‘สงครามชิป’ ระอุ! สหรัฐยกระดับปิดล้อมเทคฯ จีน อุตสาหกรรมชิปโลกปั่นป่วน
ศึกเทคโนโลยีสหรัฐ - จีนทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ เมื่อสหรัฐงัด ‘อาวุธทางเศรษฐกิจ’ ด้วยการยกระดับสกัดกั้นจีนไม่ให้เข้าถึงเทคโนโลยีขั้นสูง โดยเฉพาะด้านเซมิคอนดักเตอร์ และปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งอาจก่อให้เกิดปฏิกิริยาลูกโซ่ต่อห่วงโซ่อุปทานชิปทั่วโลก
KEY
POINTS
- สหรัฐออกกฎระเบียบใหม่ “FDPR” ห้ามส่งออกชิ้นส่วนเทคโนโลยีสำคัญไปยังจีน โดยครอบคลุมอุปกรณ์ที่ผลิตในต่างประเทศด้วย
- กฎควบคุมการขายชิปหน่วยความจำของสหรัฐ นอกจากกระทบจีนแล้ว ยังมีแนวโน้มกระทบต่อ “SK Hynix” และ “Samsung Electronics” รวมถึง “Micron Technology”
- จีนวิจารณ์สหรัฐว่า ใช้มาตรการควบคุมการส่งออกในทางที่ผิดและใช้นโยบายข่มขู่ฝ่ายเดียว พร้อมเสริมว่า “จีนจะใช้มาตรการที่จำเป็นเพื่อปกป้องสิทธิ และผลประโยชน์ของตนเองอย่างเด็ดขาด”
ท่ามกลางความก้าวหน้าเทคโนโลยีจีนที่รุดหน้าอย่างรวดเร็ว จนอาจขึ้นมา “แทนที่” สหรัฐได้ในไม่ช้า ด้วยเหตุนี้ สหรัฐจึงแก้เกมด้วยการประกาศ “มาตรการควบคุมใหม่” เพื่อจำกัดจีนในการเข้าถึงชิ้นส่วนผลิตชิป และเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งเป็นการยกระดับมาตรการที่มีอยู่เดิม เพื่อสกัดเทคโนโลยีจีนไม่ให้ไล่ตามสหรัฐทัน
สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานว่า กระทรวงพาณิชย์สหรัฐได้ออกกฎควบคุมใหม่ในการขายชิปหน่วยความจำความเร็วสูงที่ผลิตโดยบริษัทสหรัฐ และต่างชาติ ซึ่งนอกจากกระทบจีนแล้ว ยังมีแนวโน้มกระทบต่อ “SK Hynix” และ “Samsung Electronics” บริษัทชิปของเกาหลีใต้ รวมถึง “Micron Technology” ของสหรัฐด้วย โดยชิ้นส่วนสำคัญเหล่านี้ใช้ในการจัดเก็บข้อมูล และแอปพลิเคชัน AI
นอกจากนี้ สหรัฐยังขยายขอบเขตการควบคุมอุปกรณ์ผลิตชิป ซึ่งรวมถึงอุปกรณ์ที่ผลิตโดยบริษัทอเมริกันในต่างประเทศ โดยมีการ “ยกเว้น” ให้กับประเทศพันธมิตรสำคัญอย่าง “ญี่ปุ่น” และ “เนเธอร์แลนด์” หลังจากการเจรจาที่ยาวนานระหว่างสหรัฐ ญี่ปุ่น และเนเธอร์แลนด์
แม้ว่าในช่วงการเจรจาจะมีการเสนอให้ขยายขอบเขตการควบคุมไปยังบริษัทเซมิคอนดักเตอร์ของญี่ปุ่น และเนเธอร์แลนด์อย่าง Tokyo Electron และ ASML แต่สุดท้ายก็ไม่ได้มีการดำเนินการในส่วนนี้
เมื่อมาตรการควบคุมชิปใหม่ออกมา หุ้นของบริษัทผลิตอุปกรณ์เซมิคอนดักเตอร์ของสหรัฐ รวมถึง Lam Research, Applied Materials และ KLA ปรับตัวสูงขึ้น ส่วนในเอเชีย Tokyo Electron พุ่งขึ้นสูงสุด 4.8% ขณะที่หุ้นกลุ่มบริษัทจีนที่ถูกแบน รวมถึง Naura Technology Group ร่วงลง ด้าน ASML ระบุในแถลงการณ์ว่า บริษัทไม่คาดหวังว่าจะมีผลกระทบที่สำคัญต่อธุรกิจในปีนี้
“สหรัฐได้ตัดสินใจห้ามการส่งออกชิปหน่วยความจำความเร็วสูง (HBM) ไปยังจีน ซึ่งก็เป็นไปตามที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้” แอนดรูว์ แจ็คสัน (Andrew Jackson) นักวิเคราะห์จากบริษัทที่ปรึกษา Ortus Advisors กล่าว “อย่างไรก็ตาม ความยินดีที่เกิดขึ้นอาจไม่ยืนยาว เนื่องจากการเข้ามาของประธานาธิบดีทรัมป์ในเดือนมกราคม มีแนวโน้มใช้นโยบายที่เข้มงวดต่อจีนมากขึ้นไปอีก”
สหรัฐเตะตัดขาจีน จีนเดือด จ่อตอบโต้กลับ
ทั้งนี้ เป้าหมายของรัฐบาลไบเดนคือ การชะลอการพัฒนาเซมิคอนดักเตอร์ขั้นสูง และระบบปัญญาประดิษฐ์ของจีนให้ช้าลง ซึ่งจีนอาจใช้ในกองทัพ โดยสำนักงานคณะกรรมการอุตสาหกรรม และความปลอดภัยของกระทรวงพาณิชย์แถลงว่า
“สหรัฐจะจำกัดความสามารถของจีนในการผลิตเทคโนโลยีที่สำคัญต่อการพัฒนากองทัพ หรือใช้ปราบปรามสิทธิมนุษยชน”
ด้านจีนคัดค้านอย่างรุนแรงต่อข้อจำกัดด้านชิปใหม่ โดยวิจารณ์การกระทำของสหรัฐว่า เป็นการบังคับทางเศรษฐกิจที่คุกคามห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกอย่างรุนแรง
กระทรวงพาณิชย์จีนแถลงตอบโต้ว่า “สหรัฐยังคงทำให้แนวคิดเรื่องความมั่นคงแห่งชาติเป็นเรื่องทั่วไป ใช้มาตรการควบคุมการส่งออกในทางที่ผิด และใช้นโยบายข่มขู่ฝ่ายเดียว” พร้อมเสริมต่อว่า “จีนจะใช้มาตรการที่จำเป็นเพื่อปกป้องสิทธิ และผลประโยชน์ของตนเองอย่างเด็ดขาด”
บัญชีดำบริษัทจีนพุ่งแตะ 140 แห่ง
สำหรับกฎใหม่ด้านชิปได้เพิ่มบริษัทจีนอีก 140 แห่งเข้าไปในบัญชีดำ โดยสหรัฐ กล่าวหาว่า บริษัทเหล่านี้กระทำการเพื่อผลประโยชน์ของรัฐบาลจีน โดยเฉพาะหนึ่งในบริษัทที่ถูกกล่าวถึงคือ “Dongfang Jingyuan” ซึ่งเป็นคู่แข่งด้านซอฟต์แวร์ลิโทกราฟีของ ASML บริษัทผลิตเครื่องผลิตชิปชั้นนำของเนเธอร์แลนด์ โดย ASML ได้กล่าวหาว่า Dongfang Jingyuan ขโมยความลับทางการค้าของบริษัท
นอกจากนี้ มาตรการคว่ำบาตรยังส่งผลกระทบต่อซัพพลายเออร์ของ Huawei Technologies ยักษ์ใหญ่โทรคมนาคมของจีน โดยบริษัทเครือข่ายที่ป้อนเซมิคอนดักเตอร์ให้ Huawei อาทิ SiCarrier , Qingdao Si’En, SwaySure และ Shenzhen Pensun Technology ก็ถูกสหรัฐขึ้นบัญชีดำ
อย่างไรก็ตาม กฎระเบียบใหม่ที่ออกมาในครั้งนี้ ดูเหมือนผ่อนปรนกว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ ส่งผลให้ราคาหุ้นของบรรดาบริษัทเซมิคอนดักเตอร์ตั้งแต่ Tokyo Electron ในเอเชียไปจนถึง ASML ในยุโรปปรับตัวสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รัฐบาลสหรัฐได้ตัดสินใจที่จะไม่เพิ่มบริษัท Shenzhen Pengjin High-Tech ผู้ผลิตอุปกรณ์เซมิคอนดักเตอร์ และ ChangXin Memory Technologies ผู้พัฒนาเทคโนโลยีชิปหน่วยความจำ AI เข้าไปในบัญชีดำตามที่เคยมีการพิจารณาไว้ก่อนหน้านี้
เมื่อผู้สื่อข่าวสอบถามกระทรวงพาณิชย์สหรัฐในระหว่างการแถลงข่าวว่า สหรัฐทราบถึงจำนวนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับ Huawei และไม่ได้เพิ่มเข้าไปในบัญชีดำกี่แห่ง เจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลตอบว่า “กฎระเบียบไม่ได้มุ่งเน้นไปที่ความสัมพันธ์กับบริษัทใดบริษัทหนึ่ง รายชื่อดังกล่าวครอบคลุมบริษัทจีนที่พยายามพัฒนาชิปขั้นสูง”
อย่างไรก็ตาม กฎระเบียบฉบับใหม่ที่ประกาศเมื่อวันจันทร์ได้ระบุชัดเจนว่า บริษัทที่ถูกคว่ำบาตรเหล่านี้มีความเกี่ยวข้องกับ Huawei Technologies ซึ่งเป็นบริษัทที่ถูกขึ้นบัญชีดำอยู่แล้ว โดยการกระทำของบริษัทเหล่านี้ ถือเป็นการสนับสนุนให้ Huawei พัฒนาเทคโนโลยีเซมิคอนดักเตอร์ขั้นสูงอย่างแข็งขัน เพื่อใช้ในการทหารของจีน ซึ่งเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของชาติ
ด้านบริษัทผู้ผลิตเครื่องมือผลิตชิปชั้นนำ เช่น Lam, Applied Materials และ KLA ได้ออกมาคัดค้านมาตรการคว่ำบาตรซัพพลายเออร์ของหัวเว่ยอย่างหนัก โดยให้เหตุผลว่า มาตรการดังกล่าว ซึ่งเป็นการกระทำฝ่ายเดียวของสหรัฐ จะส่งผลกระทบต่อทั้งอุตสาหกรรมการผลิตชิปของจีน และในระยะยาวจะส่งผลเสียต่ออุตสาหกรรมชิปของสหรัฐเอง เนื่องจากขาดการสนับสนุนจากประเทศพันธมิตร
แม้มีส่วนเทคโนโลยีสหรัฐเพียงเล็กน้อย ก็โดนด้วย
นอกจากการคว่ำบาตรบริษัทจีนโดยตรงแล้ว สหรัฐยังได้ออกกฎระเบียบใหม่ที่เรียกว่า “FDPR” (Foreign Direct Product Rule) ห้ามส่งออกอุปกรณ์การผลิต และซอฟต์แวร์ที่สำคัญหลายประเภทไปยังจีน โดยกฎระเบียบนี้ครอบคลุมถึงอุปกรณ์ที่ผลิตในต่างประเทศด้วย หากอุปกรณ์นั้นมีส่วนประกอบทางเทคโนโลยีของสหรัฐ “แม้เพียงเล็กน้อยก็ตาม” ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อจำกัดการเข้าถึงเทคโนโลยีขั้นสูงของจีน
บริษัท ASML ออกโรงเตือนว่า หากรัฐบาลเนเธอร์แลนด์มีการประเมินความเสี่ยงด้านความมั่นคงที่คล้ายคลึงกับสหรัฐเช่นนี้ การส่งออกเครื่องมือผลิตชิปชนิดหนึ่งที่เรียกว่า “ระบบลิโทกราฟีแบบ DUV” ไปยังโรงงานเหล่านั้น ก็อาจได้รับผลกระทบเช่นกัน
สหรัฐได้ยกเหตุผลที่ใช้กฎหมาย FDPR ว่า เพื่อป้องกันไม่ให้บริษัทอเมริกันหลีกเลี่ยงการคว่ำบาตร โดยการย้ายฐานผลิตไปต่างประเทศ โดยรายงานวิจัยล่าสุดของศูนย์ศึกษาเชิงยุทธศาสตร์ และระหว่างประเทศ (CSIS) ชี้ให้เห็นว่า บริษัทอเมริกันหลายแห่งได้ส่งออกสินค้าไปยังจีนผ่านประเทศที่สามเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
“การดำเนินการนี้ เป็นผลสรุปของแนวทางที่รัฐบาลไบเดนใช้ร่วมกับพันธมิตร และคู่ค้า เพื่อขัดขวางความสามารถของจีนในการพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูงที่มีความเสี่ยงต่อความมั่นคงของชาติเรา” จีนา ไรมอนโด (Gina Raimondo) รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐกล่าวในแถลงการณ์
อ้างอิง: bloomberg
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์