‘อินโดนีเซีย’ มุ่งมั่น ฝันเป็น ‘ฮับอีวี’ ระดับโลก
อินโดนีเซีย ได้รับเลือกเป็นสถานที่ตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่รถยนต์อีวี จึงมีความมุ่งมั่นอย่ามากที่จะเป็น "ศูนย์กลางด้านรถยนต์ไฟฟ้า" ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ยังมีอุปสรรคหลายประการที่ต้องฝ่าไปให้ได้
หลังจากอินโดนีเซียได้รับเลือกเป็นที่ตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่มูลค่า1.1 พันล้านดอลลาร์ จากการร่วมทุนของบริษัทรถยนต์ “ฮุนได” และบริษัท “แอลจี” จากเกาหลีใต้ ขณะนี้อินโดนีเซียพยายามส่งเสริมการลงทุนเพิ่มขึ้น เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันเป็น “ศูนย์กลางด้านรถยนต์ไฟฟ้า” ของภูมิภาค
เมื่ออินโดนีเซียเปิดโรงงานแบตเตอรี่แห่งแรกของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในจ.ชวาตะวันตก ประธานาธิบดีอินโดนีเซียซึ่งขณะนั้นคือโจโก วิโดโด กล่าวว่า การลงทุนนี้จะทำให้เศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็น “ผู้เล่นที่สำคัญในระดับโลก” ในห่วงโซ่อุปทานรถอีวี
แต่แม้อินโดนีเซียมีแหล่งแร่นิกเกิลสำรองมากที่สุดในโลก นักวิเคราะห์มองว่าอินโดนีเซียยังคงเผชิญกับความยากลำบาก เนื่องจากความสามารถในการแปรรูปและการสกัดแร่ยังคงต่ำ เกิดความกังวลด้านสิ่งแวดล้อม และอุตสาหกรรมอาจมีการแข่งขันสูงเพราะแบตเตอรี่ชนิดอื่นๆ มีความนิยมมากขึ้น
นอกจากนี้ อินโดนีเซียยังต้องดำเนินการอีกมากเพื่อช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดอีวีจากไทย ธนาคารกรุงศรีเผยว่า ในช่วงต้นปี 2566 ไทยมีส่วนแบ่งตลาดจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากถึง 78.7% รองลงมาเป็นอินโดนีเซีย มีส่วนแบ่งตลาดเพียง 8%
กลยุทธ์อินโดฯ ดึงลงทุนอีวี
เอเอฟพีรายงานว่า รัฐบาลอินโดนีเซียออกมาตรการให้เงินอุดหนุนเพื่อกระตุ้นตลาดอีวีจำนวนมาก รวมถึงการยกเว้นภาษีสินค้าหรูสำหรับรถยนต์อีวีที่ช่วยกระตุ้นยอดขายและทำให้แบรนด์สำคัญหลายรายอย่าง "บีวายดี" ของจีน และ "วินฟาสต์" ของเวียดนาม เข้าสู่ตลาดอินโดนีเซียที่มีลูกค้า 280 ล้านคน
ข้อมูลจากสมาคมยานยนต์อินโดนีเซีย ระบุว่า ในระหว่างเดือน ม.ค. ถึงเดือน ส.ค. ปีนี้ อินโดนีเซียจำหน่ายรถยนต์พลังงานแบตเตอรี่ได้มากกว่า 23,000 คัน สูงกว่าปีก่อนที่จำหน่ายรถยนต์อีวีได้เพียง 17,000 คันตลอดทั้งปี
ภายใต้มาตรการเกี่ยวกับอีวีที่ออกเมื่อปีก่อน ระบุว่า รถอีวีที่นำเข้ามายังอินโดนีเซียจะปลอดภาษีจนถึงปี 2568 หากบริษัทต่างๆ ให้คำมั่นสร้างโรงงานผลิตรถยนต์และผลิตรถยนต์ให้มากเท่ากับรถยนต์ที่บริษัทนำเข้า ภายในสิ้นปี 2570
ล่าสุด "อู่หลิง" (Wuling) แบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าสัญชาติจีนประกาศเมื่อเดือนก่อนว่า บริษัทมีแผนตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่ในอินโดนีเซียภายในสิ้นปี 2567
รัชมัต ไกมุดดิน เจ้าหน้าที่รัฐในรัฐบาลชุดก่อนประธานาธิบดีปราโบโว ซูเบียนโต บอกว่า กุญแจสำคัญของกลุยทธ์รัฐบาลจาการ์ตาคือ การดึงดูดผู้ผลิตรถยนต์ก่อนที่พวกเขาจะออกไปตั้งโรงงานที่อื่น และว่า แหล่งแร่นิกเกิลสำรองของอินโดนีเซียคือ ปัจจัยที่สร้างความแตกต่าง
เงินลงทุนยังน้อย
รัฐบาลอินโดนีเซียตั้งเป้าเป็นหนึ่งในผู้ผลิตแบตเตอรี่อีวีท็อป 3 ของโลก แต่เม็ดเงินลงทุนในภาคอุตสาหกรรมนี้ยังน้อย
ข้อมูลจากกระทรวงการลงทุน เผยว่า การลงทุนในอุตสาหกรรมแร่นิกเกิลระหว่างปี 2563 ถึงเดือนก.ย. 2567 มีมูลค่า 514.8 ล้านล้านรูเปี๊ยะห์ (3.33 หมื่นล้านดอลลาร์) ขณะที่การลงทุนในอุตสาหกรรมแบตเตอรี่อีวีมีมูลค่า 19.14 ล้านล้านรูเปี๊ยะห์
ฮง อูพยอง ประธานกรรมการบริษัทร่วมทุนพีที เอชแอลไอ กรีน พาวเวอร์ กล่าวว่า แม้อินโดนีเซียมีแหล่งแร่นิกเกิลสำรองมากสุดในโลก แต่ประเทศยังคงต้องนำเข้าแร่ให้กับโรงงานผลิตแบตเตอรี่ใหม่ รวมถึงแร่นิกเกิลที่แปรรูปแล้วจากเกาหลีใต้และจีน เนื่องจากอินโดนีเซียยังขาดผลิตภัณฑ์จากอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง
ขณะที่นักสิ่งแวดล้อมออกมาเตือนว่า การทำเหมืองนิกเกิลเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการตัดไม้ทำลายป่าในอินโดนีเซีย ด้านนักวิเคราะห์เสริมว่า การเพิ่มขึ้นของแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน (แอลเอฟพี) ที่มีราคาถูก และนิยมใช้อย่างแพร่หลายในจีน อาจส่งผลกระทบต่อดีมานด์แบตเตอรี่แร่นิกเกิลได้
ปูตรา อาธิกูนา กรรมการผู้จัดการของสถาบันคลังสมองเอนเนอร์จีชิฟต์ บอกว่า แบตเตอรี่ที่มีอุปทานส่วนเกินอาจทำให้อินโดนีเซียดึงดูดการลงทุนได้ยากมากขึ้น แต่ฮงมองอนาคตอุตสาหกรรมแบตเตอรี่อินโดนีเซียในแง่ดีว่า ในอนาคตอันใกล้ แร่จะมาจากอินโดฯ เพื่อนำไปผลิตเซลล์แบตเตอรี่สำหรับรถอีวี
“อินโดนีเซียกำลังเติบโตและเติบโตทุกปี ราว 5% ตลาดยานยนต์จะเติบโตด้วยเช่นกัน” ฮง กล่าว