‘เจโทร’ หนุน 'สตาร์ตอัปญี่ปุ่น' รุกธุรกิจไทย-เสริมหุ้นส่วนเทคฯยั่งยืน
‘เจโทร’ หนุน 'สตาร์ตอัปญี่ปุ่น' รุกธุรกิจไทย-เสริมหุ้นส่วนเทคฯยั่งยืน โดยปัจจุบันมีบริษัทญี่ปุ่นในไทยราว 6,000 บริษัท นับว่าเป็นบริษัทต่างชาติจำนวนมากที่สุดอันดับ 3 ของไทย รองจากจีนและสหรัฐ
ประเทศญี่ปุ่น เป็นคู่ค้าสำคัญอันดับต้น ๆ ของไทยมาตั้งแต่อดีต โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมล้ำสมัย และไม่ได้มีเพียงธุรกิจขนาดใหญ่เท่านั้นที่เข้ามาเป็นหุ้นส่วนกับธุรกิจไทย แต่ธุรกิจสตาร์ตอัปญี่ปุ่นก็มองว่าไทยเป็นคู่ค้าที่น่าลงทุนด้วยเช่นกัน
องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศญี่ปุ่น (เจโทร) กรุงเทพฯ และสถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ร่วมกับซีพี กรุ๊ป, กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม และทรู ดิจิทัล พาร์ค จัดงาน Rock Thailand ครั้งที่ 5 (Empowering Growth in ASEAN) เมื่อวันเสาร์ที่ 4 พ.ย. ที่ผ่านมา เพื่อเปิดโอกาสให้ธุรกิจสตาร์ตอัปญี่ปุ่นนำเสนอผลิตภัณฑ์ล้ำสมัย และส่งเสริมการขยายธุรกิจในประเทศไทย ที่ญี่ปุ่นคัดสรรมาแล้วว่ามีผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์กับธุรกิจไทยอย่างแน่นอน
“ยาสุโตชิ นิชิมูระ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า อุตสาหกรรมของญี่ปุ่น
“ยาสุโตชิ นิชิมูระ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า อุตสาหกรรมของญี่ปุ่น กล่าวเปิดงานว่า "งาน Rock Thailand จัดขึ้นปีนี้เป็นปีที่ 5 มีจุดประสงค์เพื่อส่งเสริมความร่วมมือเชิงกลยุทธ์ระหว่างสตาร์ตอัปญี่ปุ่นและกลุ่มบริษัทไทย"
ญี่ปุ่นมองว่าประเทศไทยเป็นหุ้นส่วนที่สำคัญ และทั้งสองประเทศได้สร้างซัพพลายเชนที่สำคัญหลายด้านร่วมกัน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์
ปัจจุบัน มีบริษัทญี่ปุ่นดำเนินธุรกิจในไทยราว 6,000 บริษัท ถือเป็นจำนวนบริษัทต่างชาติที่มากที่สุดอันดับ 3 รองจากจีนและสหรัฐ
ทั้งนี้ บริษัทสตาร์ตอัปญี่ปุ่นที่เข้าร่วมงาน มาจากหลายสาขาธุรกิจ ทั้งเทคฯการผลิตปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) และเทคโนโลยีชีวภาพ รวมทั้งสิ้น 10 บริษัท ได้แก่ Extra Bold, CADDI,Recursive, Quwak, Spiber, Thermalytica, TOWING,Plant Life Systems,KAICO, และ Bacchus Bio innovation
รูปภาพประกอบจาก Extra Bold
สตาร์ตอัปที่เหมาะกับเทรนด์รักษ์โลกต้องยกให้ Extra Bold เป็นสตาร์ตอัปผลิตและพัฒนาเครื่องพิมพ์เทคโนโลยี 3 มิติขนาดใหญ่ สามารถผลิตสิ่งของได้ในเวลาอันรวดเร็ว และเน้นการใช้วัสดุเรซินรีไซเคิล เพื่อลดการใช้วัสดุใหม่ผลิตสินค้าเพิ่มจำนวนมาก และพาร์ทเนอร์ที่ร่วมธุรกิจกับ Extra Bold ตอนนี้คือบริษัทจำหน่ายเฟอร์นิเจอร์ เนื่องจากเครื่องพิมพ์ 3 มิติ สามารถผลิตของชิ้นใหญ่ได้ เช่น เก้าอี้และโต๊ะอเนกประสงค์ รวมถึงกระถางต้นไม้ขนาดใหญ่
ขณะที่ Recursive เป็นสตาร์ตอัปเอไอเพื่อนวัตกรรมความยั่งยืน ช่วยเพิ่มประสิทธิผลในการดำเนินธุรกิจ ช่วยคาดการณ์ความเสี่ยงต่าง ๆ เช่น ความเสี่ยงด้านภัยพิบัติและสุขภาพ และช่วยนำเสนอข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่องานและการศึกษาให้ได้มากที่สุด
ผลงานของบริษัท ได้แก่ เอไอช่วยคาดการณ์ใบหน้าหลังศัลยกรรม เอไอคลังข้อมูล FindFlow เอไอเพื่อการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน และเอไอข้อมูลสภาพอากาศแม่นยำสูง
นอกจากนี้ ยังมีสตาร์ตอัปด้านเทคโนโลยีชีวภาพอย่าง Spiber ที่ผลิต Brewed protein หรือโปรตีนสังเคราะห์จากชีวมวลที่ได้จากพืช แล้วนำไปแปรรูปต่อ เช่น แปรรูปเป็นเส้นใยยาว มีคุณสมบัติให้ความอบอุ่น สามารถนำไปใช้ในอุตสาหกรรมสิ่งทอเพื่อผลิตเสื้อผ้าได้ หรือแปรรูปเป็นหนังสังเคราะห์ก็ได้ ปัจจุบันบริษัทมีพาร์ทเนอร์อุตสาหกรรมแฟชั่นราว 25 แบรนด์ในยุโรปแล้ว
นอกจากนี้ โปรตีนสังเคราะห์ยังสามารถนำไปผลิตเป็นวัถตุดิบอาหารได้ โดยบริษัททดลองโปรตีนสังเคราะห์ผสมกับแพลนต์เบส จนสามารถปั้นอาหารออกมาเป็นสเต๊กเนื้อ ซึ่งบริษัทมองว่าเทคโนโลยีนี้ อาจช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการทำปศุสัตว์ได้
รูปภาพประกอบจาก Spiber
ขณะที่ KAICO สามารถนำหนอนไหมที่เป็นห่วงโซ่การผลิตใยผ้า มาผลิตโปรตีนผงและเหลวเพื่อใช้ในวัคซีน ซึ่งบริษัทประสบความสำเร็จในการผลิตวัคซีนที่ให้ทางปากแล้ว วัคซีนชนิดนี้จะช่วยลดการใช้บุคลากรการแพทย์ และหากสามารถเก็บวัคซีนในรูปแบบเม็ดจะช่วยลดต้นทุนการจัดเก็บวัคซีนได้อีกด้วย
บริษัทเริ่มทดลองวัคซีนให้ทางปากกับสุกรที่ติดไวรัสและมีร่างกายซูบผอม ด้วยการผสมวัคซีนในอาหาร หลังจากนั้นหมูก็มีน้ำหนักเพิ่มขึ้นและไวรัสลดลงภายใน 3 สัปดาห์
เบื้องต้นบริษัทตั้งเป้าเป็นที่รู้จักในฐานะธุรกิจอาหารเสริมสำหรับสัตว์ จากนั้นอยากเติบโตเป็นธุรกิจวัคซีนให้ทางปากสำหรับสัตว์และคน
สตาร์ตอัปญี่ปุ่นก่อตั้งธุรกิจจนเติบโตและสามารถพัฒนาเทคโนโลยีให้ก้าวหน้าและมีความหลากหลายได้ขนาดนี้ เพราะได้รับการส่งเสริมและการสนับสนุนจากรัฐบาลอย่างแข็งขัน
นิชิมูระ เผยว่า รัฐบาลญี่ปุ่นมีมาตรการสนับสนุนสตาร์ตอัปหลายอย่าง อาทิ การให้เงินอุดหนุน, ให้สินเชื่อ, ให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษี เป็นต้น
ยกตัวอย่างเช่น กระทรวงเศรษฐกิจฯ ส่งเสริมให้สตาร์ตอัปขยายธุรกิจไปต่างประเทศ โดยมีมาตรการสนับสนุน เช่น งบวิจัยและพัฒนาโครงการในต่างประเทศมูลค่า 25,000 ล้านบาท สำหรับสตาร์ตอัปเทคโนโลยีขั้นสูง และมีงบ 5,000 ล้านบาท สนับสนุนขยายการลงทุนในต่างประเทศกับบริษัทร่วมทุนทั้งในและนอกญี่ปุ่น
“ผมเชื่อมั่นว่า ถ้าภาครัฐกับภาคเอกชนของไทยและญี่ปุ่น ร่วมมือกันผ่านหลายช่องทาง เราจะสามารถร่วมกันสร้างสรรค์นวัตกรรมที่แก้ไขความท้าทายทางสังคม ไม่เพียงแค่ในอาเซียนเท่านั้น แต่รวมถึงทั่วโลก” นิชิมูระ กล่าว
“คุโรดะ จุน” ประธาน เจโทร กรุงเทพฯ กล่าวปิดงานทิ้งท้ายว่า “งานนี้ถือเป็นงานที่มีศักยภาพมากที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการธุรกิจทั้งสองประเทศมีโอกาสร่วมธุรกิจกัน สำหรับญี่ปุ่นแล้ว ไทยยังคงเป็นส่วนสำคัญของห่วงโซ่อุปทานอาเซียนและภูมิภาคเอเชีย และนับจากนี้ เจโทรอยากนำเทคโนโลยีญี่ปุ่นมาถ่ายทอดในไทย และอยากให้ไทยกับญี่ปุ่นใช้เทคโนโลยีสร้างโมเดลธุรกิจร่วมกัน เพื่อให้เกิดการร่วมสร้างสรรค์และมุ่งสู่สังคมที่ยั่งยืน"