‘เบิร์กเชียร์’ ขายหุ้นแอปเปิ้ลใน Q3 ตุนเงินสดเพิ่มเป็น 3.25 แสนล้านดอลลาร์
วอร์เรน บัฟเฟตต์ เจ้าของบริษัทเบิร์กเชียร์ แฮธาเวย์ ยังคงขายหุ้นในไตรมาส 3 โดยขายหุ้นแอปเปิ้ลเพิ่ม ทำให้มีเงินสดเพิ่มขึ้นมากเป็นประวัติการณ์ที่ระดับ 3.252 แสนล้านดอลลาร์
ในรายงานรายไตรมาสของเบิร์กเชียร์ แฮธาเวย์ (Berkshire Hathaway) เมื่อวันเสาร์ (2 ต.ค.) ระบุว่า เบิร์กเชียร์ขายหุ้นแอปเปิ้ล 100 ล้านหุ้น ในช่วงฤดูร้อนที่ผ่านมา หรือราว 25% ของหุ้นแอปเปิ้ลที่มีอยู่ ทำให้เหลือหุ้นแอปเปิ้ล 300 ล้านหุ้น นั่นหมายความว่าในปี 2567 นี้ เบิร์กเชียร์ขายหุ้นผู้ผลิตไอโฟนออกไปมากกว่า 600 ล้านหุ้น แต่แอปเปิ้ลยังคงเป็นหุ้นที่บริษัทถือมากที่สุด โดยมีมูลค่าอยู่ที่ 6.99 หมื่นล้านดอลลาร์
การขายหุ้นดังกล่าว ทำให้บริษัทมีเงินสดเพิ่มขึ้นมากเป็นประวัติการณ์ที่ระดับ 3.252 แสนล้านดอลลาร์
โดยรวมแล้วบริษัทขายหุ้นไปราว 3.61 หมื่นล้านดอลลาร์ รวมถึงหุ้นของธนาคารแห่งอเมริกาหลายพันล้านดอลลาร์ และซื้อหุ้นราว 1.5 พันล้านดอลลาร์ จึงทำให้ไตรมาสสามเป็นไตรมาสที่ 8 ติดต่อกันที่เบิร์กเชียร์ขายหุ้นมากกว่าซื้อ
นอกจากนี้ เบิร์กเชียร์ยังไม่ได้ซื้อหุ้นคืนเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ไตรมาส 2 ปี 2561 และไม่ได้ซื้อหุ้นคืนในข่วงสามสัปดาห์แรกของเดือนต.ค.
เคธี ซีเฟิร์ต นักวิเคราะห์จากซีเอฟอาร์เอ รีเสิร์ช ในนิวยอร์ก บอกว่า เบิร์กเชียร์เป็นตัวอย่างของเศรษฐกิจโดยรวมขนาดย่อม
การกักตุนเงินสดของเบิร์กเชียร์แสดงให้เห็นถึงแนวคิดหลีกเลี่ยงความเสี่ยง และนักลงทุนอาจกังวลว่าแนวทางนี้จะมีผลต่อเศรษฐกิจและตลาดอย่างไร
รอยเตอร์ส ระบุ หุ้น Class A ของเบิร์กเชียร์พุ่งสูงขึ้น 25% ในปีนี้ ขณะที่ ดัชนี Standard & Poor's 500 พุ่งขึ้น 20%
มูลค่าที่เพิ่มขึ้นทำให้นักลงทุนบางคนกังวลว่าหุ้นจำนวนมากอาจราคามีราคาแพงเกินไป
ทั้งนี้ เงินสดที่เบิร์กเชียร์ถือครองเพิ่มขึ้นจาก 2.769 แสนล้านดอลลาร์ ณ สิ้นเดือน มิ.ย. และมากกว่า 10 เท่าของเงินสำรอง 30,000 ล้านดอลลร์ที่ วอร์เรน บัฟเฟตต์ เคยให้คำมั่นที่จะคงไว้ และบัฟเฟตยังไม่ได้เข้าซื้อบริษัทใหญ่ ๆ นับตั้งแต่ปี 2559
จิม ชานาฮาน นักวิเคราะห์จากเอ็กเวิร์ด โจนส์ ในเซนต์หลุยส์ บอกว่า การตุนเงินสดเพิ่มขึ้นทำให้เกิดคำถามว่า บัฟเฟตต์ว่าหุ้นได้รับการประเมินค่าที่สูงเกินไป หรือเศรษฐกิจกำลังถดถอย หรือพยายามเพิ่มเงินสดเพื่อเข้าซื้อกิจการครั้งใหญ่
เมื่อเดือน พ.ค. บัฟเฟตต์เผยว่า ตนคาดว่าจะยังคงให้หุ้นแอเปิ้ลเป็นการลงทุนก้อนใหญ่ที่สุดของเบิร์กเชียร์ แต่การขายหุ้นก็ดูมีเหตุผล เพราะอัตราภาษี 21% ที่เรียกเก็บจากกำไรของรัฐบาลกลางอาจปรับเพิ่มสูงขึ้น
กำไรจากการดำเนินงานลดลง
ตามข้อมูลจาก LSEG IBES ระบุว่า กำไรจากการดำเนินงานรายไตรมาสของเบิร์กเชียร์ลดลง 6% สู่ระดับ 1.009 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือราว 7,019 ดอลลาร์ต่อหุ้น Class A ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ 7,611 ดอลลาร์ต่อหุ้น
กำไรที่ลดลงส่วนใหญ่มาจากการขาดทุนจากการรับประกันภัยกรมธรรม์ประกันภัยเก่า การเรียกร้องสินไหมทดแทนที่เกี่ยวข้องกับพายุเฮอริเคนเฮเลนเมื่อเดือน .ย. และการขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนจากเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น
แต่การขาดทุนดังกล่าวชดเชยด้วยผลกำไรในธุรกิจประกันภัยรถยนต์ Geico ที่มีการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากอุบัติเหตุน้อยลง มีกำไรจากบริษัทรถไฟ BNSF ที่ขนส่งสินค้าอุปโภคบริโภคได้มากขึ้น และ Berkshire Hathaway Energy มีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานลดลง
ซีเฟิร์ต บอกว่า เบิร์กเชียร์ได้รับประโยชน์จากการกระจายความเสี่ยงมานานแล้ว แต่ไตรมาสนี้กลับมีจุดอ่อนเกิดขึ้นในหลายด้าน รวมทั้งรายได้ที่ลดลง 19% ของธุรกิจเครือข่ายปั๊มน้ำมัน Pilot เนื่องจากราคาเชื้อเพลิงและปริมาณตลาดลดลง และเบิร์กเชียร์บอกด้วยว่า ธุรกิจค้าปลีกเกือบทั้งหมด รวมถึงตัวแทนจำหน่ายรถยนต์มากกว่า 80 แห่ง ประสบกับรายได้ลดลง
ทั้งนี้ รายได้สุทธิไตรมาสล่าสุดอยู่ที่ 2.625 หมื่นล้านดอลลาร์ ขณะที่ปีก่อนขาดทุน 1.277 หมื่นล้านดอลลาร์ สะท้อนให้เห็นกำไรและการขาดทุนที่ยังไม่เกิดขึ้นจริงจากการลงทุนหุ้น เช่น หุ้นแอปเปิ้ล สิ่งนั้นเพิ่มความผันผวนให้กับผลประกอบการ ซึ่งบัฟเฟตต์ขอให้นักลงทุนไม่ต้องสนใจ และให้ความสำคัญกับผลประกอบการจากการดำเนินงานแทน
พายุทำสูญกำไร
รอยเตอร์ส เผยว่า กำไรจากธุรกิจประกันภัยของเบิร์กเชียร์ลดลง 69% โดยได้รับผลกระทบจากการขาดทุนจากกรมธรรม์ 565 ล้านดอลลาร์จากพายุเฮเลน และมาจากการชำระหนี้ล้มละลายของซัพพลายเออร์ทัลค์ที่เลิกกิจการไปแล้ว ซึ่งผลขาดทุนดังกล่าวมากกว่ากำไรจากบริษัทประกัน Geico ที่เพิ่มขึ้น 93%
ชานาฮาน มองการขาดทุนจากกรมธรรม์ว่าเป็นเรื่องที่เซอร์ไพรส์มาก ขณะที่ซีเฟิร์ตบอกว่า บริษัทอื่น ๆ ในเครือเบิร์กเชียร์ได้แก้ไขปัญหาที่คล้ายกันนี้แล้ว
ทั้งนี้ เบิร์กเชียร์คาดว่า ไตรมาส 4 อาจขาดทุน (ก่อนหักภาษี) 1.3-1.5 พันล้านดอลลาร์ จาก ประกันภัยพายุ เฮอริเคน มิลตัน ที่ถล่มฟลอริดาเมื่อเดือนต.ค.
ส่วนรายได้จากการลงทุนธุรกิจประกันภัยของเบิร์กเชียร์ที่ครองสัดส่วนเงินสดของบริษัทจำนวนมาก เพิ่มขึ้น 48% สู่ระดับ 3.66 พันล้านดอลลาร์ แต่อาจลดลงได้หากธนาคารกลางสหรัฐยังคงปรับลดอัตราดอกเบี้ยต่อไป หรือบัฟเฟตต์พบว่ามีอะไรที่คุ้มค่าแก่การซื้อ
ด้านทอม รุสโซ ผู้บริหาร Gardner Russo & Quinn ที่ลงทุนในเบิร์กเชียร์ตั้งแต่ปี 2525 บอกว่า บัฟเฟตต์ต้องการลงทุนทุกเพนนีในธุรกิจที่ให้ข้อได้เปรียบกับเบิร์กเชียร์เท่าที่เขาสามารถทำได้ แต่ขณะเดียวกันเขาก็เต็มใจที่จะไม่ทำอะไรเลย
อ้างอิง: Reuters