“อียู” ขึ้นภาษีอีวีจาก“จีน”สะท้อน กฎการค้าสวนทางเป้าหมายเน็ตซีโร่
เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ประชุมคณะกรรมาธิการยุโรป (EC) ซึ่งเป็นฝ่ายบริหารของสหภาพยุโรปหรือ อียู มีมติสนับสนุนการเรียกเก็บภาษีนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าจากจีน (อีวีจีน) เพิ่มเติมในอัตราสูงสุด 35.3%
ส่งผลให้รถยนต์ไฟฟ้าจีนเมื่อรวมภาษีเดิม จะทำให้อัตราภาษีสูงสุดอยู่ที่ราว 45% ซึ่งจะทำให้ผู้ผลิตรถยนต์อีวีจีนต้องเสียภาษีเพิ่มอีกหลายพันล้านดอลลาร์ในการส่งออกรถไปอียู
การเรียกเก็บภาษีเพิ่มเติมครั้งนี้จะเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนพ.ย. ต่อเนื่องไปเป็นเวลา 5 ปี โดยผ่านการลงมติจาก 10 ชาติสมาชิกนำโดย ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ และเดนมาร์ก และมี 5 ชาติที่คัดค้านซึ่งรวมถึง “เยอรมนี” ขณะที่อีก 12 ชาติงดออกเสียง โดยมีรายละเอียดของอัตราภาษีดังนี้
SAIC 35.3% Geely 18.8% BYD 17.0% Tesla 7.8% บริษัทอื่นๆ ที่ให้ความร่วมมือในการสอบสวน อัตรา 20.7% บริษัทอื่นๆ ที่ “ไม่ให้” ความร่วมมือในการสอบสวนอัตรา 35.3%
อย่างไรก็ดี EC ยังคงเปิดช่องทางเจรจากับจีนเพื่อหาทางออกในเรื่องนี้ โดยเฉพาะประเด็นการกำหนดราคานำเข้าขั้นต่ำสำหรับรถยนต์จากจีน และการกำหนดปริมาณการนำเข้ารถยนต์ ซึ่งหากทั้งสองฝ่ายสามารถบรรลุข้อตกลง ก็อาจส่งผลให้มีการพิจารณาทบทวนภาษีดังกล่าว
รายงานข่าวก่อนหน้านี้ ระบุว่า EC มีความกังวลว่า ตลาดโลกกำลังถูกยึดครองด้วยรถ EV ราคาถูกของจีน โดยเหตุผลสำคัญที่ทำให้รถของจีนมีราคาถูกนั้นเป็นเพราะการได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลจีน
ขณะที่ หอการค้าจีนใน EU ตอบโต้ว่าการที่รถ EV ของจีนมีราคาถูกและได้เปรียบทางการค้านั้น ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการที่รัฐบาลจีนให้เงินสนับสนุนในการผลิตแต่อย่างใด ข้อโต้แย้งนี้สอดคล้องกับ ข้อมูล China Passenger Car Association (CPCA) ที่ระบุว่าในเดือนส.ค. 2023 การส่งออกรถยนต์ของจีนเติบโตขึ้นถึง 31% ซึ่ง EU
โดยเฉลี่ยรถ EV ของจีนมีราคาถูกกว่ารถ EV ยุโรปถึง 20% และมียอดขายขยายตัวขึ้น 8% และคาดว่าจะแตะ 15% ในปี 2025 ซึ่งสวนทางกับผู้ผลิตรถยนต์ EV ของยุโรปที่ต้องใช้ความพยายามอย่างหนักเพื่อลดต้นทุนการผลิตให้ถูกลงมาเพื่อที่จะสามารถแข่งขันกับผู้ผลิตรถ EV ของจีนได้ เช่น Renault ได้ประกาศว่า จะลดค่าใช้จ่ายในการผลิตรถ EV ลงให้ได้ 40% สมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์เยอรมัน (VDA) เองก็แจ้งว่า EU ต้องคำนึงถึงการโต้ตอบจากจีนด้วย และควรคิดถึงวิธีการที่ทำให้ผู้ผลิตสัญชาติยุโรปมีประโยชน์มากกว่า
“กลัวว่าประวัติศาสตร์จะซ้ำรอยอีกครั้ง เหมือนกับเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นกับธุรกิจแผง Solar Cell ที่จีนเข้ามาครองตลาดยุโรปอย่างง่ายดาย”
ทั้งนี้ มีข้อมูลบ่งชี้ว่า ระหว่างปี 2016-2022 รัฐบาลจีนจ่ายเงินสนับสนุนการผลิตรถ EV มากถึง 57 พันล้านดอลลาร์ จึงทำให้จีนกลายเป็นผู้ผลิตรถ EV รายใหญ่ที่สุดของโลก แม้ในปี 2022 รัฐบาลจีนได้หยุดการให้เงินสนับสนุนแล้ว แต่ยังคงมีบางส่วนที่ยังได้รับการสนับสนุนอยู่บ้าง
ความขัดแย้งระหว่าง EU กับ จีน สวนทางกับ เป้าหมายที่ทุกประเทศจะช่วยกันลดก๊าซเรือนกระจกลงเพื่อทำให้อุณหภูมิของโลกไม่เพิ่มขึ้นเกิน 1.5-2.0 องศาเซลเซียส ภายในศตวรรษนี้ และในปี 2050 ต้องปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือที่เรียกว่า“Net Zero”
โดยในเดือน ก.ค. 2021 EC เองได้จัดทำแผนการทำงานเพื่อสนับสนุนเป้าหมายดังกล่าว และเกิดเป็น “European Green Deal” หรือมาตรการลดคาร์บอนไดออกไซด์ลง 55% ในปี 2030 หรือ Fit for 55 Package ซึ่งเป็นร่างกฎหมายเพื่อรับรองเรื่องการปรับปรุงสิทธิการซื้อขายและการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
การส่งเสริมการคมนาคมสีเขียวทั้งทางบก ทางทะเล และทางอากาศการกำหนดอัตราภาษีธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมการกำหนดสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนการตั้งเป้าหมายการดูดซับก๊าซเรือนกระจกและการออกมาตรการCBAM(Carbon Border Adjustment Mechanism)มาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรปคือการกำหนดราคาสินค้านำเข้าบางประเภทป้องกันการนำเข้าสินค้าที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงเข้ามาในกลุ่มประเทศสมาชิกEU
ข้อริเริ่มดังกล่าวนี้ นำไปสู่ กฎหมายและกฎระเบียบ 6 ข้อประกอบด้วย
1. Renewable Energyหรือกฎหมายเกี่ยวกับพลังงานหมุนเวียน มีสาระสำคัญ คือ ปรับปรุงกฎหมายเพิ่มอัตราการใช้พลังงานทดแทนให้เป็น 40% ของพลังงานทั้งหมดในปี 2030 (ปัจจุบัน 20%)
2. Sustainable/Smart Mobility หรือกฎหมายเกี่ยวกับการขนส่งอัจฉริยะและยั่งยืน มีสาระสำคัญ คือ ยกระดับมาตรฐานยานพาหนะที่ใช้ในกลุ่มประเทศสมาชิก EU โดยอนุญาตให้ใช้ยานพาหนะที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์เท่านั้น ภายในปี 2035
“จะส่งผลกระทบกับการส่งออกอุตสาหกรรมชิ้นส่วนรถยนต์และอุปกรณ์การชาร์จพลังงานสำหรับรถไฟฟ้า และรถไฮโดรเจน จากประเทศไทย รวมทั้งการปรับปรุงมาตรฐานการควบคุมมลพิษ Euro-7ส่งผลกระทบกับธุรกิจระบบเครื่องยนต์ดีเซล และเบนซิน”
นอกจากนี้ยังมีการปรับปรุงกฎหมายควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในอุตสาหกรรมการบิน และการเดินเรือ โดยจะเริ่มในปี 2026 อันจะส่งผลกระทบกับเครื่องบินไทย การเดินเรือไทยที่เข้ามาในกลุ่มประเทศสมาชิก EU ซึ่งต้องมีการเตรียมพร้อมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการขนส่ง
3. Forestry/Biodiversity หรือกฎหมายเกี่ยวกับป่าไม้และความหลากหลายทางชีวภาพ มีสาระสำคัญ คือมาตรการการปกป้องป่าที่เป็นแหล่งดูดซับก๊าซเรือนกระจกอาทิ การไม่ใช้พลังงาน Biofuel เช่น ปาล์มน้ำมัน อ้อย และข้าวโพด ที่มาจากการรุกพื้นที่ป่า หรือสร้างผลลัพธ์ทำให้ขาดแคลนอาหาร และทำให้ราคาอาหารแพงขึ้น รวมถึงการไม่ซื้อสินค้าทุกประเภทที่มาจากการรุกพื้นที่ป่า เช่น กาแฟ
4. Taxonomy หรือกฎหมายเกี่ยวกับการจัดหมวดหมู่ธุรกิจสีเขียว คือการกำหนดนิยามกิจกรรมของธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมก็จะได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มประเทศสมาชิก EU มากขึ้น เช่น การระดมทุนใน Green Bond หรือได้สิทธิพิเศษทางสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ Soft Loan
5. Due Diligenceหรือกฎระเบียบความรับผิดชอบในการประกอบธุรกิจ คือการกำหนดกรอบการทำธุรกิจตามหลัก
บรรษัทภิบาล Sustainable Corporate Governance ธุรกิจที่ไม่สร้างผลกระทบและดูแลสิ่งแวดล้อม และธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับเรื่องสิทธิมนุษยชน
6. CBAM หรือมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป ซึ่งมาตรการนี้มีการปรับราคาสินค้านำเข้าบางประเภท เพื่อป้องกันการนำเข้าสินค้าที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงเข้ามาในกลุ่มประเทศสมาชิก EU และปกป้องธุรกิจภายในกลุ่มประเทศสมาชิก EU ที่ต้องแบกภาระต้นทุนการผลิตสูงขึ้นเพราะต้องปฏิบัติตามมาตรการ European Green Deal เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ทำให้การแข่งขันเป็นธรรม เมื่อเทียบกับสินค้านำเข้าจากประเทศที่ 3 นอก EU ที่ราคาสินค้าถูกกว่าเพราะการผลิตไม่มีต้นทุนการลดก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์
ด้านข้อมูลจากสภาเศรษฐกิจโลก (WEF) ชี้ว่า นโยบายสนับสนุนของรัฐบาล ส่งผลให้ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าพุ่งสูงขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยในปี 2015 คิดเป็นเพียง 1% ของยอดขายรถยนต์ใหม่ทั่วโลก ตัวเลขล่าสุดแสดงให้เห็นว่าในปี 2023 มียอดขายรถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลก 14 ล้านคัน คิดเป็นประมาณ 18% ของยอดขายใหม่ คาดการณ์ว่าภายในปี 2040 จะมีรถยนต์ไฟฟ้าสำหรับผู้โดยสารประมาณ 240 ล้านคันบนท้องถนน
ท่ามกลางความพยายามเพื่อบรรลุเป้าหมายเน็ตซีโร่ ซึ่งต้องก้าวข้ามความขัดแย้งทางการค้าที่มีเดิมพันด้านความอยู่รอดของประชาชนและเศรษฐกิจในแต่ละประเทศ ซึ่งความขัดแย้งที่เกิดขึ้นไม่ควรขัดขวางการเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ที่ว่าด้วยความยั่งยืน