ครุกแมนเตือน ทรัมป์เนรเทศคนมหาศาลสั่นคลอนความเป็นผู้นำเทคโนโลยี
พอล ครุกแมน นักเศรษฐศาสตร์ผู้ทรงอิทธิพลทางความคิด เตือน “ความเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีของสหรัฐจะสั่นคลอน หากทรัมป์ เนรเทศคนมหาศาล”
พอล ครุกแมน นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลเขียนบทความเกี่ยวกับผลกระทบของนโยบายเนรเทศคนอพยพเข้าเมืองลงในเดอะนิวยอร์กไทม์ส์เมื่อเร็วๆนี้ เริ่มด้วยการตั้งคำถามว่า ธุรกิจในสหรัฐจะเจริญรุ่งเรืองภายใต้ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์สมัยที่สองหรือไม่ ?
ครุกแมนระบุว่า ผู้นำธุรกิจหลายคนต่างมีความหวังว่าทรัมป์จะไม่ทำตามคำมั่นสัญญาในระหว่างการณรงค์หาเสียงเรื่องการขึ้นภาษีศุลกากรสูงและการเนรเทศคนต่างชาติจำนวนมาก ซึ่งก็จะคล้ายกับเรื่องการสร้างกำแพงชายแดนที่ส่วนใหญ่เขาไม่ได้สร้าง แต่อ้างว่าเขาสร้างมันเอง
แต่ครุกแมนเตือนว่าการมองโลกในแง่ดีเช่นนี้เป็นเรื่องเข้าใจผิด เพราะทรัมป์มีความหมกมุ่นในเรื่องภาษีศุลกากรและการอพยพเข้าเมืองผิดกฎหมายมานานแล้ว และเขาอาจจะไม่ตอบสนองในทางที่ดีนัก หากมีผู้คนล้อเลียนเขาที่ไม่สามารถ ทำตามแนวคิดนโยบายอันเป็นลายเซ็นต์ของเขาได้
- หากทรัมป์เดินตามที่หาเสียงจะเกิดความเสียหายหนัก
ครุกแมนเชื่อว่า หากทรัมป์ไม่ปรับนโยบายให้เหมาะสม ความเสียหายจะร้ายแรงกว่าที่คนมองโลกในแง่ร้ายคาดไว้
“ความเป็นปฎิปักษ์ต่อผู้อพยพเข้าเมืองจะไม่เพียงแต่สร้าง ปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่ต้องใช้แรงงานหนักงานที่คนอเมริกันโดยกำเนิดไม่เต็มใจที่จะทำเท่านั้น แต่ยังจะบั่นทอน ความเป็นผู้นำของอเมริกาในด้านเทคโนโลยีอีกด้วย” ครุกแมนเตือน
เป็นที่ทราบกันดีว่าทรัมป์ได้ประกาศเจตนารมณ์ที่จะประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินระดับชาติและส่งกองทัพไปช่วยกวาดล้างผู้อพยพไร้เอกสารจำนวนมากเพื่อขับออกนอกประเทศ โดยในช่วงแรกจะกักขังพวกเขาไว้ในที่ที่ สตีเฟน มิลเลอร์ ที่ปรึกษาคนเข้าเมืองคนสำคัญคนหนึ่งของเขาเรียกว่า "สถานที่
กักขังขนาดใหญ่"
ครุกแมนกล่าวว่า การกระทำดังกล่าวจะเป็นฝันร้ายด้านมนุษยธรรมและเสรีภาพของพลเมือง แต่ประเด็นเหล่านี้คงไม่อาจหยุดยั้งทรัมป์ได้ เขาอาจยินดีหากมีการประท้วงเพราะมันจะทำให้เขาดูเข้มแข็งและเด็ดขาด
แต่ผลกระทบทางเศรษฐกิจอาจเป็นอีกเรื่องหนึ่ง การเนรเทศจำนวนมากจะทำให้เกิดการขาดแคลน และราคาสินค้าที่สูงขึ้นในอุตสาหกรรมที่จ้างผู้อพยพไร้เอกสารจำนวนมาก รวมถึงคนงานที่ถูกกฎหมายที่นี่ซึ่งอาจติดร่างแหของการกวาดล้างไปด้วย รวมถึงภาคเกษตรกรรม โรงงานแปรรูปเนื้อสัตว์ และภาคการก่อสร้าง
ครุกแมนยอมรับว่า เขาไม่รู้จริงๆ ว่าทั้งหมดนี้จะดำเนินไปอย่างไร และเขาสงสัยว่าจะมีใครรู้บ้าง มันจะออกมาแบบน่าเกลียดไหม หรือจะน่าเกลียดมาก?
ครุกแมนเตือนว่า นอกเหนือจากผลกระทบในระยะใกล้เหล่านี้แล้ว ยังมีผลที่ตามมาของ ‘ลัทธิทรัมป์นิยม’ (Trumpism) ที่ไม่ได้รับความสนใจมากนัก นั่นคือภัยคุกคามที่ทรัมป์นิยมจะมีต่อความเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีของอเมริกา
- ภาคไฮเทคของสหรัฐเป็นสิ่งมหัศจรรย์ของโลก
ครุกแมนเห็นว่า ภาคเทคโนโลยีของสหรัฐนั้นเป็นสิ่งมหัศจรรย์ของโลก ราวๆ ปี 1995 ประเทศที่ร่ำรวยหลักๆ ของโลกทั้งหมดดูเหมือนว่าจะมีระดับเทคโนโลยีที่ใกล้เคียงกัน โดยมีระดับผลิตภาพทางเศรษฐกิจที่ใกล้เคียงกัน หากยุโรปมีระดับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศต่อหัวที่แท้จริงต่ำกว่า เหตุผลหลักประการหนึ่งก็คือชาวยุโรปทำงานน้อยชั่วโมงกว่า เนื่องจากต่างกับคนอเมริกัน พวกเขาใช้เวลาพักร้อนอย่างแท้จริง
แต่จากรายงานล่าสุดของคณะกรรมาธิการยุโรปจัดทำโดย มาริโอ ดรากี อดีตประธานธนาคารกลางยุโรป ระบุว่า “ในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา อเมริกาได้ก้าวขึ้นมานำหน้าอีกครั้ง สิ่งที่ครุกแมนพบว่าน่าสนใจเกี่ยวกับการเติบโตอย่างรวดเร็วของสหรัฐนี้ไม่ได้เกิดขึ้นในวงกว้าง ชาวยุโรปทำหลายๆ อย่างได้ดีเท่ากับคนอเมริกัน แต่ทว่าอเมริกาเป็นผู้นำ ในด้านเทคโนโลยีดิจิทัล”
- อะไรคือแรงผลักดันเรื่องราวความสำเร็จนั้น?
ครุกแมนชี้ว่า ไม่ต้องสงสัยเลยว่ามีสาเหตุหลายประการ ปัจจัยสำคัญหนึ่งก็คือผลกระทบภายนอกของเครือข่าย (Network Externalities) ที่เกิดจากคลัสเตอร์เทคโนโลยีในซิลิคอนวัลเลย์ ซึ่งทำให้คนในอุตสาหกรรมนี้มีรายได้ต่อหัวสูงอย่างเหลือเชื่อ แต่หากคุณใช้เวลาในศูนย์กลางเทคโนโลยีของอเมริกา ก็จะเห็นได้ชัดว่าผู้อพยพ ซึ่งมักจะเป็นผู้อพยพที่มีการศึกษาสูงจากเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกก็มีส่วนสำคัญของเรื่องราวนี้เช่นกัน
- การเนรเทศต่างชาติครั้งใหญ่จะกระทบคนมีการศึกษาสูง
คนทั่วไปอาจเห็นว่านั่นไม่ควรเป็นปัญหา ความเป็นปฎิปักษ์ของโครงการมากา MAGA ( Make America Great Again ทำให้อเมริกายิ่งใหญ่อีกครั้ง) มุ่งเป้าไปที่ผู้อพยพที่ไม่มีเอกสารที่มาแย่งงานของกรรมกร ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้าน เทคโนโลยีจากอินเดีย
แต่ครุกแมนยืนยันว่า การคิดเช่นนั้น “ผิด” รัฐบาลทรัมป์ชุดแรกนั้นชัดเจนว่าไม่เป็นมิตรกับผู้อพยพที่มี การศึกษาสูงเข้าเมืองถูกต้องตามกฎหมาย และคนงานทักษะ ต่ำที่ไม่มีเอกสาร โดยทำให้การขอหรือต่ออายุวีซ่ายากขึ้น อย่างมากสำหรับชาวต่างชาติที่มีทักษะสูง ซึ่งเป็นช่องทางหลักที่พวกเขาสามารถทำงานในสหรัฐได้ และคนงานเหล่านี้หลายคนกลัวว่านโยบายเหล่านี้จะกลับมา และจะยิ่งแย่ลงกว่าเดิม
ครุกแมนสำทับว่า หากคุณต้องการรับรู้ถึงสิ่งที่กลุ่มคนใกล้ชิดของทรัมป์เชื่อ ก็ควรลองดูการสนทนาในปี 2016 ระหว่า งมิลเลอร์และสตีฟ แบนนอน พันธมิตรเก่าแก่ของทรัมป์ที่ได้รับการปล่อยตัวจากคุกทันเวลามาหาเสียงช่วยทรัมป์ในการ เลือกตั้งที่ผ่านมาในปีนี้
แบนนอนเคยประกาศว่าการอพยพเข้าเมืองอย่างถูกกฎหมายเป็นปัญหาที่แท้จริง โดยประณาม “กลุ่มโอลิการ์ก (Oligarchs) อภิมหาเศรษฐีที่มีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับฝ่ายการเมือง” ที่นำชาวต่างชาติเข้ามาทำงานด้านไอทีซึ่งเขาเชื่อว่าควรเป็นงานของชาวอเมริกัน “อึมม เป็นความเห็นที่เยี่ยมยอด” มิลเลอร์ตอบในการสนทนากันครั้งนั้น
- มัสก์จะพึ่งทรัมป์มากกว่าทรัมป์ต้องการมัสก์
ต่อความเห็นที่ว่า มีผลสำคัญหรือไม่ที่อภิมหาเศรษฐีบางส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งอีลอน มัสก์ เป็นผู้สนับสนุนทรัมป์ตัวยง ครุกแมนเห็นว่า อาจจะน้อยกว่าที่คิดกันก็ได้ เขาชี้ตัวอย่างในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ที่บรรดาอภิมหาเศรษฐีคิดว่าพวก เขาสามารถซื้ออิทธิพลจากผู้นำการเมืองเผด็จการได้ แต่กลับพบว่าพวกเขาต้องขึ้นอยู่กับความปรานีของผู้นำเผด็จการ มากกว่าเผด็จการต้องการพึ่งเงินของพวกเขา ครุกแมนเดาว่า โดยเฉพาะมัสก์จะได้เรียนรู้ในไม่ช้าว่าเขาต้องการทรัมป์ มากกว่าที่ทรัมป์ต้องการเขา
- อเมริกาอาจสิ้นยุคดึงคนฉลาดมีการศึกษาสูงเข้าประเทศ
ครุกแมนสรุปว่า ดังนั้น เขาจะประหลาดใจมากถ้าการต่อต้านผู้อพยพเข้าเมืองจะไม่ส่งผลกระทบต่อแรงงานต่างชาติที่มีการศึกษาสูง
“นอกเหนือจากนโยบายเฉพาะแล้ว เหตุผลหนึ่งที่อเมริกาประสบความสำเร็จในการดึงดูดคนเก่งที่สุดและฉลาดที่สุดของโลกได้ก็คือความเปิดกว้างของสังคมของเรา ซึ่งบางทีอาจเปิดมากกว่าประเทศอื่นๆ เราอาจเป็นสถานที่ที่ผู้คนจาก วัฒนธรรมต่างๆ รู้สึกว่า ได้รับการต้อนรับ ยุคสมัยนั้นอาจจะสิ้นสุดลง” ครุกแมน กล่าวเสริม