ส่องทิศทาง ‘จีน 2568’ ปีแห่งการกระตุ้นรับความท้าทายใหญ่

ส่องทิศทาง ‘จีน 2568’  ปีแห่งการกระตุ้นรับความท้าทายใหญ่

ทิศทางสำคัญที่คาดว่าจะได้เห็นในปี 2568 นี้ก็คือ การที่จีนหันมาลุยกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างเต็มสูบ ผ่านการกู้ยืม และการใช้จ่ายที่เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะจะ “ยกระดับการบริโภคอย่างเต็มที่”

ประเทศจีนตกอยู่ในภาวะวนลูปกับปัญหาเศรษฐกิจที่เกี่ยวพันกับวิกฤตการณ์ภาคอสังหาริมทรัพย์มาหลายปีติดต่อกันแล้ว แต่สำหรับปีใหม่ 2568 สถานการณ์อาจเปลี่ยนไปจากเดิมเมื่อเริ่มมีสัญญาณ “ข่าวดี” ออกมาอย่างต่อเนื่องในช่วงปลายปี

ถึงอย่างนั้นจีนก็ยังคงมีความท้าทายใหญ่ๆ รออยู่ซึ่งรวมถึง การพลิกฟื้นปัญหาเศรษฐกิจ การรับมือความท้าทายจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ และการครบรอบสิบปียุทธศาสตร์ “เมดอินไชน่า 2025” ที่มาพร้อมกับการครบรอบ 75 ปีการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีนยุคใหม่ ซึ่งล้วนเป็นความท้าทายสำคัญในการฟื้นศรัทธา และความเชื่อมั่นต่อประธานาธิบดี สี จิ้นผิง

กระตุ้น ศก.เต็มสูบ - ตั้งรับทรัมป์เต็มที่

ทิศทางสำคัญที่คาดว่าจะได้เห็นในปี 2568 นี้ก็คือ การที่จีนหันมาลุยกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างเต็มสูบ โดยเป็นผลมาจากการส่งสัญญาณเปลี่ยนทิศทางเศรษฐกิจเมื่อเดือนก.ย. 2567 และตอกย้ำความเชื่อมั่นอีกครั้งจากผลการประชุม Central Economic Work Conference ในเดือนธ.ค. ที่รัฐบาลปักกิ่งส่งสัญญาณว่าจะกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งสำคัญในปี 2568 ผ่านการกู้ยืม และการใช้จ่ายที่เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะจะ “ยกระดับการบริโภคอย่างเต็มที่” เนื่องจากต้องการอุดรูรั่วของเศรษฐกิจหลังจากได้รับผลกระทบจากการขึ้นภาษีศุลกากรจากสหรัฐ

การเปลี่ยนทิศทางครั้งใหญ่ของจีนก็คือ จะกลับไปใช้สูตร “ก่อหนี้กระตุ้นเศรษฐกิจ” ซึ่งเป็นแนวทางที่จีนในยุคสี จิ้นผิง พยายามหลีกเลี่ยงมาตลอดกว่าสิบปีเพราะเคยมีบทเรียนมาจากยุคก่อนจนหนี้ของจีนพุ่งขึ้น 5 เท่า

แต่ที่สุดแล้วหลังจากวนลูปกับปัญหาเศรษฐกิจมาหลายปีติดต่อกันเพราะวิกฤติอสังหาฯ และกำลังจะถูกซ้ำจากประธานาธิบดี “โดนัลด์ ทรัมป์” ที่ชนะเลือกตั้งสหรัฐ จึงทำให้จีนแทบไม่เหลือทางเลือกอื่น และยังเปลี่ยนท่าที “นโยบายการเงิน” เป็นครั้งแรกในรอบ 14 ปี เป็นแนวทาง “ผ่อนคลายระดับปานกลาง” อีกด้วย

เหลียน ผิง นักเศรษฐศาสตร์จากสถาบันวิจัยอุตสาหกรรมกว่างไค ชีฟ ระบุว่า รัฐบาลอาจขยายเพดานการขาดดุลงบประมาณเป็น 4-4.5% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ในนี้ ขณะที่นักวิเคราะห์สำนักอื่นประเมินไว้ที่ประมาณ 4% ซึ่งมากกว่าแนวปฏิบัติปกติที่อยู่ประมาณ 3% ในปัจจุบัน

นอกจากการขยายเพดานการขาดดุลงบประมาณ ทางการจีนจะเพิ่มการออกพันธบัตรรัฐบาลพิเศษระยะยาวพิเศษในปีหน้า ซึ่งบางส่วนจะถูกใช้ในการอุดหนุนกำลังซื้อของผู้บริโภคตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นไป และจะเสนอขายพันธบัตรพิเศษของรัฐบาลท้องถิ่นเพิ่มเติม ซึ่งเป็นแหล่งเงินทุนที่สำคัญสำหรับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน

สอดคล้องกับสำนักข่าวรอยเตอร์สได้รายงานอ้างแหล่งข่าวเมื่อวันที่ 24 ธ.ค.67ว่า จีนได้ไฟเขียวโควตาการออกพันธบัตรรัฐบาลพิเศษวงเงิน 3 ล้านล้านหยวน (ราว 4.11 แสนล้านดอลลาร์) ในปี 2568 ถือเป็นมูลค่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ และก้าวกระโดดจาก 1 ล้านล้านหยวนในปีนี้ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่กำลังชะลอตัว

แหล่งข่าวระบุว่า เงินที่ได้จะถูกนำไปใช้ในหลายด้านเพื่อกระตุ้นการบริโภค ทั้งแผนงบประมาณอุดหนุน การปรับปรุงอุปกรณ์ภาคธุรกิจ และการลงทุนในอุตสาหกรรมขั้นสูง โดยเฉพาะ “สองโครงการใหญ่” และ “สองโครงการใหม่” ที่จะได้รับจัดสรรราว 1.3 ล้านล้านหยวน

ตลาดหุ้นจีนปิดบวกครั้งแรกในรอบ 4 ปี

ในการซื้อขายวันสุดท้ายของปี 2567 เมื่อวันที่ 31 ธ.ค.67 “ตลาดหุ้นจีน” สามารถกลับมาปิดตลาดรอบปีในแดนบวกได้เป็นครั้งแรกในรอบ 4 ปี หลังขาดทุนมา 3 ปีติดต่อกันตั้งแต่ปี 2564, 2565 และ 2566 สะท้อนสัญญาณบวกที่กำลังมาหลังจากที่รัฐบาลจีนดำเนินมาตรการอัดฉีดครั้งใหญ่หลายระลอกในช่วงปลายปี และส่งสัญญาณเตรียมกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่องในปีนี้

ดัชนี CSI 300 ปิดตลาดวันนี้ลบไป 1.6% อยู่ที่ 3,934.91 จุด จากการเปิดเผยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อเดือนธ.ค. ซึ่งลดลงอยู่ที่ 50.1 น้อยกว่าที่โพลล์นักวิเคราะห์ของรอยเตอร์คาดการณ์ไว้ที่ 50.3 แต่จากผลประกอบการตลอดทั้งปีของ CSI 300 สามารถบวกได้ราว 15%

ทั้งนี้ มีเงินลงทุนไหลเข้ากองทุนหุ้นจีนไปแล้วประมาณ 5.6 พันล้านดอลลาร์ ในสัปดาห์ที่สิ้นสุดวันที่ 11 ธ.ค.67 ซึ่งถือเป็นเงินไหลเข้าสูงสุดในรอบ 9 สัปดาห์ โดยการเปิดเผยของนักกลยุทธ์จากแบงก์ออฟอเมริกา ที่อ้างอิงข้อมูลจาก EPFR Global

บลูมเบิร์ก ยังรายงานอ้างข้อมูลจากตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้ว่า นักลงทุนในประเทศกลับมาเปิดบัญชีซื้อขายหุ้นในจีนไป 6.8 ล้านบัญชีในเดือนต.ค. ซึ่งถือเป็นตัวเลขรายเดือนสูงสุดนับตั้งแต่เดือนมิ.ย. 2015 และโมเมนตัมยังคงดำเนินต่อไปในเดือนพ.ย. โดยมีจำนวนประมาณครึ่งหนึ่งของจำนวนดังกล่าว

ครบรอบ 10 ปี ‘เมดอินไชน่า 2025’

เมื่อปี 2558 จีนได้ประกาศแผนยุทธศาสตร์ที่ทะเยอทะยานที่สุดครั้งหนึ่งกับแผน “เมดอินไชน่า 2025” (Made in China 2025) เพื่อเปลี่ยนโฉมจีนในฐานะ "โรงงานผลิตของโลก" ไปสู่การเป็น "ประเทศแห่งนวัตกรรม " ได้ทุ่มงบประมาณนับล้านล้านหยวนไปกับการพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ และนวัตกรรมต่างๆ โดยมีหัวใจหลักๆ อยู่ที่การเพิ่มศักยภาพ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายแห่งอนาคต ลดการพึ่งพาการนำเข้าเพื่อการผลิตจากต่างประเทศ และปรับปรุงการผลิตให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

แผน "เมดอินไชน่า 2025" ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 ของจีน วางกรอบระยะเวลาไว้ 3 ช่วงหลักๆ

  • ช่วงที่หนึ่ง ปี 2559-2568 คือ การพัฒนาและปรับปรุงคุณภาพการผลิต
  • ช่วงที่สอง ปี 2569-2578 เพิ่มขีดความสามารถด้านนวัตกรรม และ
  • ช่วงที่สาม ปี 2579-2592 ยกระดับศักยภาพของอุตสาหกรรมการผลิต ซึ่งในช่วงที่สามนี้จะตรงกับการครบรอบ 100 ปี การก่อตั้งประเทศ (ยุคใหม่) ด้วย

ปีนี้จะนับเป็นการครบรอบ 10 ปีและจบแผนในระยะที่หนึ่ง แต่เว็บไซต์นิกเคอิเอเชียได้รายงานอ้างมุมมองนักวิเคราะห์หลายฝ่ายว่า ประธานาธิบดีสี อาจจะยังไม่รีบอ้างความสำเร็จของแผนเมดอินไชน่า 2025 ในปีนี้ โดยสีไม่เคยอ้างถึงเป้าหมายที่กำหนดไว้สำหรับแผนยุทธศาสตร์นี้ในพื้นที่สาธารณะ และยังไม่มีการประเมินผลอย่างเป็นทางการใดๆ ขณะที่ "การพูดออกมาดังๆ เกี่ยวกับเป้าหมายเชิงตัวเลขที่จีนผลักดันสินค้าจากต่างประเทศออกไปนั้น ยังไม่เกิดประโยชน์ใดๆ ต่อการทูตการค้าของปักกิ่งด้วย" 

อย่างไรก็ตาม หากจะมีการประกาศความสำเร็จในปีนี้ก็คงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจเช่นกัน เมื่อสถิติหลายตัวบ่งชี้ว่าจีนทำได้ทะลุเป้าหมายไปไกลแล้ว เช่น เป้าหมายที่จะขายรถยนต์พลังงานใหม่ในประเทศให้ได้ 3 ล้านคันภายในปี 2568 แต่จีนทำลายสถิตินี้ไปแล้วตั้งแต่ปี 2566 ด้วยยอดขายถึงเกือบ 9.5 ล้านคันในประเทศ และแบรนด์รถยนต์จีนอย่าง BYD ก็กำลังเป็นดาวรุ่งในระดับโลกที่แข่งขันกับเทสลา และค่ายรถชั้นนำในยุโรป และญี่ปุ่น

ขณะเดียวกัน ปีนี้ยังเป็นการครบรอบ 75 ปีการสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน ที่อาจจะต้องมีการกระตุ้นความเชื่อมั่น และกำลังใจกันกลับมาอีกด้วย

 

 


พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์