‘Zest Thailand’ เปิดโอกาสสตาร์ตอัป ร่วมพาร์ตเนอร์ 'บิ๊กคอร์ปไทย-ญี่ปุ่น’
"Zest Thailand" เป็นงานส่งเสริมความร่วมมือทางธุรกิจระหว่างไทยและญี่ปุ่น รวมถึงชาติอื่น ๆ ในอาเซียน โดยจะเปิดโอกาสให้บรรดาธุรกิจขนาดเล็กหรือสตาร์ตอัป ได้ร่วมเป็นพาร์ตเนอร์กับบิ๊กคอร์ป ผ่านการแข่งขันนำเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาความท้าทายของบริษัทรายใหญ่
ขณะนี้โลกอยู่ในยุคที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ ท่ามกลางการแข่งขันที่ดุเดือดมากขึ้นในทุกอุตสาหกรรม ซึ่ง “ญี่ปุ่น” หนึ่งในประเทศที่มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีมากที่สุดในโลกก็พยายามพัฒนาธุรกิจด้วยนวัตกรรมใหม่อยู่เสมอ
ญี่ปุ่นเป็นพันธมิตรที่สำคัญของไทยมายาวนาน เห็นได้จากความร่วมมือระหว่างกันในหลายด้าน โดยเฉพาะด้านการค้าและการลงทุนในอุตสาหกรรมเทคโนโลยี ซึ่งที่ผ่านมาเรามักเห็นบริษัทเทคฯยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่นมาลงทุนในไทยหรือทำธุรกิจร่วมกับบริษัทขนาดใหญ่ในไทยเป็นส่วนใหญ่ แต่ปัจจุบันธุรกิจสตาร์ตอัปก็เป็นอีกฟันเฟืองสำคัญในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีที่มีศักยภาพไม่แพ้กัน
องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น สำนักงานกรุงเทพฯ (เจโทร กรุงเทพฯ) ได้จัดงานเปิดตัว Zest Thailand/Thailand Japan Fast Track Pitch Event 2025 เมื่อวันจันทร์ (18 พ.ย.) ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนไทย-ญี่ปุ่น อาทิ กระทรวงพลังงาน คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ของไทย กระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรม (เมติ) ประเทศญี่ปุ่น สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่น ประจำประเทศไทย และหอการค้าญี่ปุ่นในประเทศไทย เป็นต้น เพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางธุรกิจระหว่างญี่ปุ่นและไทยมากขึ้น
Zest Thailand เปิดโอกาสให้ธุรกิจนวัตกรรมทั้งญี่ปุ่นและไทย ได้ร่วมเป็นพาร์ตเนอร์กับบริษัทขนาดใหญ่ โดยบริษัทรายใหญ่จะนำเสนอความท้าทายที่ธุรกิจกำลังเผชิญ เพื่อเป็นโจทย์ให้บรรดาธุรกิจขนาดเล็กหรือสตาร์ตอัปนำเสนอแนวคิดหรือวิธีแก้ไขปัญหาความท้าทายดังกล่าว
ยาสุจิ โคมิยามะ รองอธิบดีสำนักนโยบายการค้าและความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ กระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรมญี่ปุ่น กล่าวถึงที่มาของงานว่า งานนี้จัดขึ้นภายใต้โครงการ ASEAN-Japan Co-Creation Fast Track Initiative ซึ่งเป็นกรอบการดำเนินงานเพื่อส่งเสริมความร่วมมือสำหรับองค์กรขนาดใหญ่และธุรกิจสตาร์ตอัป และตนเชื่อว่าการขยายความร่วมมือด้านเทคโนโลยีจากญี่ปุ่นและไทยสู่อาเซียน จะช่วยเสริมสร้างการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ
ด้านสุทธิเกตติ์ ทัดพิทักษ์กุล รองเลขาธิการบีโอไอ มองว่า งานนี้เป็นการวางรากฐานความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างสองประเทศให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น และเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม และเชื่อมั่นว่า งานนี้จะนำไปสู่ความร่วมมือและโอกาสใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อสตาร์ตอัปทั้งไทยและญี่ปุ่นมากขึ้น และบีโอไอพร้อมให้การสนับสนุนในทุกทาง
ขณะที่คุโรดะ จุน ประธานเจโทร กล่าวว่า ภารกิจเจโทรคือการสนับสนุนธุรกิจญี่ปุ่นขยายกิจการในไทย และสนับสนุนความร่วมมือระหว่างบริษัทไทยและญี่ปุ่นโดยเฉพาะบริษัทเทคโนโลยีที่มุ่งมั่นลดการปล่อยคาร์บอน ผ่านการจัดงานต่างๆ และประสบความสำเร็จในการจับคู่ธุรกิจไทยและสตาร์ตอัปญี่ปุ่นผ่านการจัดทำแคตตาล๊อกธุรกิจสีเขียวเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา
ประธานเจโทรย้ำ หน่วยงานจะให้การสนับสนุนกิจกรรมเหล่านี้ต่อไป และหวังว่างาน Zest Thailand จะหนุนให้เกิดความร่วมมือใหม่ๆ มากขึ้น
ทั้งนี้ บริษัทรายใหญ่ทั้งไทยและญี่ปุ่นที่เข้าร่วมนำเสนอประเด็นความท้าทายมี 6 บริษัท ได้แก่ สวนอุตสาหกรรมโรจนะ, สยามซีเมนต์ กรุ๊ป, เอสซีจีซี (SCGC), ไทยเซอิ คอร์ปอเรชัน, โตชิบา และ Weathernews
ธุรกิจไทยต้องการเทคฯสีเขียว
ธุรกิจไทยที่ร่วมนำเสนอประเด็นความท้าทายมี 3 บริษัท อาทิ
1.สวนอุตสาหกรรมโรจนะ ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ประเภทโครงการเขต/สวนอุตสาหกรรม พร้อมบริการโครงสร้างพื้นฐานที่ครอบคลุม เช่น ไฟฟ้าและน้ำ ได้นำเสนอความท้าทาย 3 ประการ ได้แก่
-การเพิ่มผลผลิตให้บริษัทในพื้นที่ผ่านระบบดิจิทัลและระบบอัตโนมัติ เช่น ระบบวิเคราะห์พฤติกรรม หรือหุ่นยนต์ช่วยเหลือต่างๆ
-การเพิ่มเทคฯช่วยลดการปล่อยคาร์บอนในพื้นที่อุตสาหกรรมมากขึ้น
-การเพิ่มธุรกิจใหม่เพื่อแก้ไขปัญหาทางสังคม เช่น ธุรกิจดูแลสุขภาพ การเกษตร และการศึกษา
2.สยามซีเมนต์ กรุ๊ป (SCG) ธุรกิจผลิตและจำหน่ายสินค้าเพื่ออุตสาหกรรมการก่อสร้าง มีความท้าทาย 3 ประการ ได้แก่
-การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อลดหรือชดเชยการปล่อยคาร์บอนในการผลิตปูนซีเมนต์หรือคอนกรีต
-การใช้วัสดุสีเขียวและวัสดุล้ำสมัยที่สามารถใช้แทนปูนซีเมนต์คลิงเกอร์ในในการผลิตปูนซีเมนต์
-การใช้ปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) หรือระบบดิจิทัล ปรับปรุงประสิทธิภาพผลผลิตให้ผลิตรวดเร็วและลดต้นทุน พัฒนากระบวนการผลิต และการบำรุงรักษาโรงงาน
3.เอสซีจีซี (SCGC) ธุรกิจพัฒนานวัตกรรมเคมีภัณฑ์ครบวงจร มีความท้าทาย 3 ประการที่ต้องการพาร์ตเนอร์ร่วมแก้ไขปัญหา ได้แก่
-การรีไซเคิลวัสดุและการนำวัสดุกลับมาใช้ใหม่ เช่น การรีไซเคิลพลาสติก แบตเตอรี่ และแผงโซลาร์เซลล์
-การลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ จัดเก็บคาร์บอน และเปลี่ยนคาร์บอนเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่า
-การจัดการประสิทธิภาพการใช้พลังงานของธุรกิจ
ธุรกิจญี่ปุ่นเน้นพัฒนาในตลาดไทย
ธุรกิจญี่ปุ่นที่ร่วมนำเสนอปัญหาความท้าทายมี 3 บริษัท ได้แก่
1.ไทยเซอิ คอร์ปอเรชัน (TAISEI CORPORATION) บริษัทรับเหมาก่อสร้างยักษ์ใหญ่ที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม มีความท้าทายในธุรกิจคือ การสร้างอาคารใช้พลังงานเป็นศูนย์ (Zero Energy Buildings) ในประเทศไทย โดยใช้โซลูชัน GX ที่เป็นนวัตกรรมผสมผสานเทคโนโลยีด้านสิ่งแวดล้อมกับเทคฯดิจิทัลเพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยจะโฟกัสไปที่การสร้างอาคารสำนักงานขนาดใหญ่ โรงงาน และดาต้าเซนเตอร์
ดังนั้นบริษัทจึงต้องการเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับ GX โซลูชัน ที่เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของอาคารใช้พลังงานเป็นศูนย์
2.โตชิบา ธุรกิจผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าที่คนไทยคุ้นเคยกันดี แต่ปัจจุบันธุรกิจได้นำเสนอโซลูชันด้าน Internet of Things (IoT)เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้การผลิตให้ธุรกิจในไทย หรือที่เรียกว่า "Factory IoT Platform" และเตรียมเปิดตัว “ifLink” แพลตฟอร์ม IoT ที่จะช่วยเชื่อมต่ออุปกรณ์ IoT เข้ากับบริการออนไลน์ได้หลากหลายช่องทาง
ifLink จึงต้องการธุรกิจที่ช่วยหนุนโตชิบาบรรลุการเปลี่ยนผ่านระบบดิจิทัลในไทย ซึ่งต้องเป็นบริษัทที่เข้าใจความต้องการใช้ระบบ IoT ของลูกค้าเพื่อปรับปรุงการทำงาน เป็นบริษัทเทคโนโลยีเซ็นเซอร์ หรือเทคโนโลยีที่คล้ายกัน และบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญในการนำข้อมูลที่รวบรวมผ่านระบบ IoT มาใช้ร่วมกับเอไอ
3.Weathernews ธุรกิจบริการข้อมูลการพยากรณ์อากาศที่มีความแม่นยำสูง มีเป้าหมายหนุนให้บริษัทในไทยรับมือความท้าทายด้านการเปลี่ยนแปลงดิจิทัลของข้อมูลสภาพอากาศที่หลากหลาย นอกเหนือจากบริษัทสายการบินและธุรกิจขนส่ง เช่น การวิเคราะห์ความสัมพันธ์ของยอดขายรายวันในซูเปอร์มาเก็ตกับสภาพอากาศ
ดังนั้น Weathernews จึงต้องการร่วมมือกับบริษัทที่ให้บริการ พัฒนา สร้างหรือจำหน่ายโซลูชันทางธุรกิจเพื่อปรับปรุงผลิตภัณฑ์และบริการในด้านต่าง ๆ เช่น การเกษตร การพัฒนาบุคลากร การเพิ่มยอดขายธุรกิจ
ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป Zest Thailand เปิดให้สตาร์ตอัปสมัครเข้าร่วมโครงการและส่งข้อเสนอหรือแนวทางแก้ไขปัญหาแก่ธุรกิจข้างต้นได้จนถึงวันที่ 22 ธ.ค. จากนั้นคณะกรรมการจะคัดเลือกธุรกิจและข้อเสนอที่น่าสนใจให้กับบริษัทรายใหญ่ และจะประกาศวันแข่งขันนำเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาและวันตัดสินในภายหลัง สามารถติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คลิก
ทั้งนี้ นอกจากไทยแล้ว งานดังกล่าวยังจัดขึ้นที่ประเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย เช่น เวียดนาม อินโดนีเซีย และสิงคโปร์ ซึ่งงานเมื่อปีก่อนมีสตาร์ตอัปร่วมสมัครราว 110 แห่ง ส่วนใหญ่มาจากประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่น รองลงมาเป็นสิงคโปร์และเวียดนาม