ใครชนะไม่สน ‘อาเซียน’ ขอเดินสายกลาง มุ่งขยายการค้ากับทุกฝ่ายทั่วโลก

ใครชนะไม่สน ‘อาเซียน’ ขอเดินสายกลาง มุ่งขยายการค้ากับทุกฝ่ายทั่วโลก

นักวิเคราะห์เผย 'อาเซียน' มีแนวโน้มจะเป็นผู้ชนะมากที่สุดในการค้าโลกช่วงทศวรรษหน้า แม้จะมีการเผชิญหน้าระหว่างสหรัฐกับจีนหนักขึ้นก็ตาม คาดมูลค่าการค้าของอาเซียนกับต่างประเทศจะเพิ่มขึ้น 1.2 ล้านล้านดอลลาร์ตั้งแต่ปี 2565 - 2575 นำโดยการค้ากับ 'จีน'

เว็บไซต์นิกเกอิเอเชียรายงานว่า ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน กำลังมุ่งหน้าขยายการค้ากับทั่วโลกอย่างรวดเร็วโดยยึดหลัก “ความเป็นกลางทางการทูต” และการเข้าไปมีส่วนร่วมกับเขตเศรษฐกิจต่างๆ ที่มีความขัดแย้งกันในประเด็นทางการเมืองหรือเศรษฐกิจอยู่ ทำให้คาดว่าการค้าระหว่างประเทศของอาเซียนจะขยายตัวขึ้นอีก 1.2 ล้านล้านดอลลาร์ (ราว 40 ล้านล้านบาท) ตั้งแต่ปี 2565 - 2575 ซึ่งจะถือเป็นอัตราการขยายตัวที่สูงที่สุดในระดับโลก

“มาเลเซีย” เป็นหนึ่งในตัวอย่างของประเทศที่กำลังเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับทั้งโลกตะวันตกและประเทศต่างๆ เช่น จีนและรัสเซีย โดยในเดือนส.ค. นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย อันวาร์ อิบราฮิม เข้าร่วมพิธีเปิดโรงงานแห่งใหม่ในมาเลเซียของบริษัทอินฟินิออน เทคโนโลยีส์ (Infineon Technologies) ซึ่งเป็นผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์ชื่อดังของเยอรมนี และเพียง 1-2 เดือนก่อนหน้านั้น เขาเพิ่งประชุมทวิภาคีกับนายกรัฐมนตรีหลี่ เฉียง ของจีน และเซอร์เก ลาฟรอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซีย เพื่อหารือถึงการสมัครเข้าเป็นสมาชิกกลุ่มประเทศบิกส์ (BRICS)

“วันนี้ผมขอเสนอประเทศของเราในฐานะจุดหมายที่เป็นกลางและไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดมากที่สุด” อันวาร์กล่าวถึงกลยุทธ์การลงทุนของประเทศในงานแสดงสินค้าเซมิคอน เซาต์อีสต์ เอเชีย 2024 ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ เมื่อเดือนพ.ค. ที่ผ่านมา

ทาเคชิ โคโนมิ จากบริษัทที่ปรึกษาบอสตัน คอนซิลติง กรุ๊ป กล่าวว่า “เอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีแนวโน้มที่จะเป็นผู้ชนะมากที่สุดในการค้าโลกตลอดช่วงทศวรรษหน้า แม้ว่าจะมีการเผชิญหน้ากันมากขึ้นระหว่างสหรัฐกับจีนก็ตาม” โดยคาดการณ์ว่ามูลค่าการค้าของอาเซียนกับต่างประเทศจะเพิ่มขึ้น 1.2 ล้านล้านดอลลาร์ตั้งแต่ปี 2565 - 2575 นำโดยการค้ากับ “จีน” ที่คาดว่าจะมีมูลค่าถึง 6.16 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งขับเคลื่อนโดยการผนวกรวมภูมิภาคนี้เข้ากับห่วงโซ่อุปทานของจีน

ขณะที่ “ประเทศไทย” เพิ่งเปิดบ้านต้อนรับการลงทุนของบริษัทรถยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่ที่สุดของจีน “บีวายดี” (BYD) ที่เข้ามาเปิดโรงงานผลิตใน จ.ระยอง เมื่อเดือน ก.ค. โดยโรงงานแห่งนี้มีกำลังการผลิต 150,000 หน่วยต่อปี นำเข้าส่วนประกอบสำคัญจากจีน และบีวายดีวางแผนที่จะให้โรงงานแห่งนี้เป็นฐานส่งออกหลักในภูมิภาค

รายงานระบุว่า บรรดาบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่จากสหรัฐยังคงแสดงความสนใจอย่างมากทีจะลงทุนในอาเซียน ขณะที่มาเลเซียซึ่งมีโรงงานของบริษัทอินเทล (Intel) และบริษัทอเมริกันรายอื่นๆ อยู่แล้ว ได้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้ส่งออกชิปรายใหญ่ไปยังสหรัฐ ขณะที่บริษัทผู้ผลิตจากญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และยุโรปต่างเข้าร่วมด้วยการเข้ามาตั้งฐานการผลิตและขยายการค้าในภูมิภาคนี้ ขณะเดียวกันก็ “ลดการพึ่งพาจีนลง” โดยเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์การลดความเสี่ยงจากการเผชิญหน้ากันระหว่างจีนกับสหรัฐ

ใครชนะไม่สน ‘อาเซียน’ ขอเดินสายกลาง มุ่งขยายการค้ากับทุกฝ่ายทั่วโลก

ข้อจำกัดทางการค้าของรัฐบาลในอาเซียนที่ผ่อนปรนลง ยังดึงดูดบริษัทต่างชาติให้เข้ามาหลบความตึงเครียดทางการค้าที่รุนแรงขึ้นระหว่างสหรัฐกับจีน โดยในเดือนก.ย. รัฐบาลสหรัฐภายใต้การนำของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ได้ขึ้นภาษีนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ของจีนเป็นสี่เท่าเป็น 100% และก่อให้เกิดปฏิกิริยาตอบโต้จากจีนอย่างรุนแรง

จากข้อมูลของสถาบันปีเตอร์สันเพื่อเศรษฐกิจระหว่างประเทศ พบว่า ณ เดือนเม.ย. 2566 ภาษีนำเข้าเฉลี่ยของสหรัฐสำหรับสินค้าจีนอยู่ที่ 19.3% ซึ่งเพิ่มขึ้น 6.2 เท่า นับตั้งแต่ต้นปี 2561 และในช่วงเวลาเดียวกัน ภาษีนำเข้าเฉลี่ยของจีนต่อสินค้านำเข้าจากสหรัฐเพิ่มขึ้นเป็น 21.1% หรือเพิ่มขึ้น 2.6 เท่า

นับตั้งแต่ปี 2563ประเทศต่างๆ ได้บังคับใช้ข้อจำกัดและการแทรกแซงทางการค้าและการลงทุนไปแล้วมากถึง 5,600 รายการโดยเฉลี่ย ซึ่งเพิ่มขึ้น 80% เมื่อเทียบกับช่วงทศวรรษ 2010 ตามข้อมูลของหน่วยงานคลังสมองในยุโรป โกลบอล เทรด อเลิร์ท

หากย้อนกลับไปในปี 2551 สหรัฐได้บังคับใช้ข้อจำกัดและการแทรกแซงรวม 10,200 รายการ ในขณะที่จีนได้บังคับใช้ 7,800 รายการ รวมกันคิดเป็น 30% ของทั้งหมด ในขณะที่อาเซียนใช้ไปเพียงประมาณ 2,100 รายการเท่านั้นในช่วงเวลาดังกล่าว

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) คาดการณ์ว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ที่แท้จริงของอาเซียนจะเติบโตเฉลี่ยที่ 4.6% ต่อปี ตั้งแต่ปี 2568 - 2572 เมื่อเทียบกับจีดีพีเฉลี่ของโลกที่ 3.2%

อย่างไรก็ดี ใช่ว่าแนวทางของอาเซียนที่เข้าได้หมดกับทุกฝ่ายนั้นจะไม่มีความเสี่ยงเลย เพราะด้วยข้อจำกัดทางการค้าที่ต่ำ ภูมิภาคนี้จึง“ดึงดูดการนำเข้าสินค้าราคาถูกจากจีนเข้ามา”

ในขณะที่ดีมานด์ในประเทศจีนอ่อนแรงลง ผู้ผลิตสินค้าจิปาถะ เหล็ก ผ้าใยสังเคราะห์ และผลิตภัณฑ์อื่นๆ ของจีนก็เริ่มการ “ส่งออกเงินฝืด” โดยระบายสินค้าล้นสต็อกไปยังต่างประเทศแทน ส่งผลให้การขาดดุลการค้าของอาเซียนกับจีน ซึ่งคำนวณจากค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ 12 เดือน พุ่งทะยานขึ้นแตะ 1.05 หมื่นล้านดอลลาร์ในเดือนมิ.ย. หรืองเพิ่มขึ้นถึง 40 เท่าจากเดือนเดียวกันเมื่อ 20 ปีก่อน

ในประเทศไทยมีกระแสการเรียกร้องตามโซเชียลมีเดียให้แบนเว็บไซต์ช้อปปิ้งสินค้าราคาถูกของจีนอย่าง เทมู (Temu) หลังจากที่เปิดตัวในเดือนก.ค. โดยหลายคนโต้แย้งว่าแพลตฟอร์มดังกล่าวจะไม่เป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของประเทศ

รายงานระบุว่อาเซียนขยายการค้าระหว่างประเทศโดยใช้ประโยชน์จากความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก แต่การพึ่งพาการค้าระหว่างประเทศอย่างมากอาจส่งผลเสียได้หากการแข่งขันระดับโลกทวีความรุนแรงขึ้น ขณะที่ข้อพิพาทเรื่องดินแดนระหว่างฟิลิปปินส์และจีนในทะเลจีนใต้ก็กำลังทวีความรุนแรงขึ้นเช่นกัน อาเซียนจึงต้องดำเนินการอย่างระมัดระวังในการรักษาสมดุลเพื่อเดินหน้าในกระแสความวุ่นวายนี้