เริ่ม ม.ค. 68 ! เด็กออสเตรเลียอายุต่ำกว่า 16 ‘ห้ามเล่นโซเชียล’ 1 ปี

เริ่ม ม.ค. 68 ! เด็กออสเตรเลียอายุต่ำกว่า 16 ‘ห้ามเล่นโซเชียล’ 1 ปี

ออสเตรเลียผ่านร่างกฎหมาย ห้ามเด็กอายุต่ำกว่า 16 ปี เล่นโซเชียลมีเดีย โดยจะเริ่มบังคับใช้ เดือน ม.ค. 2568 และจะมีผลบังคับใช้เพียง 1 ปีก่อน

ออสเตรเลีย อนุมัติกฎหมาย ห้ามเด็กอายุต่ำกว่า 16 ปี เล่นโซเชียลมีเดีย ซึ่งถือเป็นหนึ่งกฎหมายแบนโซเชียลมีเดีย ที่เข้มงวดที่สุดในโลก และอาจส่งผลกระทบต่อบิ๊กเทคยักษ์ใหญ่หลายราย ที่ต้องดำเนินการจำกัดอายุผู้ใช้งานตามกฎหมายใหม่

กฎหมายดังกล่าว จะมีผลให้บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ตั้งแต่ อินสตาแกรม (Instagram) และเมตา (Meta) บริษัทแม่เฟซบุ๊ก ไปจนถึงติ๊กต็อก (TikTok) ต้องดำเนินการห้ามให้เยาวชนอายุต่ำกว่า 16 ปี เข้าถึงโซเชียลมีเดีย

หากละเมิดจะมีโทษปรับสูงสุด 49.5 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย (32 ล้านดอลลาร์) และทดลองใช้กฎหมายนี้จะมีผลในเดือนม.ค. 2568 โดยจะบังคับใช้เพียง 1 ปี

กฎหมายอายุขั้นต่ำในการใช้โซเชียลมีเดีย ทำให้ออสเตรเลียกลายเป็นต้นแบบของการทดสอบกฎหมาย สำหรับหลายรัฐบาลที่ได้ออกกฎหมายหรือมีแผนจะออกกฎหมายจำกัดอายุการใช้โซเชียล ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับสุขภาพจิตของคนรุ่นใหม่

การผ่านร่างกฎหมายดังกล่าวหลังจากผ่านการหารือมาอย่างยาวนานในวันสุดท้าย ถือเป็นชัยชนะทางการเมืองสำหรับนายกรัฐมนตรีแอนโทนี อัลบาเนซี ของออสเตรเลีย ที่จะลงสมัครเลือกตั้งในปี 2568 ท่ามกลางคะแนนนิยมที่ลดลง

แม้กฎหมายดังกล่าวถูกคัดค้านจากกลุ่มผู้สนับสนุนเอกชนและกลุ่มสิทธิเด็กบางกลุ่ม แต่จากการสำรวจล่าสุดพบว่า 77% ของประชากรต้องการให้กฎหมายนี้ได้รับการอนุมัติ

บริษัทโซเชียลกังวลเรื่องกฎหมาย

ตัวแทนจากบริษัทเมตา ออกมาบอกว่า บริษัทเคารพกฎหมายของออสเตรเลีย แต่มีความกังวลเกี่ยวกับกระบวนการอนุมัติกฎหมายที่เร่งให้มีการตรากฎหมาย โดยมีความล้มเหลวในการพิจารณาหลักฐานอย่างเหมาะสม ทั้งการดำเนินการมอบประสบการณ์ที่เหมาะสมตามวัย และความคิดเห็นจากคนรุ่นใหม่

ตัวแทนจากเมตาระบุว่า ภารกิจของบริษัทตอนนี้คือ ทำให้มั่นใจว่า มีการรปรึกษาหารือเรื่องกฎระเบียบที่เกี่ยวกับกับกฎหมายอย่างสร้างสรรค์ เพื่อให้แน่ใจว่าผลลัพธ์ทางเทคนิคไม่สร้างภาระให้พ่อแม่และวัยรุ่น และมีความมุ่งมั่นว่ากฎเกณฑ์ต่างๆ จะถูกนำไปใช้กับแอปโซเชียลอย่างสอดคล้องกัน

สแนป (Snap) บริษัทแม่สแนปแชท (Snapchat) เผยว่า จะปฏิบัติตามกฎหมายและกฎระเบียบในออสเตรเลีย แต่ได้แสดงความกังวลอย่างมากต่อกฎหมายที่เพิ่งได้รับการอนุมัตินี้ โดยตัวแทนจากสแนประบุในอีเมลว่า

“แม้มีคำถามมากมายที่ยังไม่ได้รับคำตอบว่า ในทางปฏิบัติกฎหมายนี้จะถูกนำไปใช้อย่างไร เราจะมีส่วนร่วมอย่างใกล้ชิดกับรัฐบาลและคณะกรรมาธิการด้านความปลอดภัยทางอิเล็กทรอนิกส์ตลอดระยะเวลาบังคับใช้กฎหมาย 12 เดือนอย่างไร เพื่อช่วยพัฒนาแนวทางที่สร้างสมดุลระหว่างความเป็นส่วนตัว ความปลอดภัย และการใช้งานจริง”

หลายบริษัท รวมทั้งกูเกิล (Google) ของอัลฟาเบท (Alphabet) ได้ออกมาโต้แย้งก่อนหน้านี้ว่า ควรเลื่อนการอนุมัติกฎหมายไปก่อน จนกว่าจะมีผลการทดลองเกี่ยวกับระบบยืนยันอายุเข้าใช้โซเชียลมีเดีย ขณะที่ยูทูบในเครือของกูเกิล ได้รับการยกเว้นในกฎหมาย เพราะเป็นช่องทางที่สถาบันการศึกษาใช้งานอย่างแพร่หลาย

ซูนิทา โบส กรรมการผู้จัดการกลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัล ที่มีบริษัทโซเชียลมีเดียเป็นสมาชิกอยู่มากมาย บอกว่า กลุ่มอุตสาหกรรมได้รับกฎหมาย แต่ไม่ได้รับคำแนะนำจากรัฐบาลออสเตรเลียเกี่ยวกับวิธีการที่ถูกต้องในการให้บริการต่างๆ ภายใต้กรอบกฎหมายใหม่นี้

หลายฝ่ายมีความเห็นต่างในกฎหมายใหม่

กลุ่มสนับสนุนสิทธิเยาวชนและสถาบันวิชาการ ได้ออกมาเตือนกฎหมายห้ามเด็กใช้โซเชียล อาจทำให้เยาวชนกลุ่มเปราะบางที่สุด รวมถึงกลุ่มวัยรุ่น LGBTQIA และกลุ่มผู้อพยพ ถูกตัดขาดจากเครือข่ายที่ให้การสนับสนุน

ขณะที่คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนออสเตรเลียกล่าวว่า กฎหมายดังกล่าวอาจละเมิดสิทธิมนุษยชนของเยาวชน ด้วยการขัดขวางการมีส่วนร่วมในสังคม

กลุ่มสิทธิภาคเอกชน ก็เตือนว่า กฎหมายใหม่จะนำไปสู่การเก็บข้อมูลส่วนตัวเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเปิดทางให้รัฐได้เฝ้าระวังข้อมูล จากการใช้ข้อมูลระบุตัวตนทางดิจิทัล อย่างไรก็ตาม กฎหมายใหม่ระบุว่า แพลตฟอร์มต่างๆ ต้องเสนอทางเลือกอื่นนอกเหนือจากการให้ผู้ใช้อัปโหลดเอกสารระบุตัวตน

ในบรรดาผู้ปกครองกลับเห็นด้วยกับความเห็นของวิเวก มูรติ ศัลยแพทย์ทั่วไปของสหรัฐที่เคยกล่าวไว้เมื่อปี 2566 ว่าโซเชียลมีเดียทำให้วิกฤติสุขภาพจิตของเยาวชนเลวร้ายลง จนถึงจุดที่ควรมีการเตือนด้านสุขภาพ

อาลี ฮัลคิก ผู้สนับสนุนการต่อต้านการกลั่นแกล้งชาวออสเตรเลีย ที่ลูกชายวัย 17 ของเขาฆ่าตัวตายเพราะถูกบูลลี่ในโซเชียลมีเดียเมื่อปี 2552 บอกว่า ควรเริ่มจากจำกัดอายุและให้อำนาจควบคุมอยู่ที่ผู้ปกครอง

เอนี่ แลม นักเรียนในซิดนีย์ที่เพิ่งอายุครบ 16 ปี บอกว่า โซเชียลมีเดียมีส่วนทำให้เกิดปัญหาด้านภาพลักษณ์ทางร่างกาย และทำให้มีการกลั่นแกล้งทางไซเบอร์ แต่การแบนที่เข้มงวดอาจทำให้เด็กเข้าถึงส่วนต่างๆ ของอินเทอร์เน็ตที่อันตรายกว่ามากก็ได้

“พวกเรารู้ว่าโซเชียลมีเดียไม่ดีต่อเรา แต่การแบนอาจทำให้คนรุ่นใหม่ต่อต้านกฎหมายดังกล่าว”

 

อ้างอิง: Reuters