‘เจโทร’ ยกทัพสตาร์ตอัปร่วม Techsauce หนุนธุรกิจไทยยั่งยืนด้วย ‘เทคฯญี่ปุ่น’
"เจโทร" ยกทัพสตาร์ตอัปร่วมงาน Techsauce Global Summit 2024 ปีนี้มาพร้อมกับธุรกิจเทคฯรักษ์โลกมากมาย ที่พร้อมตอบสนองความต้องการตลาดไทยที่มีศักยภาพในการพัฒนาอีกมาก
กลับมาอีกครั้งกับงาน Techsauce Global Summit 2024 งานประชุมด้านเทคโนโลยีที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวบรวมบรรดาบิ๊กเทคและสตาร์ตอัปจากทั่วสารทิศไว้ด้วยกัน เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองและหาพาร์ตเนอร์ด้านเทคโนโลยีแบบเอ็กซ์คลูซีฟ
องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร กรุงเทพฯ) ไม่พลาดส่งทัพธุรกิจสตาร์ตอัปเทคโนโลยีเข้าร่วมงาน 10 บริษัท ระหว่างวันที่ 7-9 ส.ค. เพื่อต่อยอดและขยายธุรกิจในประเทศไทยที่ใครๆ ก็มองว่ามีศักยภาพในการพัฒนาอีกมาก และปีนี้ธุรกิจส่วนใหญ่ล้วนเสนอเทคโนโลยีที่ช่วยส่งเสริมความยั่งยืน
ทำธุรกิจต้องคำนวณคาร์บอน
หนึ่งในบริษัทที่ประสบความสำเร็จอย่างมากหลังจากเข้าร่วมงานเทคซอสเมื่อปีก่อนคือ ซีโร่บอร์ด (Zeroboard) สตาร์ตอัปให้บริการซอฟต์แวร์คำนวณคาร์บอน คาดการณ์และช่วยแนะนำเกี่ยวกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในห่วงโซ่อุปทานของธุรกิจ
ปัจจุบันมีบริษัทมากกว่า 8,000 แห่งที่ใช้ระบบของซีโร่บอร์ด และธุรกิจไทยร่วมเป็นพาร์ตเนอร์แล้วราว 30 ราย โดยเฉพาะบริษัทขนาดใหญ่ จนสตาร์ตอัปญี่ปุ่นต้องเข้ามาตั้งสำนักงานใหญ่ในไทยเมื่อปีก่อน เพราะเห็นศักยภาพของไทย และมองว่าไทยอาจหนุนให้บริษัทขยายธุรกิจไปยังประเทศอื่น ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้
ซีโร่บอร์ดเผยด้วยว่าปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ธุรกิจไทยสนใจระบบคำนวณคาร์บอน เพราะรัฐบาลไทยและองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) มีเป้าหมายและผลักดันการลดก๊าซเรือนกระจกในภาคธุรกิจอย่างแข็งขัน
ของไม่ใช้เราขอ
อีกหนึ่งธุรกิจสตาร์ตอัปรักษ์โลกที่ได้รับความนิยมจากนักธุรกิจไทยและต่างชาติอย่างล้นหลาม คือ อีคอมมิต (Ecommit) สตาร์ตอัปขายส่งสินค้าใช้แล้วคุณภาพดี ให้กับธุรกิจอื่น ๆ ทั่วโลก
งานของอีคอมมิต คือ นำถังใส่ของใช้แล้วไปวางตามจุดต่าง ๆ ในเมือง เช่น ห้างสรรพสินค้า ออฟฟิศ คอนโด และมหาวิทยาลัย เพื่อให้ผู้คนนำของใช้แล้วสภาพดี มาทิ้งในถังคัดแยกของอีคอมมิต ซึ่งมีถังหลายประเภท อาทิ เสื้อผ้า รองเท้า เครื่องครัว ของเล่น อุปกรณ์กีฬา เป็นต้น
สิ่งของเหล่านั้นจะนำไปยังศูนย์คัดแยกของบริษัท และหากพบว่ามีสภาพดีมาก หรือเรียกว่าของเกรด S ธุรกิจจะนำไปจำหน่ายให้กับพันธมิตรที่รับซื้อสินค้าใช้แล้วต่อไป หากของชิ้นใดไม่สามารถนำไปจำหน่ายได้ ธุรกิจจะนำไปรีไซเคิลหรือส่งต่อไปยังภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
นอกจากจะช่วยสนับสนุนภาคประชาชนบริจาคของ และช่วยให้ของที่ยังมีค่าได้นำไปใช้ต่อ อีคอมมิตยังเป็นภาคส่วนหนึ่งที่ช่วยธุรกิจลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้จากการรีไซเคิล และการส่งต่อสิ่งของ เพื่อหลีกเลี่ยงการกำจัดขยะที่ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ห้องประชุมรักษ์โลก
สตาร์ตอัปอย่างพิกซี ดัสต์ เทคโนโลยีส์ (Pixie Dust Technologies) ก็เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม โดยบริษัทได้พัฒนา iwasemiRC-α แผงดูดซับเสียงที่สร้างด้วยเทคโนโลยีเมตาแมทีเรียล (metamaterial)
แผงดูดซับเสียงนี้มีลักษณะเป็นกล่องสี่เหลี่ยมหลายขนาด และเจาะรูเล็ก ๆ หลายรู เพื่อดูดซับเสียง เหมาะกับการนำไปใช้สร้างผนังห้องประชุมที่ต้องการเก็บเสียงเพื่อความเป็นส่วนตัว นอกจากสามารถเก็บเสียงได้ดีกว่ากระจกแบบทั่วไปแล้ว วัสดุที่ใช้ยังทำมาจากพลาสติกชีวภาพที่ย่อยสลายได้
หากใครกังวลว่ารูเล็ก ๆ อาจทำให้ฝุ่นเข้าไปเกาะจนกำแพงใส ๆ ดูสกปรก พิกซี ดัสต์ เทคโนโลยียืนยันว่าไม่มีฝุ่นเข้าไปแน่นอน เพราะมีแค่เสียงเท่านั้นที่สามารถผ่านรูเล็ก ๆ นี้ได้ และอายุของวัสดุสามารถใช้ได้นานตามต้องการ
ดื่มกาแฟไร้กังวล
“สตอรี่ไลน์” (Storyline) ธุรกิจผลิตเมล็ดกาแฟที่ลดคาเฟอีน เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่น่าสนใจสำหรับคนรักสุขภาพ เพราะสตอรี่ไลน์ผลิตกาแฟแบบลดคาเฟอีนได้โดยไม่ทำให้เสียรสชาติและกลิ่นกาแฟ
ธุรกิจร่วมมือกับมหาวิทยาลัยโทโฮกุ พัฒนากาแฟลดคาเฟอีนคุณภาพสูงและปลอดภัย ด้วยการใช้เทคโนโลยีสกัดแบบซูเปอร์คริทิคอล (Supercritical)
ในตอนแรกสตอรี่ไลน์ตั้งเป้าตอบสนองความต้องการลูกค้าที่ตั้งครรภ์และต้องการดื่มกาแฟที่ไม่มีคาเฟอีน แต่ธุรกิจมองว่ายังมีลูกค้าอีกมากที่ต้องการดื่มกาแฟวันละหลายแก้ว และไม่ต้องการเพิ่มคาเฟอีนในร่างกาย ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจผลิตกาแฟ หรือร้านค้าจำหน่ายกาแฟก็สามารถร่วมเป็นพาร์ตเนอร์ได้
ส่องตลาดสตาร์ตอัปญี่ปุ่น
“เอสุเกะ มัตสึอุระ” ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมธุรกิจเอสเอ็มอีญี่ปุ่นของเจโทร เผยว่า สตาร์ตอัปที่มาแรงในญี่ปุ่นส่วนใหญ่เป็นเทคโนโลยีเอไอ และเทคโนโลยีขั้นสูง (Deep Tech)
ปัจจุบันญี่ปุ่นมีสตาร์ตอัปเกือบ 10,000 บริษัท เป็นยูนิคอร์นแล้ว 14 แห่งในปี 2567 เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มียูนิคอร์น 7 แห่ง
สตาร์ตอัปยูนิคอร์นที่มีมูลค่ามากที่สุด 3 อันดับแรกในญี่ปุ่น ได้แก่ 1.Preffered Networks ธุรกิจพัฒนาเอไอ มูลค่าราว 7.35 หมื่นล้านบาท 2.Smart News แอปพลิเคชันให้บริการข่าวสาร มูลค่าราว 7.35 หมื่นล้านบาทเช่นกัน และ 3.Smart HR ซอฟต์แวร์พัฒนาทรัพยากรบุคคล มูลค่าราว 5.88 หมื่นล้านบาท
มัตสึอุระเผยว่า ตลาดสตาร์ตอัปญี่ปุ่นปี 2566 โดยรวมมีมูลค่า 8.4 แสนล้านเยน หรือประมาณ 2 แสนล้านบาท ลดลงจากปีก่อนหน้าราว 16.8% เนื่องจากนักลงทุนมีความระมัดระวังในการลงทุนมากขึ้น
ผอ.ส่งเสริมธุริกิจเอสเอ็มอีญี่ปุ่น ย้ำ ธุรกิจที่เจโทรพามางานเทคซอสในปีนี้ ล้วนตอบสนองตลาดไทยที่ต้องการเทคด้านเอไอและเทคโนโลยีขั้นสูง และธุรกิจที่เข้าถึงคนไทยได้ง่ายมากที่สุดคือ "ธุรกิจที่มีเทคโนโลยีเข้าใจง่าย"
เมื่อถามถึงจุดแข็งของธุรกิจญี่ปุ่น มัตสึอุระกล่าวว่า สินค้าและเทคโนโลยีของญี่ปุ่นมีคุณภาพ ธุรกิจดูแลลูกค้าอย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอ และเชื่อถือได้ ที่สำคัญ “คนญี่ปุ่นชื่นชอบคนไทย”