ส่องอนาคต ‘สงครามชิป’ ปีหน้า ส่อเค้าแรงกว่าเดิมภายใต้ทรัมป์?

ส่องอนาคต ‘สงครามชิป’ ปีหน้า ส่อเค้าแรงกว่าเดิมภายใต้ทรัมป์?

สงครามชิปจีน-สหรัฐส่อเค้าแรงขึ้นในยุคทรัมป์ ว่าที่ปธน.คนใหม่ประกาศกร้าวจัดหนักจีน เหล่าล็อบบี้ยิสต์มอง คุยกับทรัมป์ต้องเจรจาแบบยื่นหมูยื่นแมวโดยตรง ด้านจีนไม่สิ้นเขี้ยวเล็บ มีไพ่เด็ดแร่หายากที่ครอง 70% ของโลกอยู่ในมือ

KEY

POINTS

  • ล็อบบี้ยิสต์ในอุตสาหกรรมกำลังเตรียมรับความเป็นไปได้ที่หลากหลาย เนื่องจากลักษณะนโยบายของทรัมป์มักขึ้นอยู่กับ “การเจรจาแบบให้ผลตอบแทนโดยตรง”
  • จีนครองการผลิตแร่หายากทั่วโลกถึง 70% จากเหมืองแร่ในหลายประเทศ
  • “ไต้หวัน” เป็นฮับผลิตชิปล้ำสมัยกว่า 90% ของโลก หากจีนแผ่นดินใหญ่บุกไต้หวันจริง ก็อาจสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจโลกสูงถึง 10 ล้านล้านดอลลาร์

“จีน” เมื่อ 20 ปีที่แล้วกับจีนในปัจจุบันแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ทุกวันนี้ จีนก้าวล้ำด้วยเทคโนโลยีล้ำยุค สามารถส่งยานสำรวจไปยังด้านมืดของดวงจันทร์ได้สำเร็จ มีแชตบอตปัญญาประดิษฐ์ (AI) เป็นของตัวเอง แถมความก้าวหน้าด้านชิปก็ไล่ตามสหรัฐจนแทบหายใจรดต้นคอ

ด้วยเหตุนี้ สหรัฐจึงพยายามสกัดเทคโนโลยีจีนหลายประการ ตั้งแต่ยกระดับการปิดกั้นนี้ให้เข้มข้นกว่าเดิม ไปจนถึงการล็อบบี้พันธมิตรไม่ให้ส่งออกเทคโนโลยีชิปไปยังจีน ซึ่งก็ทำสำเร็จ บริษัท ASML จากเนเธอร์แลนด์ ซึ่งเป็นผู้สร้างเครื่องผลิตชิปให้ทั่วโลกได้ตกลงตามคำขอสหรัฐ ยุติการส่งมอบเครื่องผลิตชิปสุดล้ำด้วยเทคโนโลยี DUV นี้ไปยังจีน ซึ่งในโลกนี้มีเพียง “เนเธอร์แลนด์” ที่ผลิตเครื่องนี้ได้

สงครามชิปจีน-สหรัฐในปีนี้เป็นอย่างไร และสุดท้ายแล้วแนวโน้มนี้จะรุนแรงขึ้นกว่าเดิมหรือไม่ เมื่อเข้าสู่ยุคทรัมป์เป็นประธานาธิบดี แล้วจีนจะรับมืออย่างไร

สหรัฐยกระดับปิดกั้นจีนหนักกว่าเดิม

เมื่อย้อนไปที่จุดเริ่มต้นสงครามการค้าสหรัฐ-จีน โดนัลด์ ทรัมป์ เป็น “ผู้ริเริ่ม” ก่อนในสมัยแรกที่เป็นผู้นำประเทศ และประธานาธิบดีโจ ไบเดนได้ “ยกระดับ” ให้หนักขึ้นกว่าเดิม โดยทรัมป์เป็นผู้งัดมาตรากำแพงภาษีและโจมตี Huawei ยักษ์โทรคมนาคมจีนเป็นครั้งแรก ต่อมาไบเดนได้สานต่อมาตรการด้วยการขึ้นกำแพงภาษีให้สูงขึ้นกว่าเดิม ไปจนถึงเพิ่มความเข้มงวดในการปิดกั้นเทคโนโลยีชิปที่จะไปจีน เพื่อสกัดแดนมังกรไม่ให้ไล่ตามสหรัฐทัน

สำหรับระเบียบใหม่ด้านชิปของไบเดน ไม่ได้มีเพียง Huawei แต่ได้เพิ่มบริษัทจีนอีกกว่า 140 แห่งเข้าไปในบัญชีดำ ซึ่งครอบคลุมไปถึงซัพพลายเออร์ของ Huawei ด้วย

อีกทั้งสหรัฐยังได้ออกกฎระเบียบใหม่ที่เรียกว่า “FDPR” (Foreign Direct Product Rule) ห้ามส่งออกอุปกรณ์การผลิต และซอฟต์แวร์ที่สำคัญหลายประเภทไปยังจีน โดยกฎระเบียบนี้ครอบคลุมถึงอุปกรณ์ที่ผลิตในต่างประเทศ หากอุปกรณ์นั้นมีส่วนประกอบทางเทคโนโลยีของสหรัฐ “แม้เพียงเล็กน้อยก็ตาม” ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อจำกัดการเข้าถึงเทคโนโลยีขั้นสูงของจีน

จีนสวนกลับ หยุดส่งแร่ไฮเทค-สอบสวน Nvidia

ในการผลิตชิปสุดล้ำ มีเพียงนวัตกรรมอย่างเดียวไม่พอ แต่จำเป็นต้องมีวัตถุดิบด้วย ซึ่งมาจาก “แร่หายาก” โดยแม้วิทยาการจีนยังไม่ล้ำยุคเท่าสหรัฐ แต่จีนครองการผลิตแร่หายากทั่วโลกถึง 70% จากเหมืองแร่ในหลายประเทศ ตามข้อมูลจาก Now-Gmbh องค์กรวิจัยของรัฐบาลเยอรมนี

ด้วยเหตุนี้ จีนจึงออกคำสั่ง “ห้ามส่งออก” แร่แกลเลียม แร่เจอร์เมเนียม แร่พลวง และวัตถุดิบสำหรับสินค้าไฮเทคต่าง ๆ ไปยังสหรัฐ เพื่อตอบโต้การที่สหรัฐยกระดับมาตรการปิดกั้นเทคโนโลยีชิปที่ไปจีน

เท่านั้นยังไม่พอ จีนยังเปิดการสอบสวนบริษัท “อินวิเดีย” (Nvidia) ผู้ผลิตชิปสำหรับ AI จากสหรัฐ เนื่องจากสงสัยว่า Nvidia ละเมิดกฎหมายต่อต้านการผูกขาด ซึ่งนับเป็น “หมัดสวน” ของจีนเพื่อตอบโต้กรณีที่สหรัฐห้ามไม่ให้ Nvidia ขายชิปสุดล้ำให้

สงครามชิปรุนแรงกว่าเดิมในยุคทรัมป์?

ในเวทีหาเสียงของทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีผู้นี้ประกาศกร้าวที่จะขึ้นภาษีสินค้าจากจีนสูงถึง 60% ซึ่งย่อมกระทบต่อการค้าขายระหว่างกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะยิ่งภาษีสูงขึ้นเท่าไร ต้นทุนสินค้าก็ยิ่งสูงขึ้นตามไปด้วย

ไม่เพียงเท่านั้น ทรัมป์มีแนวโน้มที่จะเข้มงวดกับมาตรการควบคุมการส่งออกชิปล้ำสมัยยิ่งขึ้นกว่าเดิม เพื่อทำให้อเมริกากลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง ตามสโลแกนหาเสียง “Make America Great Again” ที่ได้ให้สัญญากับประชาชน

ส่องอนาคต ‘สงครามชิป’ ปีหน้า ส่อเค้าแรงกว่าเดิมภายใต้ทรัมป์? - โดนัลด์ ทรัมป์ (เครดิต: AFP) -

อย่างไรก็ตาม นักการทูตและล็อบบี้ยิสต์ในอุตสาหกรรมกำลังเตรียมรับความเป็นไปได้ที่หลากหลาย เนื่องจากลักษณะนโยบายต่างประเทศของทรัมป์มักขึ้นอยู่กับ “การเจรจาแบบให้ผลตอบแทนโดยตรง” นั่นหมายความว่า ถ้าจีนต้องการให้ทรัมป์ผ่อนปรนเรื่องมาตรการชิป ก็ต้องยื่นผลประโยชน์อื่นเข้าแลกที่จะทำให้ทรัมป์มองว่าคุ้มค่ามากพอ

ที่ผ่านมา ทรัมป์ไม่ได้ยึดระเบียบพิธีการทูตมากนัก ว่าต้องเกรงใจต่อคู่เจรจาที่เป็นพันธมิตร หรือเป็นบ้านใกล้เรือนเคียงกัน แต่ดำเนินนโยบายที่เน้น “ผลประโยชน์ของชาติ” เป็นหลัก ดังเห็นจากกรณีทรัมป์ที่ต้องการให้แคนาดาเป็นรัฐที่ 51 ของสหรัฐ หรือแม้กระทั่งเผยความต้องการโดยตรงว่าต้องการซื้อเกาะกรีนแลนด์จากเดนมาร์ก ซึ่งค่อนข้างเป็นคำขอเชิงรุกอย่างยิ่ง จนเดนมาร์กเพิ่มงบกลาโหมเพื่อปกป้องเกาะนี้

อีกตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ “กรณีไต้หวัน” ทรัมป์ไม่ได้มองว่าเป็นข้อผูกมัดที่สหรัฐต้องไปปกป้องไต้หวัน หากถูกจีนบุก โดยทรัมป์เคยเอ่ยถึงไต้หวันว่า “ขโมย” อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์จากสหรัฐ และยังให้ความเห็นว่า ไต้หวัน “ควรจ่ายเงินเพิ่มขึ้น” เพื่อดูแลความมั่นคงของตนเอง นั่นจึงทำให้ความเสี่ยงต่อฮับด้านชิปของโลกสูงขึ้น

ในฐานะที่ “ไต้หวัน” เป็นฮับผลิตชิปล้ำสมัยกว่า 90% ของโลก หากจีนแผ่นดินใหญ่บุกไต้หวันจริง ก็อาจสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจโลกสูงถึง 10 ล้านล้านดอลลาร์ ตามการประมาณการของ Bloomberg Economics

ส่องอนาคต ‘สงครามชิป’ ปีหน้า ส่อเค้าแรงกว่าเดิมภายใต้ทรัมป์? - ไต้หวัน (เครดิต: Shutterstock) -

จีนเร่งตุนชิป พร้อมมีไพ่เด็ดในมือ

สำหรับจีนเองก็รับรู้ว่าสหรัฐมีแนวโน้มปิดกั้นเทคโนโลยีจีนสูงขึ้นเรื่อย ๆ จึงได้เร่งตุนสต็อกชิปให้มากที่สุด โดยข้อมูลสำนักงานศุลกากรของจีนระบุว่า ระหว่างเดือนมกราคมถึงพฤศจิกายนในปีนี้ จีนนำเข้าชิปจำนวน 501,470 ล้านชิ้น ซึ่งเพิ่มขึ้น 14.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา อีกทั้งในช่วง 11 เดือนที่ผ่านมา มูลค่าการนำเข้าชิปของจีนแผ่นดินใหญ่รวมอยู่ที่ 349,000 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 10.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

จู จิง รองเลขาธิการสมาคมอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ปักกิ่ง ได้กระตุ้นให้บริษัทผลิตชิปของจีน “เพิ่มความเข้มแข็งในธุรกิจต่างประเทศ” และขยายไปยังประเทศอื่น ๆ มากขึ้น โดยกล่าวว่า อาจมีโอกาสที่จะกลับมาจัดหาชิ้นส่วนชิปบางรายการอีกครั้ง หากความร่วมมือระดับโลกระหว่างสหรัฐ ญี่ปุ่น และยุโรปในการบังคับใช้มาตรการคว่ำบาตรต่อจีนอ่อนแอลงภายใต้การบริหารของทรัมป์

ในขณะเดียวกัน จู จิงก็ย้ำว่า บริษัทต่าง ๆ ของจีนควรเร่งดึงดูดบุคลากรที่มีความสามารถจากต่างประเทศ หากรัฐบาลทรัมป์ในสมัยที่สองยังคงดำเนินนโยบายเหมือนในสมัยแรก จะสร้างความยากลำบากให้กับนักศึกษาและผู้เชี่ยวชาญชาวจีนในการทำงานในสหรัฐ และการมุ่งเน้นสู่ “การพึ่งพาตนเองให้มากขึ้น” คือแนวทางที่ควรเดินหน้า

ด้านบริษัท Jinan Lujing Semiconductor ผู้ผลิตชิปและอุปกรณ์พลังงานของจีนกล่าวว่า “ช่วงสมัยแรกของทรัมป์ ได้ทำให้เราตระหนักถึงความสำคัญของเซมิคอนดักเตอร์และความจำเป็นของการพึ่งพาบริษัทท้องถิ่น ซึ่งเป็นการปูทางให้อุตสาหกรรมชิปของจีนสามารถพึ่งพาตนเองได้”

นอกจากการพึ่งพาตัวเองให้มากขึ้นแล้ว จีนยังมีไพ่เด็ดที่ใช้ต่อกรกับสหรัฐได้ หากทรัมป์บีบจีนด้วยภาษีที่สูงลิ่ว นั่นคือ “แร่หายาก” ดังที่กล่าวไว้ข้างต้น ซึ่งจำเป็นต่อการผลิตชิปและช่วยทำให้ต้นทุนชิปไม่แพงเกินไป เมื่อเทียบกับการขุดแร่เหล่านี้จากสหรัฐเอง

“แร่ธาตุหายากเป็นเครื่องมือทรงพลังที่จีนจะใช้เพื่อตอบโต้รัฐบาลทรัมป์ หากสงครามภาษีทวีความรุนแรงขึ้น” จื้อฉวิน จู นักรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัย Bucknell รัฐเพนซิลเวเนีย แห่งสหรัฐกล่าว


อ้างอิง: scmpscmกรุงเทพธุรกิจtechvoaftreuters