เปิดเหตุผล ‘สหรัฐ’ โลกเสรี ทำไมไม่เคยมี 'ประธานาธิบดีหญิง'

เปิดเหตุผล ‘สหรัฐ’ โลกเสรี ทำไมไม่เคยมี 'ประธานาธิบดีหญิง'

เผยเหตุผล ทำไม "สหรัฐ" ประเทศที่ขึ้นชื่อว่าเป็น "โลกเสรี" ไม่เคยมี "ประธานาธิบดีหญิง" พบ 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่ ข้อเสียเปรียบเชิงโครงสร้าง สื่อ และทัศนคติของชาวอเมริกันที่มีต่อนักการเมืองหญิง

ผลการเลือกตั้งสหรัฐ 2567 บ่งชี้ทิศทางที่ค่อนข้างชัดเจนแล้วว่าอดีตประธานาธิบดี "โดนัลด์ ทรัมป์" ชนะรองประธานาธิบดี "คามาลา แฮร์ริส" ในการเลือกตั้งวันที่ 5 พ.ย.67 จ่อขึ้นเป็นประธานาธิบดีสหรัฐคนที่ 47 และตอกย้ำอีกครั้งว่า "ผู้หญิงยังคงไม่มีโอกาสขึ้นเป็นประธานาธิบดีในประเทศมหาอำนาจโลกแห่งนี้ได้" หลังจากที่เคยมีบทเรียนมาแล้วกับ "ฮิลลารี คลินตัน" ในการเลือกตั้งปี 2559

แล้วมีปัจจัยใดบ้างที่ทำให้ผู้หญิงขึ้นมาดำรงตำแหน่งทางการเมืองระดับสูงสุดได้ยาก เว็บไซต์เซนเตอร์ฟอร์โพลิติกวิเคราะห์ว่ามี 3 สาเหตุสำคัญที่เป็นอุปสรรคต่อผู้หญิง ได้แก่ 1.ข้อเสียเปรียบเชิงโครงสร้างทางการเมือง 2.สื่อ และ 3.ความคิดเห็นและอคติของสาธารณชน

ข้อเสียเปรียบเชิงโครงสร้าง

แม้พรรคการเมือง และกลุ่มต่างๆ มีการจ้างงาน และฝึกอบรมผู้หญิงเพื่อเข้ารับตำแหน่งทางการเมืองมากขึ้น แต่ยังมีสิ่งที่ต้องดำเนินการอีกมาก

ผลการศึกษาโดยเจนนิเฟอร์ ลอว์เลส และริชาร์ด ฟ็อกซ์ พบว่า ผู้ชาย 2 ใน 3 มีโอกาสได้รับการสนับสนุนให้ลงสมัครทางการเมืองจากเจ้าหน้าที่ ที่ได้รับเลือกตั้ง จากหัวหน้าพรรคการเมือง หรือนักเคลื่อนไหวมากกว่าผู้หญิง ส่วนการได้รับคำขอให้ลงสมัครหรือได้รับการสนับสนุนลงสมัครตำแหน่งทางการเมือง เป็นปัจจัยที่สำคัญต่อผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย

อีกปัจจัยที่ผู้หญิงทำลายกำแพงขวางกั้นโอกาสได้ยาก โดยเฉพาะตำแหน่งประธานาธิบดีคือ อัตราการดำรงตำแหน่ง และการคงอยู่ในตำแหน่ง

โดยปกติแล้วผู้ชายจะมีอิทธิพลเหนือวงการ การเมือง จึงมีข้อได้เปรียบจากการดำรงตำแหน่งทางการเมือง เมื่อลงสมัคร และได้รับชัยชนะ จะยิ่งทำให้เสียง และผลประโยชน์ใหม่ๆ เข้าสู่วงการการเมืองได้ยาก และผู้หญิงที่ลงสมัครตำแหน่งทางการเมืองเพิ่งมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นในช่วง 50 ปีที่ผ่านมานี้เอง

นอกจากนี้ ผู้หญิงยังเผชิญความท้าทายคล้ายๆ กันในการก้าวเข้าสู่อุตสาหกรรมที่ปรึกษาทางการเมืองด้วย ซึ่งนิตยสารโพลิทิโค อธิบายไว้เมื่อปี 2561 ว่า อุตสาหกรรมดังกล่าวเป็น "เพดานกระจก" (glass ceiling) หรืออุปสรรคที่มองไม่เห็นที่แข็งแกร่งที่สุดในแวดวงการเมือง

'สื่อ' ชงข่าวเชิงลบ

ผู้สมัครหญิงมักเผชิญอุปสรรคในชีวิตประจำวันอย่างต่อเนื่องจากการนำเสนอข่าวของสื่อ อย่างการนำเสนอข่าวที่มีการแบ่งแยกทางเพศ และเชื้อชาติ

ย้อนไปในสมัยที่รองประธานาธิบดีคามาลา แฮร์ริส ประกาศชิงแคนดิเดตประธานาธิบดีกับโจ ไบเดนภายในพรรคเดโมแครตในการเลือกตั้งปี 2563 สื่อ 61% มักเอ่ยถึงเรื่องเพศของแฮร์ริสในการแข่งขัน ขณะที่ในปี 2559 มีสื่อเอ่ยถึงเรื่องเพศของผู้สมัครชิงรองประธานาธิบดี ทิม เคน หรือไมค์ เพนซ์ เพียง 5% เท่านั้น

นอกจากนี้การรายงานข่าวเกี่ยวกับแคนดิเดตหญิงยังทำให้ภาพลักษณ์ของนักการเมืองหญิงดูอ่อนแอ ขาดความเด็ดขาด และอ่อนไหวง่าย ขณะที่การวิเคราะห์รายงานข่าวเกี่ยวกับแคนดิเดตผู้หญิงที่ลงชิงประธานาธิบดีเมื่อปี 2563 หรือฮิลลารี คลินตัน บ่งชี้ว่า สื่อส่วนใหญ่มองว่าผู้สมัครหญิงหยาบคาย ดุ ไม่เป็นมิตร หรือน่ารำคาญ

ผู้หญิงไม่ได้เจออุปสรรคจากสื่อเพียงอย่างเดียว ผลการศึกษาหลายแห่งพบว่า ผู้หญิง และแคนดิเดตหรือนักการเมืองที่เป็นชนกลุ่มน้อยคนอื่นๆ ก็เผชิญกับการถูกละเมิดเช่นกัน อาทิ การคุกคาม และการโจมตีทางโลกออนไลน์มากกว่าผู้ชาย และหากเป็นแคนดิเดตผิวสีจะยิ่งถูกกระทำมากกว่าสองเท่า

ทัศนคติของผู้คนก็มีผล

ผลสำรวจเมื่อปี 2561 ที่ถามผู้คนถึงเหตุผลสำคัญที่ผู้หญิงไม่ได้รับการเสนอให้ดำรงตำแหน่งการเมืองระดับสูง ผู้ตอบแบบสอบถามที่เป็นผู้หญิงราว 57% บอกว่า เป็นเพราะประชาชนไม่พร้อมเลือกผู้หญิง ซึ่งสูงกว่าผู้หญิงที่คิดแบบนี้ในปี 2557 ที่ระดับ 41%

ส่วนผลสำรวจจากอิปซอสในปี 2562 ที่สอบถามเกี่ยวกับการเลือกแคนดิเดตหญิง ผู้ตอบแบบสอบถามที่สนับสนุนพรรคเดโมแครต และผู้ที่ไม่สนับสนุนพรรคใดราว 74% เผยว่า ตนรับได้ที่ผู้หญิงจะเป็นประธานาธิบดี แต่เชื่อว่าผู้สนับสนุนรีพับลิกันอาจยอมรับได้น้อยกว่า ซึ่งผลสำรวจพบว่าคนที่สนับสนุนรีพับลิกันยอมรับได้เพียง 33%

นอกจากนี้ เซนเตอร์ฟอร์โพลิติก ระบุว่า ผู้หญิงมักต้องเจอสถานการณ์กลืนไม่เข้าคายไม่ออก และต้องทำงานหนักขึ้นเมื่อต้องคำนึงว่าผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะมองพวกเธออย่างไร ผู้หญิงต้องมีคุณสมบัติน่าดึงดูด มีความสามารถ แต่ก็ต้องดูเป็นคนอบอุ่น ต้องรักษาสมดุลระหว่างลักษณะนิสัยแบบผู้ชาย และแบบผู้หญิง ขณะที่แคนดิเดตผู้ชายไม่ต้องเผชิญกับมาตรฐานใดๆ

สักวันสหรัฐจะมีประธานาธิบดีหญิง

ด้านผู้เชี่ยวชาญทางการเมืองจากมหาวิทยาลัยเวอร์จิเนียเชื่อว่า "ไม่ช้าก็เร็ว ผู้หญิงจะได้รับเลือกเป็น ประธานาธิบดีสหรัฐ แต่ยังไม่ใช่ตอนนี้"

เจนนิเฟอร์ ลอว์เลส ศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์จากสถาบัน Leone Reaves and George W. Spicer และอาจารย์ด้านนโยบายสาธารณะ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเวอร์จิเนียบอกว่า “ขึ้นอยู่กับว่าผู้หญิงลงแข่งขันในช่วงเวลาที่เหมาะสมหรือเปล่า”

ลอว์เลส บอกว่า การต่อต้านทางวัฒนธรรมต่อผู้หญิงในทำเนียบขาวลดน้อยลงในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา เนื่องจากมีผู้หญิงชนะเลือกตั้งระดับท้องถิ่น ระดับรัฐ และในสภาคองเกรสมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญบางคนมองว่า ระบบผู้ชนะได้คะแนนทั้งหมด (winner-take-all system) ในการเลือกตั้งสหรัฐจำกัดโอกาสของแคนดิเดตในการขึ้นเป็นผู้นำ ขณะที่ในหลายประเทศที่มีการเลือกตั้งผู้สมัครทางตรง ที่ให้หัวหน้าพรรคที่ชนะการเลือกตั้งในสภาได้เป็นผู้นำประเทศนั้น เป็นระบบที่เปิดโอกาสให้มีนายกรัฐมนตรีหญิงมากกว่า

บาร์บารา เอ. เพอร์รี ศาสตราจารย์จาก Gerald L. Baliles และผู้อำนวยการ Miller Center of Public Affairs ของ ม.เวอร์จิเนีย บอกว่า

“ถ้าเรามีระบบแบบนั้น แนนซี เพโลซี จะได้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิง เห็นได้ชัดว่าเธอสามารถเป็นหัวหน้าพรรคได้”

แต่เพอร์รี บอกว่า เป็นเรื่องยากที่ผู้หญิงจะแสดงภาพลักษณ์ตามที่สาธารณชนคาดหวัง ซึ่งภาพลักษณ์ ประธานาธิบดีที่ประชาชนคาดหวังมักเป็นภาพผู้นำที่แข็งแกร่งเหมือนทหารหรือเป็นทหาร เช่น ผู้นำอย่าง ยูลิสซิส เอส. แกรนท์, ดไวต์ ดี. ไอเซนฮาวร์, จอห์น เอฟ. เคนเนดี้ และจอร์จ ดับเบิลยู บุช ส่วนประธานาธิบดีคนอื่นๆ มีภาพลักษณ์ความแข็งแกร่งอยู่แล้ว หรือมีความเชี่ยวชาญด้านธุรกิจ

“อย่างอินทิรา คานธี อดีตนายกฯ หญิงอินเดีย และโกลดา เมอีร์ อดีตนายกฯ หญิงอิสราเอล ก็เป็นแบบนั้น เป็นสตรีเหล็กเหมือนมาร์กาเรต แทตเชอร์ แต่ไม่แน่ใจว่าภาพลักษณ์สตรีเหล็กจะมีอิทธิพลในอเมริกา เพราะเมื่อฮิลลารีมีท่าทีเข้มแข็ง ผู้คนกลับไม่ชอบเธอ” เพอร์รี กล่าว

“มันจะเกิดขึ้นสักวันหนึ่ง ฉันไม่คิดว่ามันจะเกิดขึ้นเร็วๆ นี้ เว้นแต่ว่าประธานาธิบดีที่มีรองประธานาธิบดีหญิง จะเสียชีวิตในขณะดำรงตำแหน่ง หรือถูกให้ออกจากตำแหน่ง" เพอร์รี ย้ำ และเสริมว่า "ผู้หญิงต้องหาบุคลิกให้ตรงกับที่ผู้คนคาดหวังในตัวประธานาธิบดี เรายังไม่มีบุคคลต้นแบบแบบนั้น เพราะยังไม่มีผู้หญิงคนไหนเคยเป็นประธานาธิบดี" เพอร์รี กล่าว

 

อ้างอิง: Center For Politics, UVAToday

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์