หมดยุคตำรวจโลก: อ่าน 'ระเบียบโลกใหม่' ภายใต้การดำรงตำแหน่งของ 'ทรัมป์'

หมดยุคตำรวจโลก: อ่าน 'ระเบียบโลกใหม่' ภายใต้การดำรงตำแหน่งของ 'ทรัมป์'

นักวิชาการรัฐศาสตร์ชี้ ทรัมป์เตรียมปรับนโยบายต่างประเทศครั้งใหญ่ ถอนตัวจากข้อตกลงระหว่างประเทศ ลดบทบาทการเป็นตำรวจโลก หันมาเน้นผลประโยชน์ชาติเป็นหลัก เน้นเจรจาตัวต่อตัว ส่งสัญญาณชัดเจนถึงการเปลี่ยนแปลงระเบียบโลกครั้งสำคัญ

หลังจากการชนะเลือกตั้งของอดีตประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ทั้งโลกต่างตระหนักถึงความเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับ “ระเบียบโลกแบบเดิม” ที่กำลังถูกท้าทาย  ศ.ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองสหรัฐและอาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรมหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์กับ “กรุงเทพธุรกิจ” ในประเด็นดังกล่าวว่า

แม้ว่าในขณะนี้ยังไม่สามารถคาดการณ์ได้อย่างชัดเจนถึงทิศทางการเมืองระหว่างประเทศภายใต้การนำของโดนัลด์ ทรัมป์ เนื่องจากต้องรอการเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการในวันที่ 20 ม.ค. 2568 แต่จากการวิเคราะห์แนวโน้มที่ผ่านมา ระเบียบโลก (World Order) แบบเดิมกำลังถูกท้าทาย โดยเฉพาะในด้านความสัมพันธ์ระหว่างพันธมิตรเก่าและการสร้างความสัมพันธ์กับประเทศที่เคยเป็นคู่ขัดแย้ง

เหลียวมองระเบียบโลกเก่า

หากย้อนกลับไปมองระเบียบโลกเก่าที่เกิดขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ศ.ดร.สิริพรรณ กล่าวว่า เป็นระเบียบโลกแบบที่สหรัฐอเมริกาวางตัวเป็นผู้นำของโลกเสรีและพันธมิตรในยุโรปตะวันตก นำไปสู่การก่อตั้งองค์กรระหว่างประเทศจำนวนมากเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดสงครามขึ้นอีก แต่ภายใต้การนำของทรัมป์ สถานการณ์กำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญ

ที่ผ่านมา ทรัมป์ส่งสัญญาณชัดเจนถึงการเปลี่ยนแปลงนโยบายต่างประเทศ โดยเฉพาะการประกาศกับสมาชิกองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต้) ว่า สหรัฐจะไม่รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการป้องกันประเทศสมาชิกเหมือนที่ผ่านมา แม้ว่าสหรัฐ จะยังคงความเป็นมหาอำนาจทางการทหารและมีมูลค่าทางเศรษฐกิจมากกว่าครึ่งหนึ่งของสหภาพยุโรป (อียู) รวมกัน ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงนโยบาย "America First" อย่างชัดเจน

ที่น่าสนใจคือ ทรัมป์แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์อันดีกับผู้นำประเทศที่ไม่ว่ากันว่าได้เป็นประชาธิปไตย อาทิ วลาดิมีร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย สี จิ้นผิง ผู้นำจีน คิม จองอึน ผู้นำเกาหลีเหนือ และวิคเตอร์ ออร์บัน ผู้นำฮังการี นอกจากนี้ การถอนตัวจากสนธิสัญญาปารีส (Paris Agreement) และองค์การอนามัยโลก (WHO) ในปี 2016 ยิ่งตอกย้ำว่า อเมริกาภายใต้ทรัมป์จะให้ความสำคัญกับผลประโยชน์ของชาติเป็นหลัก โดยจะลดบทบาทในเวทีโลกหากไม่ได้ผลประโยชน์โดยตรง

ดำเนินนโยบายการทูตแบบ 'นักธุรกิจ'

ทั้งนี้ รูปแบบการเจรจาระหว่างประเทศก็จะเปลี่ยนไป โดยทรัมป์จะเน้นการเจรจาแบบทวิภาคี (Bilateral) หรือกลุ่มเล็กๆ มากกว่าการเจรจาแบบพหุภาคี (Multilateral) เช่น การแยกเจรจากับแต่ละประเทศในอาเซียนแทนการเจรจากับอาเซียนทั้งกลุ่ม หรือการจัดตั้งกลุ่มความร่วมมือขนาดเล็กอย่าง QUAD (อเมริกา ออสเตรเลีย อินเดีย ญี่ปุ่น) และ AUKUS (ออสเตรเลีย สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา) ซึ่งเกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้สักระยะหนึ่งแล้ว

“ภายใต้ทรัมป์สิ่งที่เราน่าจะเห็นในแง่ของการค้า การทูต และการทหาร เขาจะเน้นทวิภาคีคือการเจรจาแบบตัวต่อตัวเพราะว่ามันเจรจาง่าย เขาอาจจะไม่มองภาพเป็นการเจรจากับอาเซียนทั้งหมด แต่จะมองว่าอินโดนีเซียมีอะไรให้เขา ฟิลิปินส์มีอะไร สิงคโปร์มีอะไร แล้วก็คุยกันตัวต่อตัว หรืออย่างมากก็เป็นไตรภาคี หรือการคุยเป็นกลุ่มเล็กๆ” ศ.ดร.สิริพรรณกล่าว

ที่สำคัญการดำเนินนโยบายต่างประเทศของทรัมป์จะขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ส่วนตัวกับผู้นำประเทศนั้นๆ มากกว่าความสัมพันธ์เชิงสถาบัน ซึ่งอาจนำไปสู่ความไม่แน่นอนในนโยบายต่างประเทศ เนื่องจากไม่มีทิศทางที่ชัดเจนและขึ้นอยู่กับผลประโยชน์เฉพาะหน้าเป็นสำคัญ การเปลี่ยนแปลงนี้จะส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อระเบียบโลกและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในอนาคตอันใกล้

อนาคตกลุ่ม BRICS ภายใต้ทรัมป์

ศ.ดร.สิริพรรณกล่าว กล่าวถึงการมีอยู่ของกลุ่มความร่วมมือ BRICS (บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้) ว่า ยังมีอยู่แน่นอน เพราะกลุ่มดังกล่าวมีจุดประสงค์เพื่อคานอํานาจสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีความทะเยอทะยานในการสร้างสกุลเงินของกลุ่มตัวเองอย่างมาก เพราะเขามองว่าถ้าดอลลาร์ยังเป็นสกุลเงินกลางอยู่ความสําคัญของสหรัฐอเมริกาก็ยังคงอยู่ แม้จะยังมีความเป็นไปได้จริงน้อย

อย่างไรก็ตาม ภายใต้ทรัมป์ซึ่งมีความสัมพันธ์อันดีกับปูติน ดังนั้นทั้งโลกอาจจะเห็นความความสัมพันธ์ที่ไม่ได้เป็นในเชิงศัตรูหรือเป็นขั้วตรงข้ามกันอย่างสิ้นเชิงก็เป็นได้ แม้ปัจจุบันจะยังบอกอะไรชัดเจนไม่ได้ ทว่าทรัมป์ก็คงไม่ได้มีปัญหากับ BRICS มากเท่ากับรัฐบาลจากพรรคเดโมแครต