‘ไทย’ จ่อเสียแชมป์เบอร์ 3 ตลาดรถอาเซียน หนี้เสียกดดันยอดขายร่วง 28%

‘ไทย’ จ่อเสียแชมป์เบอร์ 3 ตลาดรถอาเซียน หนี้เสียกดดันยอดขายร่วง 28%

สื่อเผยยอดขายรถยนต์ไตรมาส 3 ในไทยร่วงหนักสุดในกลุ่ม 5 ตลาดรถยนต์ในอาเซียน เสี่ยงเสียแชมป์ตลาดใหญ่สุดอันดับ 3 ในภูมิภาคให้ ‘ฟิลิปปินส์’ หลังเพิ่งถูก ‘มาเลเซีย’ แซงไปหมาดๆ ในปีที่แล้ว

สำนักข่าวนิกเกอิเอเชียรายงานว่า ยอดขายรถยนต์ในไตรมาส 3 ของ “ประเทศไทย” ปรับตัวลดลงอย่างหนักถึง 28% เมื่อเทียบปีต่อปี โดยลดลงมากที่สุดในกลุ่ม 5 ประเทศในอาเซียน ส่งผลให้ไทยเสี่ยงที่จะถูก “ฟิลิปปินส์” แซงหน้าขึ้นเป็นตลาดรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 3 ในภูมิภาค

บรรดานักวิเคราะห์ระบุว่าตลาดรถยนต์ของไทยที่ตกต่ำลง ซึ่งลดลง 28% ต่อปี หรือลดลง 9.5% เมื่อเทียบรายไตรมาสนั้น เป็นผลมาจาก “ปัญหาหนี้ครัวเรือน” ที่สูงมาอย่างยาวนานของประเทศไทย ซึ่งส่งผลให้สินเชื่อรถยนต์ในประเทศได้รับผลกระทบตามไปด้วย

เว็บไซต์นิกเกอิเอเชียได้รวบรวมข้อมูลยอดขายเดือน ก.ค.-ก.ย. จากกลุ่มอุตสาหกรรมรถยนต์ใน 5 ประเทศอาเซียน ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ไทย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม พบว่า ยอดขายรถยนต์รวมใน 5 ตลาดนี้อยู่ที่ประมาณ 763,000 คัน หรือลดลง 7% จากปีก่อน

สิ่งที่น่าสนใจก็คือ “โมเมนตัมขาลงของประเทศไทย” กับยอดขายรถยนต์ที่ชะลอตัวลงต่อเนื่องในปีนี้ สวนทางกับทุกประเทศที่แม้จะมีช่วงชะลอตัวตัวลง แต่ก็ฟื้นตัวกลับมาได้ในไตรมาส 1 หรือไตรมาส 2

ในขณะที่ยอดขายของ “ฟิลิปปินส์” ซึ่งเป็นตลาดรถยนต์ใหญ่สุดอันดับ 4 ในภูมิภาค ก็กำลังไล่บี้ขยับขึ้นมาติดๆ ทำให้ยอดขายระหว่างไทยกับฟิลิปปินส์ในไตรมาส 3 ปีนี้ ห่างกันแค่เพียง 12,604 คันเท่านั้น จากเดิมที่เคยห่างกันมากถึง 113,111 คัน เมื่อสองปีก่อน

ตลาดรถยนต์ของไทยที่ชะลอตัวลงนี้สามารถอธิบายได้ผ่าน “หนี้ครัวเรือน” ในประเทศที่พุ่งสูงถึง 89.6% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ในไตรมาสสองปีนี้ จากข้อมูลของบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ โดยตัวเลขหนี้เสีย (NPL) เดือนก.ค. พุ่งขึ้นไปแตะระดับ 1.19 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 22% ของหนี้เสียในอุตสาหกรรมรถยนต์ ส่งผลให้ธนาคารต่างๆ ต้องระมัดระวังมากขึ้นในการพิจารณาปล่อยสินเชื่อรถยนต์แก่ผู้ซื้อรถ

"รถผมอายุ 7 ปีแล้ว แต่จะใช้ต่อไปเพราะไม่กล้าก่อหนี้ใหม่ในช่วงที่เศรษฐกิจยังไม่ค่อยดี” พัชร อรรถชัย พนักงานออฟฟิศวัย 32 ปีกล่าวกับสื่อญี่ปุ่น

‘ไทย’ จ่อเสียแชมป์เบอร์ 3 ตลาดรถอาเซียน หนี้เสียกดดันยอดขายร่วง 28%

สุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ โฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) ระบุว่า ความไม่แน่นอนในการเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) เป็นสาเหตุที่ทำให้ยอดขายรถยนต์รวมลดลง ที่ผ่านมา รัฐบาลไทยได้ส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้าอย่างแข็งขันด้วยโครงการอุดหนุนต่างๆ ซึ่งดึงดูดผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าจากจีน 7 รายให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทย

"แม้ว่า (ผู้ผลิตอีวีจีน) จะยังไม่ได้ผลิตเต็มกำลังการผลิต แต่ขณะนี้เราเห็นว่ารถยนต์ไฟฟ้ามีอุปทานล้นตลาดในไทย” โฆษก สอท.กล่าว พร้อมเสริมว่าอุปทานที่ล้นตลาดในช่วงที่อำนาจซื้ออ่อนแอได้จุดชนวนให้เกิดสงครามราคา โดยผู้ผลิตรถอีวีได้ลดราคาเพื่อดึงดูดผู้ซื้อ ทำให้ผู้บริโภคชาวไทยหลายคนเลื่อนการซื้อออกไปเนื่องจากคาดการณ์ว่าราคาจะลดลงอีกในอนาคต

ตลาดอาเซียนดีขึ้น-แย่น้อยกว่าไทย

ตลาดรถยนต์ “ฟิลิปปินส์” คึกคักขึ้นโดยมียอดขายเพิ่มขึ้น 5% ในไตรมาส 3 เมื่อเทียบเป็นรายปี แม้ว่าจะชะลอตัวลง 11% เมื่อเทียบไตรมาสก่อนหน้าก็ตาม แต่ผู้สังเกตการณ์กล่าวว่าความเชื่อมั่นของผู้บริโภคอาจดีขึ้นหลังจากที่ “ธนาคารกลางฟิลิปปินส์” ลดอัตราดอกเบี้ยในเดือนส.ค. ขณะที่เงินโอนเข้าจากชาวฟิลิปปินส์ในต่างประเทศยังคงแข็งแกร่ง โดยได้รับแรงหนุนจากค่าเงินเปโซที่อ่อนค่า

ทางด้านตลาดรถยนต์ใน “เวียดนาม” นั้นเติบโตได้อย่างคึกคักที่สุดโดยมียอดขายเพิ่มขึ้น 25% ในไตรมาส 3 ซึ่งเป็นผลมาจากการตัดสินใจของรัฐบาลที่ลดค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนลง 50% สำหรับรถยนต์ที่ผลิตและประกอบในประเทศ ซึ่งเป็นนโยบายที่กำหนดให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่เดือน ก.ย.-พ.ย. 2567 ส่งผลให้ยอดขายรถยนต์ของเวียดนามพุ่งขึ้นถึง 45% ในเดือนก.ย.

‘ไทย’ จ่อเสียแชมป์เบอร์ 3 ตลาดรถอาเซียน หนี้เสียกดดันยอดขายร่วง 28%

ส่วนใน “อินโดนีเซีย” ซึ่งเป็นตลาดรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียนนั้น ข้อมูลจากสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์อินโดนีเซีย (Gaikindo) เปิดเผยว่า ยอดขายรถยนต์ในไตรมาสที่ 3 ลดลง 10.4% เมื่อเทียบปีก่อน

แอนตัน จิมมี ซูวันดี ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดของโตโยต้า แอสตร้า มอเตอร์ เปิดเผยกับนิกเคอิเอเชียว่า มีหลายปัจจัยที่อยู่เบื้องหลังการชะลอตัวในอินโดนีเซีย รวมถึง “ภาวะเศรษฐกิจโลกที่ไม่มั่นคง การเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ แรงกดดันด้านเงินเฟ้อ และความกังวลทางการเมืองในประเทศ ซึ่งส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคด้วย”

ด้านอีร์เรซา ผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธ์และการดำเนินงานข้อตกลงของ PwC อินโดนีเซีย เปิดเผยว่า “ผลกระทบต่อตลาดที่เกิดจากการลดอัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มจะเห็นชัดขึ้นได้ในปี 2568 โดยรวมแล้วปริมาณการขายรถยนต์ใหม่ในปี 2024 จะยังคงลดลง 10-12% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า”

ขณะที่ “มาเลเซีย” ซึ่งเป็นตลาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ในอาเซียน มียอดขายลดลงเล็กน้อย 1% ในไตรมาสที่ 3 เมื่อเทียบเป็นรายปี เศรษฐกิจภายในประเทศของมาเลเซียยังคงเติบโตได้ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และเทคโนโลยี และการบริโภคส่วนบุคคลก็เติบโตอย่างต่อเนื่องเช่นกัน อย่างไรก็ตาม รัฐบาลมีแผนที่จะยุติการอุดหนุนราคาน้ำมันเบนซินภายในสิ้นปีนี้ ซึ่งบางคนเชื่อว่าอาจส่งผลกระทบต่อยอดขายรถยนต์

แหล่งข่าวในอุตสาหกรรมของมาเลเซียระบุว่า “รถยนต์ไฮบริด” กำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นในประเทศ และ Haval H6 ซึ่งเป็นรถของค่ายเกรท วอลล์ มอเตอร์จากจีนที่เริ่มผลิตในประเทศเมื่อเดือนก.ย. อาจเป็นคู่แข่งของแบรนด์ญี่ปุ่นที่กำลังครองตลาดรถยนต์ไฮบริดในปัจจุบัน