สงครามไร้เลือด: มองอนาคต ‘Chip War’ จีน-สหรัฐ ยุคทรัมป์ 2.0
สหรัฐประกาศแบนบริษัทชิปจีน 140 แห่ง เพื่อจำกัดความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีของจีน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมสารกึ่งตัวนำและเอไอ ในขณะที่จีนเร่งพัฒนาแชตบอตเอไอของตัวเอง เช่น Doubao ของ ByteDance จนมีผู้ใช้มาเป็นรองเพียง ChatGPT
ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาความขัดแย้งในเชิงภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) และความขัดแย้งในเชิงเศรษฐศาสตร์ (Geoeconomics) ทวีความรุนแรงมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง และในช่วงการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 47 ของโดนัลด์ ทรัมป์ ความขัดแย้งดังกล่าวก็มีแนวโน้มที่จะตึงเครียดมากขึ้นไปอีก
ทรัมป์ 2.0: สงครามชิปจ่อรุนแรงขึ้น
สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี ผู้เชี่ยวชาญประเด็นการเมืองระหว่างประเทศ ให้สัมภาษณ์พิเศษกับ "กรุงเทพธุรกิจ" ในประเด็นดังกล่าวว่า หนึ่งในประเด็นที่จะทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ หนีไม่พ้น สงครามชิป (Chip War) และเซมิคอนดักเตอร์
พร้อมอธิบายเสริมว่า “ทั้งสองประเทศนี้แข่งขันกันเรื่องเทคโนโลยีซึ่งเป็นคีย์สําคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจการเมืองโลก ดังนั้นใครที่ควบคุมเทคโนโลยีได้คนนั้นควบคุมโลกได้เช่นกัน ที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดคือตั้งแต่ยุคๆ ก่อนแล้วสหรัฐแข่งกับรัสเซียสร้างเทคโนโลยีทางอวกาศมาในยุคปัจจุบันก็แข่งกับจีนเรื่องปัญญาประดิษฐ์”
ขอบคุณรูปจาก AFP
สุภลักษณ์อธิบายต่อว่า ปัจจุบันสหรัฐกังวลเกี่ยวกับพัฒนาการด้านเทคโนโลยีของจีนอย่างมากเพราะความก้าวหน้าของจีนพัฒนาขึ้นอย่างก้าวกระโดด “หนึ่งสัญญาณที่เห็นได้อย่างชัดเจนคือบริษัท Huawei ของจีนโดนสหรัฐเล่นงานตลอด หรือแม้กระทั่งประเทศที่จะซื้อเครื่องบินรบจากสหรัฐ ถ้าเกิดว่าคุณมีลิงค์ทางด้านเทคโนโลยีกับจีน เขาก็จะไม่ขายให้”
สหรัฐแบนบริษัทชิปจีนเกือบทั้งประเทศ
หนึ่งสัญญาณล่าสุดที่เกิดขึ้นเมื่อวันจันทร์ที่ 2 ธ.ค. ที่ผ่านมาคือสหรัฐประกาศเพิ่มบริษัทจีน 140 แห่ง (คิดเป็นเกือบทั้งประเทศตามรายงานของรอยเตอรส์) เข้าไปอยู่ในรายชื่อจำกัดการค้า ซึ่งถือเป็นความพยายามจากสหรัฐครั้งสำคัญในการจำกัดความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีชั้นสูงจากจีน
ที่สำคัญ ภายใน 140 รายชื่อประกอบด้วย Semiconductor Manufacturing International Corp. (TSMC) บริษัทที่เกี่ยวข้องกับ Huawei รวมทั้งผู้ผลิตอุปกรณ์ชิปชั้นนำของจีน เช่น Beijing Naura, ACM Research และ Piotech
นอกจากนี้ในวันเดียวกัน ทำเนียบขาวยังได้ออกข้อจำกัดการส่งออก “หน่วยความจำที่มีแบนด์วิดท์สูง” หรือ High Bandwidth Memory (HBM) ที่มีแหล่งกำเนิดจากสหรัฐ โดย HBM เป็นส่วนประกอบสำคัญที่ช่วยให้การถ่ายโอนข้อมูลระหว่างโพรเซสเซอร์รวดเร็วขึ้น ซึ่งเอื้อต่อการประมวลผลปัญญาประดิษฐ์ที่ทรงพลัง โดย SK Hynix, Samsung Electronics และ Micron เป็นผู้ให้บริการ HBM รายสำคัญของโลก
ขอบคุณรูปจาก AFP
การควบคุมล่าสุดครอบคลุมอุปกรณ์การผลิตสารกึ่งตัวนำ (Semoconductors) 24 ประเภท และเครื่องมือซอฟต์แวร์ 3 ประเภทที่ใช้ในการพัฒนาและผลิตอุปกรณ์สารกึ่งตัวนำข้างต้น โดยการดำเนินการในครั้งนี้จะส่งผลให้บริษัทอเมริกันไม่สามารถส่งสินค้าไปยังจีนและบริษัทที่ถูกเพิ่มเข้าในรายชื่อได้ เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตยกเว้นซึ่งมีความเป็นไปได้ต่ำที่จะได้รับใบอนุญาตดังกล่าว และเกณฑ์ข้างต้นจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 31 ธ.ค. สำหรับการควบคุมบางประการ
ด้าน จีน่า ไรมอนโด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวในแถลงการณ์เมื่อต้นสัปดาห์นี้ว่า มาตรการดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์เพื่อรักษาความมั่นคงแห่งชาติ
แชตบอตเอไอแข่งเดือด จีนลดราคากระหน่ำ
สัญญาณต่อมาที่แสดงให้เห็นถึงการแข่งขันในการเป็นผู้นำทางด้านเทคโนโลยีของทั้งจีนและสหรัฐแสดงให้เห็นใน “สมรภูมิแชตบอตเอไอ” ที่ล่าสุดสำนักข่าวนิกเคอิ เอเชีย รายงานเมื่อวันที่ 6 ธ.ค. ว่า ผู้ใช้งานของ Doubao แชตบอตเอไอของ ByteDance บริษัทแม่ของ Tiktok แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียชื่อดัง เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นรองเพียง ChatGPT ของ OpenAI เท่านั้น
โดยสำนักข่าวนิกเคอิ เอเชียรายงานว่า จากสถิติ ณ เดือนต.ค.ที่ผ่านมา แชตบอตดังกล่าวมีผู้ใช้งานมากที่สุดในจีน ด้วยจำนวนผู้ใช้ 51.3 ล้านคน แม้จะยังห่างจาก ChatGPT ที่มีผู้ใช้ 258.16 ล้านคน
ขอบคุณรูปจาก AFP
บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของจีนอย่าง Alibaba ก็ไม่ยอมแพ้โดยได้เปิดตัวผู้ช่วย AI อย่าง Zhixiaobao ในเดือนก.ย. ซึ่งสามารถเชื่อมต่อกับบริการการชำระเงิน Alipay และแอปพลิเคชันอื่นๆ ทำให้ผู้ใช้สามารถเรียกแท็กซี่ ชำระค่าโทรศัพท์ หรือสั่งอาหารและเครื่องดื่มจาก Starbucks ได้อย่างง่ายดาย
โจเซฟ ซี. ไซ ประธานกลุ่ม Alibaba Group กล่าวว่า แม้ว่าระดับการพัฒนาเทคโนโลยี AI ของจีนยังถือว่าล้าหลังสหรัฐอเมริกาประมาณ 2 ปี แต่จีนกลับเป็นผู้นำในการพัฒนาการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี โดยเชื่อมโยงแอปพลิเคชันต่างๆ เพื่อเพิ่มความสะดวกสบายให้ผู้ใช้
สถิติจาก Vention สถาบันวิจัยในสหรัฐอเมริกา บ่งชี้ว่าอัตราการใช้เอไอในสหรัฐอเมริกาและประเทศพัฒนาแล้วอยู่ที่ประมาณ 30% ขณะที่อัตราการใช้งานของจีนสูงถึงเกือบ 60% ตามการสำรวจในปี 2567 และคาดการณ์ว่าตลาดเอไอของจีนจะมีมูลค่าถึง 2.767 หมื่นล้านหยวน (3.81 พันล้านดอลลาร์) ในปี 2571
ที่สำคัญ การแข่งขันในอุตสาหกรรมเอไอของทั้งสองประเทศค่อนข้างดุเดือด โดยจีนมีบริษัทเอไอมากถึง 5,734 บริษัท เป็นอันดับสองรองจากสหรัฐอเมริกา และบริษัทต่างๆ อยู่ในช่วงลดราคาค่าบริการเพื่อแย่งชิงผู้ใช้ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าบริษัทของจีนยังไม่มองเรื่องกำไรเป็นหลัก
ทั้งนี้ บทวิเคราะห์ของนิกเคอิ เอเชีย ระบุว่า ในอนาคต บริษัทเอไอของจีนอาจมองหาโอกาสขยายตลาดในต่างประเทศ โดยจะต้องคำนึงถึงกฎระเบียบของประเทศนั้นๆ ซึ่งแตกต่างจากการกำกับดูแลในจีนที่เน้นจำกัดการตอบสนองที่อาจนำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล ในขณะที่ยุโรปเน้นการปกป้องข้อมูลส่วนบุคคล และสหรัฐอเมริกาญี่-ปุ่นกังวลเรื่องลิขสิทธิ์และการรั่วไหลของข้อมูล
สวนทางสหรัฐเก็บเงิน หวังหารายได้เพิ่ม
ท่ามกลางสถานการณ์อุตสาหกรรมเอไอในจีนที่ต่างแข่งขันกันเพื่อลดราคาและดึงดูดผู้ใช้งาน ทว่าเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 5 ธ.ค. ที่ผ่านมา บริษัท OpenAI เปิดตัวแพ็กเกจของ ChatGPT ในราคา 200 ดอลลาร์ (ประมาณ 6-7 พันบาท) ต่อเดือน ซึ่งออกแบบมาเพื่อใช้งานในสาขาวิศวกรรมและการวิจัย โดยบริษัทมุ่งหวังขยายการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในภาคอุตสาหกรรมมากยิ่งขึ้น
แพ็กเก็จใหม่นี้ชื่อว่า ChatGPT Pro จะเป็นทางเลือกเพิ่มเติมของแพ็กเก็จเดิมของ OpenAI ที่มีอยู่แล้วอย่าง ChatGPT Plus, Team และEnterprise ซึ่งสะท้อนถึงความมุ่งมั่นของบริษัทในการเพิ่มช่องทางหารายได้ให้ตัวเอง
ท้ายที่สุด ในเกมส์แห่งอำนาจทางเทคโนโลยี เส้นแบ่งระหว่างการแข่งขันและสงครามกลายเป็นเส้นที่บางลงทุกวัน สหรัฐและจีนต่างเข้าใจดีว่า ผู้ที่ครอบงำเทคโนโลยีจะครอบงำอนาคต และนี่คือสนามรบที่ไร้เลือด แต่ทรงพลังที่สุดในศตวรรษนี้ ไม่ใช่การต่อสู้ด้วยอาวุธ แต่เป็นการต่อสู้ด้วยชิป ซอฟต์แวร์ และปัญญาประดิษฐ์ แต่ละก้าวของพวกเขาไม่เพียงกำหนดอนาคตทางเทคโนโลยี หากยังกำหนดสมดุลอำนาจโลกในอีกกี่ทศวรรษข้างหน้า