นตอนการเข้าเป็นสมาชิกเริ่มเป็นทางการเมื่อไทยยื่นหนังสือแสดงเจตจำนงเมื่อวันที่ 12 ก.พ.2567
รวมทั้งที่ผ่านมาคณะมนตรี OECD ประกอบด้วยเอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรประเทศสมาชิก OECD มีมติเห็นชอบให้เชิญไทยเข้ากระบวนการการหารือเพื่อเข้าเป็นสมาชิก OECD (accession discussions) เป็นที่เรียบร้อย โดยขั้นตอนต่อจากนี้ไทยและ OECD จะทำงานร่วมกันใกล้ชิดทำแผนการเข้าเป็นสมาชิก (Accession Roadmap) ที่จะกำหนดเป้าหมายเงื่อนไข และกรอบเวลา
รวมทั้งมีคณะกรรมการและการประชุมของ OECD ที่ไทยจะต้องเข้าร่วมอีกอย่างน้อยกว่า 26 ชุด และเมื่อไทยดำเนินการตามแผนครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว คณะมนตรี OECD จะพิจารณาเชิญไทยเข้าเป็นสมาชิกตามขั้นตอน
ทั้งนี้ การเข้าเป็นสมาชิก OECD จะทำให้สถานะไทยในเวทีระหว่างประเทศได้รับการยอมรับมากขึ้นในเรื่องของมาตรฐาน กฎระเบียบที่เป็นสากลซึ่งจะเอื้อให้เกิดการลงทุนจากบริษัทชั้นนำจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นด้วย
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์