ผู้อพยพทั่วสหรัฐผวา เตรียมรับมือทรัมป์เนรเทศครั้งใหญ่

ผู้อพยพทั่วสหรัฐผวา เตรียมรับมือทรัมป์เนรเทศครั้งใหญ่

นิวยอร์กไทม์สรายงาน ผู้อพยพทั่วสหรัฐต่างเร่งรีบเตรียมรับมือกับการปราบปราม และการเนรเทศออกจากสหรัฐของว่าที่ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์

ทรัมป์ ให้สัญญาระหว่างหาเสียงว่าจะเนรเทศคนต่างชาติจำนวนมากทำให้ผู้อพยพเข้าเมืองต่างหวาดกลัวจนต้อง แสวงหาการคุ้มครองและคำแนะนำ

บรรดาผู้อพยพต่างกำลังเร่งเตรียมรับมือกับการปราบปราม โดยผู้อยู่อาศัยที่เกิดในต่างประเทศได้โทรศัพท์ไปหาทนายความผู้ให้คำปรึกษาด้านคนอพยพเข้าเมือง พวกเขาเข้าร่วมการประชุมเพื่อเรียนรู้ข้อมูลที่จัดให้โดยองค์กรไม่แสวงหากำไร และกำลังดำเนินการทุกวิถีทางป้องกันตนเองจากมาตรการกวาดล้างที่ทรัมป์สัญญาไว้ว่าจะดำเนินการหลังจากเข้ารับตำแหน่งในวันที่ 20 มกราคม

“ผู้คนที่หวาดกลัวกำลังเดินทางเข้ามา และผู้คนที่ถือกรีนการ์ดได้ก็รีบเข้ามา” อินนา ซิมาคอฟสกี้ ทนายความด้านการย้ายถิ่นฐานในโคลัมบัส รัฐโอไฮโอ กล่าวและว่าทีมงานของเธอต้องเผชิญกับการขอปรึกษาอย่างล้นหลาม “ทุกคนต่างก็กลัว”เธอกล่าว

คนต่างประเทศในสหรัฐ 13 ล้าน อยู่ผิดกฎหมาย 11.3 ล้าน

ส่วนกลุ่มผู้ที่มีความสัมพันธ์กับพลเมืองสหรัฐ กำลังเร่งดำเนินการแต่งงานซึ่งทำให้พวกเขาสามารถยื่นคำร้องขอกรีนการ์ดได้  ข้อมูลล่าสุดในปี 2022 โดยรวมแล้วมีผู้ที่ได้รับอนุญาตให้พำนักถาวรอย่างถูกกฎหมายมีประมาณ 13 ล้านคน และมีผู้เข้าเมืองโดยไม่มีเอกสารประมาณ 11.3 ล้านคน

“ผลการเลือกตั้งทำให้ฉันตื่นตระหนกและรีบหาทางออกที่แน่นอนทันที” ยาเน็ธ แคมพูซาโน วิศวกรซอฟต์แวร์วัย 30 ปี ในเมืองฮูสตันกล่าว เธอถูกนำตัวมายังสหรัฐอเมริกาจากเม็กซิโกเมื่ออายุได้เพียง 2 เดือน เธอมีสิทธิ์เข้าร่วม โครงการ Deferred Action for Childhood Arrivals หรือ DACA ซึ่งเป็นโครงการในยุคโอบามา ที่ให้ผู้อพยพหลายแสนคนที่เข้ามาในประเทศเมื่อยังเป็นเด็กสามารถอยู่ใน ประเทศได้โดยมีใบอนุญาตทำงาน

แต่ DACA เป็นเป้าหมายของนายทรัมป์ในช่วงดำรงตำแหน่งวาระแรก และกลายเป็นคดีความฟ้องร้องในศาลที่อาจช่วยให้เขายุติโครงการนี้ได้ เมื่อพิจารณาจากสถานะที่ไม่แน่นอนของโครงการ นางคัมปูซาโนและคู่หมั้นของเธอ ซึ่งเป็นนักประสาทวิทยาชาวอเมริกัน จึงได้เร่งรัดแผนการแต่งงาน โดยพวกเขาจะเข้าพิธีวิวาห์ในเดือนหน้า

ส่วนผู้ที่มีกรีนการ์ดต้องการเป็นพลเมืองโดยเร็วที่สุด ผู้ที่มีสถานะทางกฎหมายที่ไม่มั่นคงหรือผู้ที่เข้ามาในประเทศอย่างผิดกฎหมายกำลังดิ้นรนเพื่อยื่นขอสถานะผู้ลี้ภัยแม้ว่าการยื่น คำร้องจะไม่มีเหตุผลสนับสนุนหนักแน่นนัก แต่การมีคดีที่อยู่ระหว่างดำเนินการจะช่วยปกป้องพวกเขาจากการถูกเนรเทศ ภายใต้พิธีสารปัจจุบันก่อนที่ทรัมป์จะเข้ารับตำแหน่ง

 “ฉันจะโล่งใจได้อีกครั้งก็ต่อเมื่อสถานะของฉันได้รับการคุ้มครองแล้วเท่านั้น” นางคัมปูซาโน

กล่าว

ผู้มีสิทธิเลือกตั้งของทั้งสองพรรครู้สึกสับสนกับความวุ่นวายที่ชายแดนภายใต้การนำของประธานาธิบดีไบเดน โดยทรัมป์หาเสียงโดยให้คำมั่นว่าจะเนรเทศคนจำนวนมาก และเมื่อสัปดาห์ที่แล้วเขากล่าวว่าเขาตั้งใจที่จะประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินระดับชาติและใช้กองทัพสหรัฐเพื่อบรรลุเป้าหมาย นายสตีเฟน มิลเลอร์ ที่ปรึกษาหลักด้านนโยบายการย้ายถิ่นฐานของทรัมป์กล่าวถึง “สถานที่กักขังขนาดใหญ่” จะทำหน้าที่เป็น “ศูนย์เตรียมการ” สำหรับปฏิบัติการนี้ 

สัปดาห์นี้กรรมาธิการที่ดินของรัฐในเท็กซัสเสนอให้รัฐบาลกลางใช้พื้นที่กว่า 2,530 ไร่ใกล้ชายแดนเพื่อสร้างศูนย์กักขัง

จะว่าไปแล้วการเนรเทศไม่ใช่เรื่องแปลกสำหรับทรัมป์ สถาบันนโยบายการย้ายถิ่นฐานวิเคราะห์ว่า ช่วงดำรงตำแหน่งวาระแรก ทรัมป์เนรเทศคนไปประมาณ 1.5 ล้านคน 

ประธานาธิบดีไบเดนเนรเทศคนไปในจำนวนใกล้เคียงกัน ประธานาธิบดีโอบามาเนรเทศคนไป 3 ล้านคนในวาระแรกของเขา

  •  การเนรเทศครั้งใหญ่นับแต่ทศวรรษ 1950 

 ตั้งแต่ทศวรรษ 1950s เป็นต้นมา สหรัฐอเมริกาไม่เคยพยายามเนรเทศผู้คนจำนวนมาก และก่อนหน้านี้ก็ไม่เคยจัดตั้งสถานที่กักขังขนาดใหญ่เพื่ออำนวยความสะดวกในการเนรเทศ

เซอร์จิโอ เตอราน ชาวเวเนซุเอลา วัย 36 ปีมีสถานะผู้พำนักถาวรตามกฎหมาย หลังจากถือกรีนการ์ดมาเป็นเวลา 5 ปี  อาศัยอยู่ในเลคแลนด์ รัฐฟลอริดา ก็มีสิทธิ์ที่จะได้รับสัญชาติสหรัฐเมื่อปลายเดือนกรกฎาคม ความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับการเลือกตั้งเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ผลักดันให้เขายื่นคำร้องเมื่อไม่นานนี้ “ผมต้องการทำอย่าง รวดเร็ว” นายเตอรานกล่าว

"ผมเป็นสมาชิกชุมชนที่ซื่อสัตย์" เขากล่าว "แต่ด้วยกรีนการ์ด คุณก็ยังถูกเนรเทศได้ ผมจะรู้สึกปลอดภัยมากขึ้นเมื่อรู้ว่าผมกำลังดำเนินการขอสัญชาติอยู่”

นอกจากนายมิลเลอร์แล้ว ประธานาธิบดีคนใหม่ยังได้แต่งตั้งเจ้าหน้าที่ระดับสูงด้านการตรวจคนเข้าเมืองคนอื่นๆ ให้ดำรง ตำแหน่งสำคัญด้วย รวมถึงโทมัส โฮแมน ซึ่งเป็นอดีตเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองและศุลกากร ให้ดำรงตำแหน่ง “ผู้บังคับการชายแดน”

นายโฮแมนกล่าวว่ารัฐบาลจะให้ความสำคัญกับการขับไล่ผู้กระทำความผิดและผู้ที่มีคำสั่งเนรเทศออกนอกประเทศที่ค้างอยู่ แต่เขายังกล่าวอีกว่าจะมีการบุกเข้าตรวจค้นสถานที่ทำงานและจะใช้เครื่องมืออื่นๆ เพื่อจับกุมผู้อพยพที่ไร้เอกสาร ซึ่งหลายคนอาศัยอยู่ในประเทศมานานหลายทศวรรษ แม้แต่ในรัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งผู้นำรัฐได้จำกัดขอบเขตความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองของรัฐบาลกลางในช่วง ดำรงตำแหน่งวาระแรกของนายทรัมป์ และให้คำมั่นว่าจะทำเช่นนั้นอีกครั้ง ผู้อพยพก็ยังคงกังวลว่าการบังคับใช้กฎหมาย จะเข้มงวดมากขึ้น

“คราวนี้เราหวาดกลัวมากขึ้น เพราะทุกสิ่งที่ทรัมป์พูดว่าเขาจะทำเมื่อเขากลับมามีอำนาจอีกครั้ง” ซิลเวีย คัมปอส คนงานทำไร่ชาวเม็กซิกันไร้เอกสารซึ่งอาศัยอยู่กับสามีและลูกสามคน ซึ่งสองคนเป็นพลเมืองสหรัฐ ในริเวอร์ไซด์เคาน์ตี้ กล่าว 

เธอเล่าว่าไม่ว่าจะหันไปทางไหน ไม่ว่าจะเป็นวิทยุ โทรทัศน์ หรือโซเชียลมีเดียภาษาสเปน เธอก็มักจะได้ยินข้อมูลเกี่ยวกับ เจตนาของทรัมป์อยู่บ่อยครั้ง “ทุกคนต่างพูดถึงเรื่องนี้กันหมด” นางคัมโปส วัย 42 ปี ซึ่งข้ามพรมแดนมาพร้อมกับสามีเมื่อ 18 ปีก่อน กล่าว “เราต้องเตรียมตัวรับมือกับสิ่งเลวร้ายที่สุด”

 ด้วยเหตุนี้ เธอได้ขออนุญาตผู้จัดการหยุดงานเก็บเกี่ยวผักเพื่อไปร่วมการประชุม “รู้สิทธิของตัวเอง” เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ณ องค์กรไม่แสวงหากำไรแห่งหนึ่ง

คำแนะนำผู้อพยพยประกอบด้วย: คุณมีสิทธิที่จะไม่พูดอะไร เปิดประตูบ้านให้เฉพาะเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองที่นำหมายค้นจากผู้พิพากษามาแสดงเท่านั้น อย่าลงนามในเอกสารใดๆ หากไม่มีทนายความ จัดทำแผนสำหรับครอบครัวในกรณีที่คุณถูกกักตัวและแยกจากลูกๆ