ทรัมป์จะเปลี่ยนเศรษฐกิจสหรัฐให้เป็นทุนนิยมพวกพ้อง?
กูรูทางเศรษฐกิจเตือนว่า การประกาศขึ้นอัตราภาษีศุลกากรสูงสำหรับสินค้านำเข้าจากต่างประเทศจะไม่เพียงแต่ก่อให้เกิดเงินเฟ้อสูงในสหรัฐ และส่งผลต่อกระทบร้ายแรงต่อประเทศเล็กๆที่พึ่งการส่งออก เช่นไทยเท่านั้น แต่ยังอาจจะเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจสหรัฐที่มีการแข่งขันกันสูงไปสู่ ระบบทุนนิยมพวกพ้อง (Crony Capitalism) ด้วย
- ขาดความเชื่อมั่นในทรัมป์
นักเศรษฐศาสตร์ทั่วโลกหลายคนรวมทั้งพอล ครุกแมน นักเศรษฐาสตร์รางวัลโนเบลปี 2008 ต่างกังวลเรื่องเงินเฟ้อในสหรัฐสูงจากนโยบายของว่าที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ นอกจากเรื่องนี้แล้ว ครุกแมน ยังกลัวว่า นโยบายสำคัญของทรัมป์โดยเฉพาะการขึ้นภาษีนำเข้า และการเนรเทศแรงงานต่างชาติอาจจะถูกทรัมป์ใช้เป็นเครื่องมือเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ให้กับธุรกิจส่วนตัวและพวกพ้องในพรรครีพับลิกันก็ได้
ครุกแมนแสดงความเห็นนิวยอร์กไทม์สเมื่อเร็วๆนี้ว่า ลองนึกดูว่าคุณมีธุรกิจที่ต้องพึ่งพาชิ้นส่วนที่นำเข้ามาอาจจะมา จากจีน เม็กซิโก หรือที่อื่น คุณจะทำอย่างไร หากทรัมป์ขึ้นภาษีนำเข้า
กฎหมายการค้าของสหรัฐให้อำนาจฝ่ายบริหารในการใช้ดุลยพินิจกำหนดอัตราภาษีศุลกากรได้อย่างกว้างขวาง รวมถึงสามารถใช้ดุลยพินิจในการให้การยกเว้นในกรณีพิเศษ ดังนั้น คุณจึงยื่นคำร้องขอการยกเว้นเหล่านั้น คำขอของคุณจะ ได้รับการอนุมัติหรือไม่?
ครุกแมนอธิบายว่า โดยหลักการแล้ว คำตอบควรขึ้นอยู่กับว่าการต้องจ่ายภาษีศุลกากรเหล่านั้นสร้างความยากลำบากจริงหรือไม่ และคุกคามงานของชาวอเมริกันหรือไม่ แต่ในทางปฏิบัติ คุณสามารถเดาได้อย่างง่ายดายว่าเกณฑ์อื่นๆ จะ มีบทบาท เช่น คุณบริจาคเงินให้กับพรรครีพับลิกันไปเท่าได เมื่อคุณจัดการประชุมสัมนาทางธุรกิจคุณได้จัดที่สนามกอล์ฟ และรีสอร์ทของทรัมป์หรือไม่
ครุกแมนระบุว่า เขาไม่ได้กำลังเดาเล่นๆ ทรัมป์ขึ้นภาษีศุลกากรสำหรับสินค้านำเข้าจำนวนมากในช่วงดำรงตำแหน่งวาระแรก และธุรกิจหลายแห่งได้ยื่นขอรับการยกเว้น แล้วใครได้รับยกเว้นบ้าง
การวิเคราะห์ทางสถิติที่เผยแพร่เมื่อไม่นาน นี้พบว่าบริษัทที่มีความเกี่ยวข้องกับพรรครีพับลิกัน ซึ่งวัดจากเงินบริจาคเพื่อการหาเสียงในปี 2016 มีแนวโน้มสูงกว่าอย่างมีนัยสำคัญ ส่วนบริษัทที่มีความเกี่ยวข้องกับพรรคเดโมแครตมีแนวโน้มได้รับการอนุมัติตามคำขอน้อยกว่า
เรื่องเก่านี้เป็นเพียงการซ้อมเล็กๆ น้อยๆ สำหรับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต แม้ว่าจะยังไม่มีรายละเอียดแต่ข้อเสนอภาษีศุลกากรที่ทรัมป์ประกาศในช่วงหาเสียงมีขอบเขตกว้างกว่ามาก และในกรณีของจีนสูงกว่าข้อเสนอใดๆ ที่เกิดขึ้นในครั้งแรกมาก ด้วยเหตุนี้ศักยภาพในการเอื้อประโยชน์ทางการเมืองจะมีมากขึ้นด้วย
- ทุนนิยมพวกพ้องคืออะไร
ครุกแมนกล่าวว่า ตามที่เขาเข้าใจ คำว่า “ทุนนิยมพวกพ้อง” (Crony Capitalism) ถูกประดิษฐ์ขึ้นเพื่ออธิบายถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศฟิลิปปินส์ภายใต้การปกครองแบบเผด็จการ ของประธานาธิบดีเฟอร์ดินันด์ มาร์กอส ซึ่งปกครองประเทศตั้งแต่ปี 1965 ถึง 1986
คำว่า “ทุนนิยมพวกพ้อง” หมายความถึงเศรษฐกิจที่ความสำเร็จทางธุรกิจขึ้นอยู่กับการมีคอนเนกชั่นที่เหมาะสมมากกว่าการบริหารจัดการที่ดี ซึ่งมักได้มาจากการให้ความช่วยเหลือทางการเมืองหรือทางการเงินแก่ผู้มีอำนาจ ตัวอย่างเช่น ในฮังการีของนายกรัฐมนตรี วิกเตอร์ ออร์บัน องค์กรความโปร่งใสระหว่างประเทศ (Transparency International) ประมาณการว่ามากกว่าหนึ่งในสี่ของเศรษฐกิจถูกควบคุมโดยธุรกิจที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพรรคการเมืองรัฐบาล
- แนวโน้มที่จะเกิดทุนนิยมพวกพ้องในอเมริกา
ครุกแมนกล่าวว่า มีการวิเคราะห์มากมายเกี่ยวกับผลกระทบทางเศรษฐกิจมหภาคที่อาจเกิดขึ้นจากภาษีของทรัมป์ “ซึ่ง หากภาษีนั้นสูงมากใกล้เคียงกับที่ทรัมป์เสนอ ก็อาจทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้ออย่างรุนแรงได้ อย่างไรก็ตาม อาจกล่าวได้ว่าผลกระทบของการใช้ภาษีเป็นเครื่องมือในการฉ้อฉลนั้นจะรุนแรงยิ่งกว่าในระยะยาว”
- เหตุใดภาษีศุลกากรจึงเปิดโอกาสให้เกิดการฉ้อฉลได้ มากกว่าภาษีประเภทอื่น?
ครุกแมนชี้ว่า เนื่องจากการดำเนินการภายใต้กฎหมายของสหรัฐนั้นเปิดโอกาสให้ฝ่ายบริหารบังคับใช้ได้ตามดุลพินิจได้อย่างกว้างขวาง รัฐมนตรีกระทรวงการคลังไม่สามารถยกเว้นภาษีเงินได้ให้กับเพื่อนของเขาได้ แม้ว่าแอนดรูว์ เมลลอนจะแจกส่วนลดภาษีรายได้ที่ไม่ชอบมาพากลอย่างยิ่งในช่วงทศวรรษ ปี 1920s อย่างไรก็ตาม ประธานาธิบดีสหรัฐสามารถยกเว้นภาษีศุลกากรให้กับคนในเครือข่ายของเขาได้
ครุกแมนถามว่า มีใครเชื่อจริงๆ ไหมว่ารัฐบาลทรัมป์จะมีจริยธรรมเกินกว่าที่จะทำเช่นนั้น? “ทรัมป์เองก็เคยโอ้อวด เกี่ยวกับความสามารถในการเล่นกับระบบ เขาโอ้อวดว่าการไม่จ่ายภาษีในส่วนที่สมควรต้องจ่าย ทำให้เขาเป็นคน ฉลาด” ครุกแมน กล่าว
- การเนรเทศต่างชาติอาจจะนำไปสู่ทุนนิยมพวกพ้อง
ภาษีศุลกากรจะเป็นเครื่องมือหลักเพียงอย่างเดียวที่มีศักยภาพสร้างทุนนิยมพวกพ้องภายใต้รัฐบาลชุดใหม่หรือไม่ยังเป็นเรื่องที่น่าสงสัย ขณะที่แผนการเนรเทศของทรัมป์ยังเปิดโอกาสมากมายสำหรับการเลือกปฏิบัติโดยฝ่ายบริหาร อีกด้วย
ที่ปรึกษาของทรัมป์บางคน โดยเฉพาะสตีเฟน มิลเลอร์ ดูเหมือนจะจินตนาการว่าพวกเขาสามารถกวาดล้างผู้อพยพเข้าอเมริกาโดยผิดกฎหมาย ได้อย่างรวดเร็ว
ด้วยการจับกุมผู้คนนับล้านคนและนำไปขังใน “สถานกักขังขนาดใหญ่” แม้ว่าปัญหาทางกฎหมายจะเป็นอีกเรื่องหนึ่ง การดำเนินการดังกล่าวอาจเป็นไปไม่ได้ในเชิงโลจิสติกส์ สิ่งที่น่าจะเกิดขึ้นคือความพยายามบังคับใช้กฎหมายที่กระจัดกระจายไม่เป็นระบบเป็นเวลาหลายปี โดยมีการบุกจับ ธุรกิจต่างๆ ที่ต้องสงสัยว่าจ้างผู้อพยพไร้เอกสาร
แต่เกณฑ์ใดที่จะตัดสินว่าธุรกิจใดจะเป็นเป้าหมายหลักในการบุกจับดังกล่าว และธุรกิจใดจะถูกปล่อยไว้ตามลำพังโดย ได้รับการยกเว้นเป็นเวลาหลายปี
ครุกแมนเห็นว่า นอกจากภาษีการเนรเทศคนต่างชาติแล้วยัง มีเครื่องมืออีกมาก ตัวอย่างเช่น ทรัมป์เสนอให้เพิกถอนใบอนุญาตของเครือข่ายโทรทัศน์ที่รายงานข่าวไม่เข้าข้างเขา
- ผลกระทบของทุนนิยมพวกพ้อง
ครุกแมนตั้งประเด็นว่า หากทุนนิยมพวกพ้องกำลังจะเกิดขึ้น แล้วจะส่งผลกระทบต่ออเมริกาอย่างไร? เขาชี้ว่า ชัดเจนว่า ทุนนิยมพวกพ้องจะส่งผลเสียต่อประชาธิปไตย ทั้งจากการช่วยล็อกข้อได้เปรียบทางการเงินจำนวนมากของพรรครีพับลิกัน และการรับประกันการแสดงความเห็นสนับสนุนทรัมป์จากแวดวงธุรกิจ ไม่ว่านโยบายของเขาจะสร้างความเสียหาย มากมายเพียงใดก็ตาม นอกจากนี้ยังจะทำให้ทรัมป์และผู้คน รอบข้างเขาร่ำรวยขึ้นด้วย
ครุกแมนเตือนว่า นอกจากนั้น ระบบที่ให้รางวัลแก่ธุรกิจโดยพิจารณาจากความสัมพันธ์ทางการเมืองนั้นย่อมส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างแน่นอน หลายคนได้อธิบายปรากฎการณ์เศรษฐกิจที่ย่ำแย่ของอิตาลีในช่วงหลายชั่วอายุคนที่ผ่านมานั้น เกิดจากระบบพวกพ้องที่แพร่หลาย การศึกษาเมื่อเร็วๆ นี้พบว่า “ระบอบประชานิยม ไม่ว่าจะเป็นฝ่าย ซ้ายหรือฝ่ายขวา ซึ่งโดยทั่วไปแล้วถือว่าเป็นระบอบทุนนิยม พวกพ้อง มักจะส่งผลกระทบให้การเติบโตในระยะยาวลดลง ประมาณ1%ในแต่ละปี” เขาอ้างถึงงานศึกษาเรื่องต้นทุนของนโยบายประชานิยม “The cost of populism: Evidence from history” โดย สามนักเศรษฐศาสตร์ Moritz Schularick , Christoph Trebesch และ Manuel Funke ที่เผยแพร่ในปี 2021
ครุกแมนสรุปว่า เวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์ หลักฐานบ่งชี้ว่ากฎ เกณฑ์ในการประสบความสำเร็จในธุรกิจของอเมริกากำลังจะเปลี่ยนแปลงไปและไม่ใช่ในทางที่ดีด้วย