ถอดรหัสโครงการ ITEC ‘อินเดียไม่ธรรมดา’
ไทยกับอินเดียผูกพันกันมานานด้วยศาสนา (พุทธ) ภาษา (สันสกฤต) และวัฒนธรรม (รามายณะ) แต่ในโลกยุคใหม่ความร่วมมือทางวิชาการและเศรษฐกิจ เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือของความสัมพันธ์
สถานเอกอัครราชทูตอินเดียประจำประเทศไทยจัดงาน ITEC Day (Indian Technical and Economic Cooperation) เมื่อวันที่ 26 พ.ย. รวมพลคนไทยผู้ได้รับทุนจากโครงการ ITEC และอื่นๆ มาพบปะสังสรรค์แลกเปลี่ยนมุมมอง ช่วยให้เห็นภาพความก้าวหน้าของอินเดียในหลากหลายสาขา
เอกอัครราชทูตนาเกซ ซิงห์ กล่าวว่า โครงการวิชาการและเศรษฐกิจของอินเดีย (ITEC) เป็นโครงการเรือธงเพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถระหว่างประเทศของรัฐบาลอินเดีย เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 15 ก.ย.1964 นับถึงขณะนี้ประชาชนเข้าร่วมโครงการกว่า 200,000 คน จาก160 ประเทศ
ITEC ถือเป็นโครงการพัฒนาขีดความสามารถระหว่างประเทศที่เก่าแก่ที่สุดและดำเนินมาอย่างยาวนานที่สุด เน้นมนุษย์เป็นศูนย์กลางการพัฒนา หลักสูตร ITEC ครอบคลุมหลายภาคส่วน อาทิ เกษตรกรรม ไอที เทคโนโลยีไซเบอร์ การดูแลสุขภาพ การศึกษา การธนาคารและการเงิน สิ่งแวดล้อม การพัฒนาชนบท ภาษาอังกฤษ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การจัดการทรัพยากรน้ำ การป้องกันประเทศและความมั่นคง เป็นต้น
ในประเทศไทยมีผู้เชี่ยวชาญในสาขาวิชาชีพทั้งจากภาคกลาโหมและพลเรือน เข้าร่วมอบรมในหลักสูตรต่างๆ ภายใต้โครงการ ITEC กว่า 1,000 คน
“หลักสูตร ITEC สำหรับบุคลากรด้านกลาโหมมีความสำคัญอันพิเศษยิ่ง การเข้าร่วมหลักสูตรต่างๆ ของบุคลากรด้านกลาโหมจากประเทศไทยในช่วงกว่าทศวรรษที่ผ่านมามีส่วนช่วยอย่างยิ่งต่อการส่งเสริมความเข้าใจและความร่วมมือระหว่างกองทัพของเราให้ดียิ่งขึ้น” ทูตอินเดียกล่าว
- อ่านอินเดียจากปากคำศิษย์เก่า
บุคลากรไทยที่ได้รับทุนรัฐบาลอินเดียผ่านโครงการ ITEC หรือ ICCR (สภาวัฒนธรรมสัมพันธ์แห่งอินเดีย) ได้ไปร่ำเรียนในหลากหลายสาขาต่างเห็นโอกาสของประเทศนี้ เริ่มต้นจากเจ้าของรางวัลศิษย์เก่าดีเด่นในปีนี้ ผศ.ดร.ปิยณัฐ สร้อยคำ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายสื่อสารองค์กรและพันธกิจสัมพันธ์ และผู้อำนวยการก่อตั้งศูนย์อินเดียศึกษา มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ที่ไปศึกษาปริญญาโท คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุสมาเนียในไฮเดอาบัด ระหว่างปี 2011-2013 เรียกได้ว่าไปเรียนที่อินเดียตั้งแต่คนไทยยังไม่เห็นโอกาส
“แต่ด้วยความที่เราเรียนรัฐศาสตร์ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จึีงเห็นอินเดียที่กำลังเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นประชากร ขนาดเศรษฐกิจ เทคโนโลยี ระบบการศึกษา การไปเรียนต่อที่อินเดียจะช่วยเติมเต็มโอกาสเมื่ออินเดียเติบโตเป็นมหาอำนาจได้ทันที”
สิ่งที่่ผศ.ดร.ปิยณัฐคาดการณ์ไว้ไม่ผิดเลย ถึงวันนี้ 77 ปีหลังเอกราชอินเดียได้พิสูจน์ตนเองแล้วว่า สามารถเปลี่ยนจากประเทศยากจนมากมาเป็นประเทศที่ก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีได้
จากอินเดีย ผศ.ดร.ปิยณัฐไปเรียนต่อที่สหราชอาณาจักร ทำวิทยานิพนธ์เรื่องนโยบายต่างประเทศอินเดียต่อเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สรุปได้ว่า
1. อินเดียให้ความสำคัญกับวัฒนธรรม ด้วยความยิ่งใหญ่ทางด้านนี้ทำให้อินเดียเชื่อมโยงกับหลายๆ ประเทศได้แม้เป็นประเทศห่างไกล เช่น ฟิลิปปินส์มีรากฐานภาษาสันสกฤต มอริเชียสมีรากฐานด้านผู้คน วัฒนธรรมจึงเป็นแต้มต่อไปที่ไหนก็จะเจอดีเอ็นเอของอินเดียอยู่ในนั้น
2. เคารพการตัดสินใจของประเทศต่างๆ สนใจทำงานร่วมกันในกรอบพหุภาคี เช่น BIMSTEC, แม่โขง-คงคา, อาเซียน-อินเดีย
3. อยากเป็นมหาอำนาจผู้รักสันติ กองกำลังอินเดียที่ใหญ่เป็นอันดับต้นๆของโลก ไม่ได้มีไว้รบกับใครแต่มีเพื่อรักษาสันติภาพ ดูแลแก้ปัญหาภัยพิบัติ และที่สำคัญคืออินเดียเป็นมหาอำนาจประชาธิปไตย เป็นต้นแบบให้กับประเทศกำลังพัฒนาหลายๆ ประเทศ
“เมื่อก่อนคนพูดว่า ต้องรวยก่อนถึงจะเป็นประชาธิปไตยได้ แต่อินเดียทำให้เห็นว่าประชาธิปไตยสามารถเกิดขึ้นได้ในทุกสถานการณ์ และเป็นเครื่องมือที่ทำให้อินเดียกลายเป็นอินเดียในปัจจุบัน”
4. การพัฒนาที่มีมนุษย์เป็นศูนย์กลาง ไม่เน้นถาวรวัตถุแต่เน้นการสร้างคน สร้างงานวิจัย การฝึกอบรมตามโครงการ ITEC สะท้อนให้เห็นว่า องค์ความรู้ของอินเดียนอกจากให้คนในประเทศตนเองแล้ว ยังเปิดให้คนทั่วโลกได้เข้าไปศึกษาเรียนรู้
“ความเหลื่อมล้ำ ความจน ทุกประเทศมี แต่รัฐธรรมนูญอินเดียกำหนดชัดเจนว่า รัฐต้องมีหน้าที่สร้างความเสมอภาคให้กับคน แม้ 1,400 ล้านคนไม่สามารถสร้างได้ทุกคนภายในระยะเวลาอันสั้นแต่เป็นความพยายาม” ผศ.ดร.ปิยณัฐกล่าวถึงจุดแข็งที่บางคนมองเป็นจุดอ่อน และว่า อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของอินเดียสูงที่สุดในโลก อัตราการรู้หนังสือเพิ่มขึ้น มีนโยบายให้หมู่บ้านพัฒนาตนเองได้ เงินลงไปถึงเพื่อยกระดับเศรษฐกิจครัวเรือน กลายเป็นตัวขับเคลื่อนทุกองคาพยพของประเทศ อินเดียจึงเป็นตัวแบบการพัฒนาคนและความเหลื่อมล้ำได้เร็วที่สุดประเทศหนึ่ง
- จากมุมมองรัฐศาสตร์สู่มุมมองกลาโหม
น.อ.เอกอนันต์ แช่มชัยกุลวัฒน์ ผู้ได้ทุนการศึกษาจากรัฐบาลอินเดียสำเร็จหลักสูตร National Defence College ทำวิทยานิพนธ์เรื่องความสัมพันธ์ไทย-อินเดียในทศวรรษหน้า 2023-2033 กล่าวสรุปว่า อินเดียคือโอกาสที่ไทยไม่ควรมองผ่านในภูมิรัฐศาสตร์โลก ไทยมีความโชคดีในด้านภูมิรัฐศาสตร์ อินโดแปซิฟิกเป็นภูมิภาคสำคัญที่มหาอำนาจอย่างสหรัฐต้องกำหนดเป็นยุทธศาสตร์ ซึ่งไทยกับสหรัฐมีความสัมพันธ์กันยาวนานกว่า 190 ปี ซ้อมรบกันเป็นประจำทุกปี เช่น การฝึก Cobra Gold
ขณะเดียวกันชาติมหาอำนาจที่ท้าทาย US อย่างจีน ก็มียุทธศาตร์ BRI (Belt and Road) ที่ขยายอิทธิพลในภูมิรัฐศาสตร์โลกเช่นกันและมีการฝึกทางทหารในไทยเป็นประจำทุกปี เช่น Falcon Strike และอื่นๆ
หลังเสร็จสิ้นสงครามโลกครั้งที่ 2 โลกมีหลายขั้วอำนาจ (Multipolar) ปีนี้ไทยสมัครเข้าร่วมกลุ่ม BRICS ที่อินเดียเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง น.อ.เอกอนันต์มองว่า เก้าอี้สองขา (สหรัฐ-จีน) ย่อมไม่มั่นคงเท่าเก้าอี้สามขาที่มีอินเดียเพิ่มเข้ามา
“ในมุมมองด้านกลาโหม อินเดียมีเทคโนโลยีทางทหาร (บก/เรือ/อากาศ), ไซเบอร์และอวกาศและนิวเคลียร์ ทั้งอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ และนโยบาย Act East Policy ที่สำคัญ เราไม่ควรมองผ่านโอกาส ควรยกระดับกระชับสัมพันธ์ เช่น การฝึก Siam Bharat และความร่วมมือด้านอื่นๆ ให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น ก็เพื่อผลประโยชน์แห่งชาติของเรา”
- ชาวอินเดียเที่ยวไทยยอดพุ่ง
ศิริพร วงศ์เสนาอารี เลขานุการกลุ่มงานอำนวยการด้านนโยบายและแผน การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ร่ำเรียนในอินเดียนานถึง 18 ปี พูดได้ทั้งภาษาคุชราตและฮินดี เผยว่า ปีนี้นักท่องเที่ยวอินเดียเข้ามาเที่ยวไทยเพิ่มขึ้นมากจนเซอร์ไพรส์ ททท.ตั้งเป้าไว้ที่ 2 ล้านคน ขณะนี้ใกล้ถึงเป้าแล้ว
“คนอินเดียชอบความสนุกสนาน มาเมืองไทยเพื่อรีแล็กซ์ เมืองไทยเป็นจุดหมายปลายทางที่ใกล้ที่สุดเดินทางเข้ามาง่ายที่สุด คนอินเดียคุ้นเคยกับประเทศไทย” ศิริพรกล่าวโดยมองว่า ปัจจัยที่สนับสนุนให้ตัวเลขนักท่องเที่ยวเพิ่มมากมาจากนโยบายฟรีวีซ่าที่มีแผนขยายออกไปเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มากเพิ่มขึ้นไปอีก รวมถึงเศรษฐกิจอินเดียกำลังโต
“เมื่อมีอำนาจซื้อมากขึ้นคนก็เริ่มอยากเดินทางออกนอกประเทศมากขึ้น ก็คิดถึงประเทศไทยเป็นอันดับแรก”
ในฐานะคนทำงานด้านนโยบายการท่องเที่ยว ศิริพรแนะนำว่าคนอินเดียชอบความง่าย จ่ายครั้งเดียวจบ ไทยควรเจาะตลาดนักท่องเที่ยวอินเดียเฉพาะกลุ่ม เช่น กลุ่มครอบครัว กลุ่มเกษียณ กลุ่มวัยรุ่น กลุ่มที่ต้องการเข้ามาแต่งงานในประเทศไทย ยิ่งไทยมีกฎหมายสมรสเท่าเทียมสามารถดึงกลุ่ม LGBTQ+ มาแต่งงานในไทยได้