เปิด'จุดอ่อน'สนามบินสหรัฐเสี่ยง'เพลี่ยงพล้ำจีน'

เปิด'จุดอ่อน'สนามบินสหรัฐเสี่ยง'เพลี่ยงพล้ำจีน'

รายงานล่าสุดเผย หากเกิดความขัดแย้งแค่จีนโจมตีสนามบินทหารของสหรัฐในอินโดแปซิฟิก สหรัฐก็ไปไม่เป็น แนะควรลงทุนในเครื่องบินไร้คนขับราคาถูกและความสามารถในการซ่อมแซมรันเวย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงาน ศูนย์สติมสัน กลุ่มคลังสมองด้านกลาโหมและความมั่นคง เผยแพร่รายงานฉบับใหม่ชื่อ “ผลกระทบร้ายแรง: ภัยคุกคามของขีปนาวุธจีนต่อฐานทัพอากาศสหรัฐในอินโดแปซิฟิก” ชี้ถึงปัญหาสำคัญของฐานทัพอากาศสหรัฐในอินโดแปซิฟิกที่ตั้งอยู่ในแนวหมู่เกาะแรกหรือหมู่เกาะที่ทอดยาวจากอินโดนีเซียไปทางตะวันออกเฉียงเหนือจนถึงญี่ปุ่นครอบคลุมทะเลจีนใต้และทะเลจีนตะวันออก ต่างอยู่ในระยะยิงของขีปนาวุธจีนหลายพันลูก

ถ้าอาวุธเหล่านั้นถูกใช้ทำลายหรือสร้างความเสียหายกับรันเวย์ ย่อมสามารถปิดสนามบินในญี่ปุ่นได้อย่างน้อย 11.7 วัน ส่วนที่ไกลออกไปอย่างในกวมและหมู่เกาะแปซิฟิก อาจปิดสนามบินได้อย่างน้อย 1.7 วัน

“อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติจีนอาจป่วนปฏิบัติการสู้รบของสหรัฐได้นานกว่านั้นมาก ด้วยการปฏิเสธไม่ให้สหรัฐใช้รันเวย์เพื่อเติมน้ำมันกลางอากาศ” รายงานระบุ

รายงานแนะนำให้สหรัฐลงทุนในเครื่องบินไร้คนขับราคาไม่แพงจำนวนมาก และทำสงครามอิเล็กทรอนิกส์เพื่อก่อกวนแผนโจมตีของจีน, พัฒนาเครื่องบินมีคนขับที่สามารถปฏิบัติการบนรันเวย์สั้นได้,พัฒนาความสามารถในการซ่อมแซมรันเวย์และความยืดหยุ่นของฐานทัพให้มากขึ้น และสร้างพันธมิตรเพื่อให้ประเทศที่เป็นมิตรยินดีเปิดสนามบินให้สหรัฐใช้

รอยเตอร์สสอบถามไปยังกองบัญชาการอินโดแปซิฟิกซึ่งดูแลกองทัพอเมริกันในภูมิภาคนี้ และสอบถามกระทรวงกลาโหมจีน ไม่ได้รับคำตอบ

ทั้งนี้ ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมากองทัพสหรัฐมีแนวคิดเรื่องปฏิบัติการแบบกระจาย กล่าวคือกระจายกองกำลังไปทั่วภูมิภาคตามโครงการริเริ่มป้องปรามแปซิฟิก มีการทุ่มงบประมาณหลายร้อยล้านดอลลาร์ปรับปรุงสนามบินหลายแห่ง เช่น ในออสเตรเลียและเกาะทินเนียน

นอกจากนี้กองทัพอากาศยังพัฒนาโครงการ ฟื้นฟูความเสียหายสนามบินอย่างรวดเร็ว (RADR) เพื่อเปิดใช้งานรันเวย์ทันทีหลังการโจมตี และทำให้รันเวย์ใช้งานได้รองรับการบิน “หลายพันครั้ง”

ไม่เพียงเท่านั้นสหรัฐยังวางใจการป้องปรามด้วยขีปนาวุธ วางแผนใช้เครือข่ายเครื่องตรวจจับหลายชั้นมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ปกป้องกวม เพื่อให้สนามบินและฐานทัพอื่นๆ ปฏิบัติการได้

อดีตเจ้าหน้าที่โลจิสติกส์กองทัพอากาศสหรัฐรายหนึ่ง ผู้มีความรู้โดยตรงเกี่ยวกับการจำลองความขัดแย้งอินโด-แปซิฟิก กล่าวว่า รายงานฉบับนี้ประเมินปัญหาได้ดี  RADR และการป้องปรามด้วยขีปนาวุธมีประสิทธิภาพมากกว่าที่รายงานประเมิน และตั้งข้อสังเกตว่า เป็นไปได้มากที่สุดว่าผู้วางแผนการโจมตีของจีนจะใช้ระเบิดผสมมากกว่าใช้ระเบิดทำลายรันเวย์อย่างเดียวตามที่รายงานสันนิษฐาน

“แม้ผมไม่เห็นด้วยมากนักกับตัวเลขชัดๆ แต่ผมเห็นด้วยว่าการวิเคราะห์ถูกต้องในทิศทางกว้างๆ” เจ้าหน้าที่คนเดิมย้ำ

รายงานฉบับนี้คำนวณผลจากการโจมตีของจีนด้วยการสร้างตัวแบบทางสถิติในโปรแกรม Phython ซึ่งพิจารณาหลายตัวแปร อาทิ ขนาดของรันเวย์, ความแม่นยำของอาวุธจีน และการป้องกันของสหรัฐ

“ปีที่แล้วผมเริ่มได้ยินผู้กำหนดนโยบายและนักวิเคราะห์พูดกันมากขึ้นว่า สหรัฐจะจมเรือจีนได้มากพอปกป้องไต้หวันได้ ตราบเท่าที่สหรัฐยังเข้าถึงฐานทัพในญี่ปุ่นและกวม ยังไม่มีใครทดสอบข้อเสนอเหล่านี้อย่างน้อยๆ ก็ในทางเปิดเผย” เคลลี กรีโค หนึ่งในคณะผู้เขียนรายงานระบุ