‘จีน' งานหนัก ‘ทรัมป์’ คัมแบ็ก สงครามการค้าแรงขึ้นกว่า 8 ปีก่อน

‘จีน' งานหนัก ‘ทรัมป์’ คัมแบ็ก  สงครามการค้าแรงขึ้นกว่า 8 ปีก่อน

‘ทรัมป์’ หวนคืนทำเนียบขาว รีแมตช์สงครามการค้าแรงขึ้นกว่า 8 ปีก่อน 'จีน' เจองานหนัก หวั่นกำแพงภาษี 200% กดจีดีพีหดตัว 2.5%

“โดนัล ทรัมป์” เตรียมเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐสมัยที่ 2 หลังจากคว้าชัยชนะในการเลือกตั้ง ทำให้ “จีน” ต้องเตรียมรับมือกับความไม่แน่นอนและความตึงเครียดที่กำลังปะทุขึ้นอีกครั้ง ทั้งในด้านการค้า เทคโนโลยี และไต้หวัน โดยนักลงทุนกังวลว่าสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐในยุค "ทรัมป์ 2.0" จะยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นและส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจจีนอย่างรุนแรง

จีนจะได้รับผลกระทบชัดเจนที่สุดหากทรัมป์ยังคงยึดมั่นต่อนโยบายหาเสียงเรื่อง “การขึ้นภาษีศุลกากร” ในการเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนทั้งหมดที่ส่งไปยังสหรัฐสูงถึง 60% และเคยขู่ว่าจะเรียกเก็บภาษีที่สูงขึ้นอีกคือ 150-200% หากจีนรุกรานไต้หวัน

แม้ว่าจีนจะอยู่ท่ามกลางความตึงเครียดของสงครามการค้ามาอย่างยาวนานตั้งแต่รัฐบาลของทรัมป์สมัยแรกในปี 2560-2564 แต่อัตราภาษีใหม่สูงกว่าอัตราภาษีที่จีนเรียกเก็บในช่วงแรกที่อยู่ในระดับ 7.5%-25% เท่านั้น ซึ่งจะยิ่งซ้ำเติมเศรษฐกิจจีนที่กำลังเปราะบางเมื่อเทียบกับยุคทรัมป์ 1.0 เป็นอย่างมาก

'เศรษฐกิจจีน' อ่อนแอกว่า 8 ปีก่อน 

ในปี 2561 ตลาดอสังหาริมทรัพย์จีนยังคงแข็งแกร่ง และเป็น 1 ใน 4 อุตสาหกรรมสำคัญที่เป็นแรงขับเคลื่อนของเศรษฐกิจ สิ่งนี้ช่วยให้จีนดูดซับแรงกระแทกจากภาษีศุลกากร แต่นับตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นมา อสังหาริมทรัพย์ตกต่ำอย่างรุนแรงและรายได้ของรัฐบาลท้องถิ่นก็ลดลงอย่างมาก ทำให้หนี้ของรัฐบาลท้องถิ่นพุ่งสูงขึ้น

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) คำนวณว่า ณ สิ้นปี 2566 หนี้สินของภาครัฐทั้งหมดรวมกับหนี้ครัวเรือนและหนี้ภาคธุรกิจแล้ว มีมูลค่าเกิน 350 ล้านล้านหยวน ทำให้ธนาคารยูบีเอสคาดการณ์ว่าอาจทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนลดลงถึง 2.5%

จู เป่าเหลียง อดีตหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของสำนักงานวางแผนเศรษฐกิจของจีนเตือนว่า หากทรัมป์ขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน 60% การส่งออกของจีนอาจลดลงถึง 2 แสนล้านดอลลาร์ ส่งผลให้จีดีพีของจีนหดตัวลง 1%

บลูมเบิร์กรายงานว่า ในปีที่ผ่านมาจีนส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐสูงถึง 5 แสนล้านดอลลาร์ คิดเป็นประมาณ 15% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด หากสหรัฐตัดสินใจขึ้นภาษีศุลกากร ยอดส่งออกของจีนจะลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตและการจ้างงานในประเทศจีนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นอกจากนี้บริษัทจีนที่พึ่งพาตลาดสหรัฐเป็นหลักจะต้องเผชิญกับความท้าทายในการปรับตัวและหาตลาดใหม่

จับตา 'ประชุมสภา' กระตุ้นเศรษฐกิจ

เพื่อรับมือกับความท้าทายทางเศรษฐกิจที่เพิ่มสูงขึ้น รัฐบาลจีนได้เร่งดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยคาดว่าจะมีการอนุมัติมาตรการเพิ่มเติมในการประชุมสภาที่จะสิ้นสุดในวันที่ 8 พ.ย. นี้

เยว่ ซู นักเศรษฐศาสตร์จากอีโคโนมิสต์ อินเทลลิเจนท์ ยูนิต มองว่ารัฐบาลจีนอาจเพิ่มมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อรับมือกับนโยบายของทรัมป์ โดยคาดหวังมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจะมีมูลค่ามากกว่า 10 ล้านล้านหยวน โดยประมาณ 6 ล้านล้านหยวนจะนำไปใช้ในการจัดการหนี้แอบแฝงนอกงบดุลของรัฐบาลท้องถิ่น และอีกกว่า 4 ล้านล้านหยวนใช้ในการซื้อพันธบัตรพิเศษของรัฐบาลท้องถิ่นเพื่อสนับสนุนด้านอสังหาริมทรัพย์

'ทรัมป์' บีบจีนเจรจาการค้า

หากย้อนไปในช่วงการดำรงตำแหน่งสมัยแรกของทรัมป์ ได้ใช้มาตรการกดดันทางการค้ากับจีนผ่านการกำหนดภาษีนำเข้าสินค้าจีนมูลค่ากว่า 3.6 แสนล้านดอลลาร์ ส่งผลให้จีนต้องเข้าสู่การเจรจาการค้า จนนำไปสู่การลงนามในข้อตกลงการค้าในปี 2563 โดยจีนได้ให้คำมั่น 2 ประการสำคัญ คือ การปรับปรุงการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา และการเพิ่มการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐมูลค่า 2 แสนล้านดอลลาร์

เฮนรี เกา ศาสตราจารย์ด้านกฎหมายการค้าระหว่างประเทศจากมหาวิทยาลัยการจัดการสิงคโปร์มองว่า ภาษีศุลกากรอาจเป็นแรงกดดันให้จีนกลับมาสู่วิธีการเจรจา เนื่องจากเศรษฐกิจจีนกำลังอ่อนแอลง

“ภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันจะผลักดันให้ทุกฝ่ายเปิดใจพูดคุยกันมากขึ้น แม้ภาษีศุลกากรอาจส่งผลกระทบระยะสั้น แต่การบรรลุข้อตกลงจะช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้นในระยะยาว”

สำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงานว่า ไม่ว่าจะมีภาษีศุลกากรหรือไม่ จีนยังคงเป็นมหาอำนาจในการส่งออกไปยังทั่วโลก โดยฟรองซัวส์ หวงนักเศรษฐศาสตร์จากอลิอันซ์ เทรดได้เปิดเผยว่า แม้จะมีความตึงเครียดทางการค้ากับสหรัฐ แต่การส่งออกของจีนยังคงแข็งแกร่ง โดยมีการปรับเปลี่ยนจุดหมายปลายทางการส่งออก จากสหรัฐที่เคยเป็นตลาดส่งออกหลักของจีน ได้ลดสัดส่วนการรับซื้อสินค้าจากจีนลงเหลือต่ำกว่า 15% ในปี 2566 เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยเกือบ 18% ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

“แม้ว่าจีนจะสูญเสียส่วนแบ่งทางการตลาดในสหรัฐ แต่เห็นได้ชัดว่าจีนได้รับส่วนแบ่งเพิ่มขึ้นในตลาดอื่นๆ ตัวอย่างเช่น ปัจจุบัน จีนคิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 25% ของการนำเข้าสินค้าจากอาเซียน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากตัวเลขเพียง 18% ในช่วงปี 2553”


อีกปัจจัยหนึ่งที่อาจส่งผลต่อการเจรจาการค้าคือ การที่ทรัมป์กล่าวว่าจะสามารถยุติสงครามในยูเครนได้อย่างรวดเร็ว แต่ยังไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดแผนการใดๆ ซึ่งอาจมีความเป็นไปได้ว่าทรัมป์อาจขอความช่วยเหลือจากประธานาธิบดีสี จิ้นผิง

หวัง ฮุยเหยา ผู้ก่อตั้งศูนย์วิจัยเพื่อจีนและโลกาภิวัตน์ในกรุงปักกิ่ง ได้วิเคราะห์ว่าความสัมพันธ์ระหว่างทรัมป์กับจีนในอดีตที่ผ่านมาอาจเกิดขึ้นอีกครั้ง ก่อนหน้านี้ ทรัมป์เคยขอความช่วยเหลือจากสี จิ้นผิง ในการเจรจากกับคิม จองอึนผู้นำเกาหลีเหนือ โดยทรัมป์อาจพยายามสร้างสมดุลระหว่างการเจรจาประเด็นด้านการค้ากับการขอความร่วมมือจากจีนในการแก้ไขวิกฤตการณ์ระดับโลก

“เนื่องจากจีนเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของทั้งรัสเซียและยูเครน จึงมีศักยภาพที่จะเป็นตัวกลางสำคัญในการสร้างสันติภาพ”

กฎหมาย CHIPS 

ทั้งประธานาธิบดีทรัมป์และไบเดนต่างให้ความสำคัญกับการจำกัดอิทธิพลของบริษัทเทคโนโลยีจีน ด้วยเหตุผลด้านความมั่นคงแห่งชาติ โดยเริ่มต้นจากทรัมป์ ด้วยการโจมตีบริษัทขนาดใหญ่ เช่น หัวเหว่ย ถัดมาประธานาธิบดี “โจ ไบเดน” ก็ได้ขยายนโยบายไปสู่การควบคุมการส่งออกเซมิคอนดักเตอร์ขั้นสูง เพื่อสกัดกั้นการพัฒนาเทคโนโลยีสำคัญของจีนอย่าง เอไอ

ความขัดแย้งทางนโยบายด้านเทคโนโลยีได้ปรากฏชัดขึ้น เมื่อทรัมป์ได้แสดงจุดยืนคัดค้าน CHIPS and Science Act ซึ่งเป็นกฎหมายที่ได้รับการสนับสนุนจากทั้งสองพรรคในสมัยของไบเดน โดยกฎหมายนี้ได้จัดสรรงบประมาณมหาศาลถึง 53,000 ล้านดอลลาร์ เพื่อสนับสนุนการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ภายในประเทศสหรัฐ ทั้งนี้ ปัจจุบันไต้หวันครองส่วนแบ่งการผลิตชิปเทคโนโลยีขั้นสูงเกือบ 90% ของอุปทานทั่วโลก

ชิโฮโกะ โกโตะ ผู้อำนวยการโครงการอินโด-แปซิฟิกของวิลสันเซนเตอร์ได้วิเคราะห์ว่า TSMC ผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์รายใหญ่ที่สุดของไต้หวัน ได้ขยายฐานการผลิตไปยังรัฐแอริโซนาในสหรัฐ ด้วยเหตุผล 2 ประการ คือ เพื่อตอบสนองต่อแรงจูงใจจากกฎหมาย CHIPS  และเพื่อเตรียมรับมือกับนโยบายกีดกันทางการค้าที่อาจเกิดขึ้นในสหรัฐ

อย่างไรก็ดี ซีเอ็นบีซีรายงานว่ามีความเป็นไปได้ว่าทรัมป์ ไม่น่าจะยกเลิกกฎหมาย CHIPS แต่จะทำการแก้ไขบางส่วนในการบังคับใช้เท่านั้น