‘เวียดนาม’ ออกกฎคุมโซเชียลเข้ม หวั่นลิดรอน ‘เสรีภาพ-คนเห็นต่าง’

‘เวียดนาม’ ออกกฎคุมโซเชียลเข้ม หวั่นลิดรอน ‘เสรีภาพ-คนเห็นต่าง’

เวียดนามออกกฎหมายใหม่ กำหนดให้โซเชียลมีเดียตรวจสอบตัวตนผู้ใช้งานและเก็บข้อมูลทั้งหมด และต้องส่งข้อมูลให้รัฐบาลเมื่อมีการร้องขอ ทั้งยังต้องลบเนื้อหาที่รัฐบาลมองว่า "ผิดกฎหมาย" ภายใน 24 ชั่วโมง นักเคลื่อนไหวหวั่นลิดรอนสิทธิเสรีภาพด้านการแสดงออก

เวียดนามออกกฎหมายใหม่ กำหนดให้แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย อาทิ เฟซบุ๊กและติ๊กต็อก ต้องตรวจสอบตัวตนผู้ใช้งานและส่งมอบข้อมูลให้กับเจ้าหน้าที่รัฐเมื่อมีการร้องขอ ซึ่งกฎหมายใหม่นี้มีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันพุธ (25 ธ.ค.) ด้านนักวิจารณ์มองว่ากฎหมายใหม่ลิดรอนสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออก

เอเอฟพีรายงานว่า ภายใต้กฤษฎีกา 147 กำหนดให้ยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีที่ดำเนินธุรกิจในเวียดนามต้องตรวจสอบบัญชีผู้ใช้ผ่านหมายเลขโทรศัพท์ หรือหมายเลขบัตรประจำตัวประชาชน และจัดเก็บข้อมูลทั้งชื่อ-นามสกุล และวันเดือนปีเกิดด้วย นอกจากนี้ บิ๊กเทคยังต้องยอมส่งข้อมูลเหล่านั้นให้กับเจ้าหน้าที่เมื่อมีการร้องขอ และลบเนื้อหาใดๆ ก็ตามที่รัฐบาลมองว่า “ผิดกฎหมาย” ภายใน 24 ชั่วโมง

ดัง ถิ หเว นักเคลื่อนไหวด้านนโยบายและปัญหาทางสังคมผ่านบัญชีเฟซบุ๊กของตนเอง ซึ่งมีผู้ติดตามราว 28,000 คน บอกว่า กฤษฎีกา 147 เป็นเครื่องมือที่จะใช้ปราบปรามผู้มีความเห็นต่าง

เล อันห์ หุ่ง อดีตนักโทษการเมืองกล่าวว่า กฎหมายดังกล่าวเป็นสัญญาณล่าสุดของการละเมิดสิทธิเสรีภาพ ด้วยเส้นบางๆ ระหว่างสิ่งที่เรียกว่าถูกกฎหมาย และผิดกฎหมาย

“ไม่มีใครอยากติดคุก ดังนั้นนักเคลื่อนไหวบางคนจะมีความระมัดระวังและเกรงกลัวกฎหมายนี้มากขึ้น” อดีตนักโทษกล่าว

เอเอฟพีเผยว่า รัฐบาลที่เข้มงวดของเวียดนามมักดำเนินการปราบปรามผู้เห็นต่างและจับกุมนักวิจารณ์อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะคนที่ได้รับความนิยมในโซเชียลมีเดีย ตัวอย่างมีให้เห็นจากกรณีของ ดวง วาน ถาย บล็อกเกอร์ชาวเวียดนาม ที่ทำไลฟ์สตรีมวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลในยูทูบ และมีผู้ติดตามเกือบ 120,000 คน ถูกตัดสินจำคุก 12 ปี ในข้อหาเผยแพร่ข้อมูลต่อต้านรัฐบาลเมื่อเดือนต.ค. ที่ผ่านมา

กฎหมายใหม่นี้ระบุด้วยว่า มีเพียงบัญชีที่ได้รับการยืนยันเท่านั้นที่จะสามารถไลฟ์สดได้ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อผู้คนจำนวนมากที่มีรายได้จากการไลฟ์ผ่านโซเชียลคอมเมิร์ซอย่างเช่นติ๊กต็อก

กฤษฎีกา147 ของเวียดนามที่ต่อยอดมาจากกฎหมายด้านความปลอดภัยไซเบอร์ในปี 2561 ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงจากสหรัฐ สหภาพยุโรป (อียู) และกลุ่มผู้สนับสนุนเสรีภาพทางอินเทอร์เน็ตที่มองว่ากฎหมายดังกล่าวเลียนแบบมาจากการปราบปรามทางอินเทอร์เน็ตอย่างเข้มงวดของรัฐบาลจีน

ส่อกระทบเด็กเล่นเกม

นอกจากส่งผลกระทบต่อโซเชียลมีเดียแล้ว กฎหมายใหม่นี้ยังจำกัดการเล่นเกมสำหรับบุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี เพื่อไม่ให้เด็กๆ เสพติดการเล่นเกมอีกด้วย ดังนั้น ผู้จำหน่ายเกมอาจถูกบังคับให้จำกัดการเล่นเกมให้เหลือรอบละ 1 ชั่วโมง และไม่เกิน 180 นาทีต่อวัน

ข้อมูลจากบริษัทวิจัยนิวซู (Newzoo) พบว่า ประชากรเวียดนามมากกว่าครึ่งหนึ่งจากทั้งหมด 100 ล้านคนเล่นเกมเป็นประจำ ขณะเดียวกันประชากรส่วนใหญ่ก็เล่นโซเชียลมีเดียด้วย ซึ่งกระทรวงสารสนเทศและการสื่อสารของเวียดนามคาดว่า ทั้งประเทศมีผู้ใช้เฟซบุ๊กประมาณ 65 ล้านคน ยูทูบ 60 ล้านคน และติ๊กต็อก 20 ล้านคน

อย่างไรก็ตาม การบังคับใช้กฎหมายควบคุมโซเชียลใหม่นี้ยังคงไม่มีผลต่อร้านเกมออนไลน์ขนาดเล็กในกรุงฮานอย เมืองหลวงที่ยังมีคนรุ่นใหม่ใช้บริการร้านเกมอยู่

เด็กชายชาวเวียดนามวัย 15 ปี เผยกับเอเอฟพี “ผมไม่รู้อะไรเกี่ยวกับการจำกัดเวลาเล่นเกม ผมก็แค่เล่นไปเรื่อยๆ อย่างที่เห็น ก็ยังไม่เห็นเป็นอะไร” เด็กคนนี้เผยด้วยว่า ตนไม่เคยต้องแสดงบัตรประชาชนหรือบัตรประจำตัวนักเรียนเพื่อเข้าร้านเกม หรือเพื่อเข้าใช้บัญชีเกมออนไลน์

“ผมไม่รู้ว่า (กฤษฎีกา) จะทำอะไร ก็มารอดูกัน”

ส่วนเจ้าของร้านเกมที่คิดค่าบริการเล่นเกมประมาณ 30 เซนต์ต่อชั่วโมง (ราว 10 บาทต่อชั่วโมง) ไม่ได้ใส่ใจในเรื่องนี้เช่นกัน

“ผมไม่รู้ว่ากฤษฎีกานี้มันคืออะไร ไม่รู้ว่ามันจะมีผลอะไรหรือเปล่า แต่ธุรกิจก็ดำเนินตามปกติ ลูกค้าจ่ายเงินแล้วผมก็ให้เขาใช้คอมฯเล่นเกม ก็แค่นี้”