'จีน' กลายเป็นฝันร้ายของ GM อ่วมรายจ่าย 1.7 แสนล้าน ปิดโรงงาน-ปรับโครงสร้าง
ค่ายรถเบอร์ใหญ่อเมริกัน ‘จีเอ็ม’ บันทึกรายจ่ายในจีนครั้งใหญ่กว่า 1.7 แสนล้านบาท จากการปิดโรงงาน-ปรับโครงสร้างครั้งใหญ่เพื่ออยู่รอด
"เจนเนอรัล มอเตอร์ส" (GM) หนึ่งในสามค่ายรถใหญ่ฝั่งสหรัฐ หรือบิ๊กทรี เริ่มเข้าไปลงทุนใน "ประเทศจีน" เป็นครั้งแรกเมื่อปี 1997 โดยจับมือเป็นพันธมิตรกับบริษัทท้องถิ่นอย่าง SAIC Motor Corp. เคยผ่านจุดรุ่งโรจน์ในตลาดจีนด้วยส่วนแบ่งการตลาดถึงเกือบ 15% มียอดขายในจีนแซงหน้ายอดขายในสหรัฐระหว่างปี 2010-2013 และเคยขายรถได้มากสุด 4 ล้านคันต่อปีในแดนมังกรเมื่อปี 2017
ทว่าสถานการณ์ล่าสุดของจีเอ็มในจีนกำลังพลิกเป็นหนังคนละม้วนในเวลาเพียงแค่ประมาณ 10 ปี
GM ได้ยื่นไฟลิ่งแจ้งตลาดเมื่อวันที่ 4 ธ.ค. ว่า บริษัทคาดว่าจะมีการปรับโครงสร้างธุรกิจครั้งใหญ่ในจีนที่เป็นการร่วมทุนกับ SAIC โดยจะบันทึกรายจ่ายและรายการที่ไม่ใช่เงินสดมากกว่า 5 พันล้านดอลลาร์ (กว่า 1.7 แสนล้านบาท)
ในจำนวนนี้ราว 2.6-2.9 พันล้านดอลลาร์ คาดว่าจะเป็นการลดมูลค่าสินทรัพย์ของธุรกิจที่เป็นการร่วมทุนกับ SAIC และอีกราว 2.7 พันล้านดอลลาร์ จะเป็นการบันทึกรายจ่ายการปรับโครงสร้างองค์กร ซึ่งรวมถึง "การปิดโรงงานบางแห่งและการลดขนาดพอร์ตลง"
อย่างไรก็ตาม บริษัทไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดของโรงงานในจีนที่คาดว่าจะต้องปิดตัวลง หรือรายละเอียดเพิ่มเติมอื่นๆ
“ดังที่เราได้กล่าวมาโดยตลอด เรามุ่งเน้นที่ประสิทธิภาพของทุนและการควบคุมค่าใช้จ่าย และได้ทำงานร่วมกับ SGM เพื่อพลิกฟื้นธุรกิจในประเทศจีนเพื่อให้ยั่งยืนและทำกำไรในตลาดได้ เรากำลังใกล้จะสรุปแผนการปรับโครงสร้างใหม่กับพันธมิตรของเรา และคาดว่าผลงานของเราในจีนในปี 2568 จะแสดงให้เห็นถึงการปรับปรุงที่ดีขึ้นเมื่อเทียบเป็นรายปี” GM ระบุในแถลงการณ์ทางอีเมล
GM ยังเชื่อว่าบริษัทร่วมทุนของตนมีศักยภาพในการปรับโครงสร้างใหม่โดยไม่ต้องมีการลงทุนเงินสดใหม่จากฝั่งจีเอ็ม
ทั้งนี้ ธุรกิจของจีเอ็มในจีนได้เปลี่ยนจากกำไรไปเป็นหนี้สินในช่วง 10 ปีมานี้ เนื่องจากการแข่งขันที่ขยายตัวขึ้นจากบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ในประเทศที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล และเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงเชิงทัศนคติของผู้บริโภคที่มีต่ออุตสาหกรรมรถยนต์และรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) จากรุ่นสู่รุ่น
รายได้ Equity income ของจีเอ็มในจีนและธุรกิจร่วมทุนเคยพุ่งขึ้นสูงสุดกว่า 2 พันล้านดอลลาร์ในปี 2014 และ 2015 ในขณะที่ส่วนแบ่งการตลาดเคยขึ้นสูงเกือบ 15% ในปี 2015 แต่ได้ทยอยลดลงต่อเนื่องในระยะหลังจนปัจจุบันเหลือเพียง 8.6% ในปีที่แล้ว ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ลดลงต่ำกว่า 9% นับตั้งแต่ปี 2003
แบรนด์รถยนต์ของจีเอ็มเช่น Buick และ Chevrolet มียอดขายลดลงมากกว่ายอดขายรถของจีเอ็มที่ร่วมทุนกับ SAIC Motor, Wuling Motors และบริษัทอื่นๆ โดยรถยนต์ที่ร่วมทุนคิดเป็นประมาณ 60% จากยอดขายรวมทั้งหมดของจีเอ็มในจีน 2.1 ล้านคันในปีที่แล้ว
ก่อนหน้าที่สถานการณ์จะย่ำแย่ลงหนักในปีนี้ จีเอ็มในจีนเคยประสบภาวะขาดทุนรายไตรมาสหลังปี 2019 เพียงแค่สองครั้งเท่านั้น คือช่วงไตรมาสแรกปี 2020 ซึ่งขาดทุนไป 167 ล้านดอลลาร์ และขาดทุน 87 ล้านดอลลาร์ในไตรมาสสองปี 2022 จากสถานการณ์โควิด
ทว่าในปี 2024 นี้ จีเอ็มรายงานการขาดทุนมา 3 ไตรมาสติดต่อกันแล้ว รวม 347 ล้านดอลลาร์ และมีการประกาศเตรียมปรับโครงสร้างใหญ่ที่รวมถึงการปิดโรงงานและเลย์ออฟไปแล้วก่อนหน้านี้