จีนชะลอเพิ่มสภาพคล่องให้แบงก์ อ้างเก็บเป็นเครื่องมือสู้ ‘ภาษีทรัมป์ 2.0’

จีนชะลอเพิ่มสภาพคล่องให้แบงก์ อ้างเก็บเป็นเครื่องมือสู้ ‘ภาษีทรัมป์ 2.0’

จีนชะลอเพิ่มสภาพคล่องให้แบงก์พาณิชย์คาดลด RRR เร็วที่สุดไตรมาส 1 ปี 2025 อ้างเก็บเป็นเครื่องมือรับมือ ‘ภาษีทรัมป์ 2.0’ หลังเพิ่งจะทุ่มเม็ดเงินมหาศาล 1.7 ล้านล้านหยวน (2.33 แสนล้านดอลลาร์) เข้าระบบผ่านธุรกรรมซื้อคืนและพันธบัตรรัฐบาล

สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานวันนี้ (2 ธ.ค.) ว่า ธนาคารกลางจีน (PBOC) อัดฉีดสภาพคล่องจำนวนมหาศาลเข้าสู่ตลาดในช่วงปลายปี 2024 โดยไม่ใช้มาตรการกระตุ้นที่โดดเด่นมากนัก เนื่องจากเจ้าหน้าที่ต้องการรักษาพื้นที่นโยบายไว้ก่อนที่โดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐจะกลับเข้ารับตำแหน่ง

ก่อนหน้านี้ PBOC ส่งสัญญาณว่าอาจเพิ่มสภาพคล่องให้กลุ่มธนาคารพาณิชย์ โดยการลดอัตราส่วนเงินสำรองตามกฎหมาย (RRR) อีกครั้งภายในสิ้นปี 2024 แต่ปัจจุบันนักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งคาดว่าจะดำเนินการดังกล่าวในไตรมาสแรกของปีนี้แทน เนื่องจากเจ้าหน้าที่ยังคงเก็บเครื่องมือที่นี้ไว้เพราะอาจช่วยบรรเทาผลกระทบด้านลบจากภาษีนำเข้าใหม่ของสหรัฐ

จีนชะลอเพิ่มสภาพคล่องให้แบงก์ อ้างเก็บเป็นเครื่องมือสู้ ‘ภาษีทรัมป์ 2.0’ คาดการณ์ลด RRR โดยทางการจีน

 

เพื่อให้แน่ใจว่าตลาดมีสภาพคล่องเพียงพอ ในเดือนที่แล้ว PBOC ได้อัดฉีดเงินสด 1.7 ล้านล้านหยวน (233 พันล้านดอลลาร์) ให้กับธนาคารผ่านธุรกรรมซื้อคืนแบบเบ็ดเสร็จ (Reverse Repo) และการซื้อพันธบัตรรัฐบาล การดำเนินการดังกล่าวเกินกว่าจำนวนเงินกู้หนึ่งปีรายเดือนสูงสุดที่เคยให้ผ่านโครงการ “Medium-term Lending” (MLF) ซึ่งเคยเป็นเครื่องมือหลักของ PBOC สำหรับการอัดฉีดสภาพคล่องทว่าปัจจุบันทางการจีนกำลังพิจารณายกเลิกเครื่องมือดังกล่าว

การดำเนินการข้างต้นช่วยบรรเทาการถอนสภาพคล่องผ่าน MLF ที่สูงเป็นประวัติการณ์ในเดือนที่แล้ว ส่งผลให้มีการเพิ่มเงินสดสุทธิ 5.50 แสนล้านหยวน ซึ่งเทียบเท่ากับผลกระทบจากการลด RRR 0.25% ตามการวิเคราะห์ของนักวิเคราะห์แหล่งข่าวของบลูมเบิร์ก

จีนชะลอเพิ่มสภาพคล่องให้แบงก์ อ้างเก็บเป็นเครื่องมือสู้ ‘ภาษีทรัมป์ 2.0’

"รัฐบาลจีนมองการลด RRR เป็นเครื่องมือรับมือกับความเสี่ยงด้านภาษีและรักษาเสถียรภาพตลาด ดังนั้นจึงมีแนวโน้มที่จะถูกเลื่อนออกไปจนกว่าสหรัฐจะขึ้นภาษี" ซิง จ้าวเพ็ง นักยุทธศาสตร์อาวุโสด้านจีนจาก ANZ Banking Group Ltd. กล่าว โดยเสริมว่า ช่วงเวลาที่เป็นไปได้ในการเริ่มลด RRR คือก่อนวันตรุษจีน ซึ่งเริ่มในวันที่ 28 ม.ค.

 

อัตราแลกเปลี่ยนและพันธบัตร

นักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งประเมินว่า PBOC มีเหตุผลหลายประการที่จะค่อยๆ ลดจำนวนเงินสดที่ธนาคารต้องสำรองไว้ รวมถึงความจำเป็นในการรักษาเสถียรภาพของเงินหยวนและหลีกเลี่ยงการกระตุ้นการเก็งกำไรในตลาดพันธบัตรรัฐบาล

การลด RRR ซึ่งโดยปกติใช้อย่างจำกัด อาจเพิ่มแรงกดดันต่อสกุลเงินจีนเพราะส่งสัญญาณชัดเจนถึงการผ่อนคลายนโยบายการเงิน โดยอาจนำไปสู่การลดลงของผลตอบแทนสินทรัพย์สกุลเงินหยวนเมื่อเทียบกับสินทรัพย์สกุลดอลลาร์และผลักดันให้เงินทุนไหลออก

บรูซ ปัง นักวิจัยอาวุโสจากสถาบันการเงินและการพัฒนาแห่งชาติ เปิดเผยว่า หากธนาคารกลางสหรัฐ ส่งสัญญาณที่ผ่อนคลายมากขึ้นในเดือนม.ค. จีนอาจมีพื้นที่มากขึ้นในการลด RRR ก่อนเทศกาลตรุษจีน

จีนชะลอเพิ่มสภาพคล่องให้แบงก์ อ้างเก็บเป็นเครื่องมือสู้ ‘ภาษีทรัมป์ 2.0’ เงินหยวนจีนอยู่ภายใต้แรงกดดัน

ธนาคารกลางยังแสดงความไม่สบายใจกับการพุ่งขึ้นของพันธบัตรรัฐบาลที่ทำสถิติใหม่หลังจากอัตราผลตอบแทนร่วงลงสู่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ การเพิ่มสภาพคล่องมากเกินไปอาจกระตุ้นให้นักลงทุนทุ่มเงินเข้าพันธบัตร

ขณะที่ โจว ห่าว หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จาก Guotai Junan International กล่าวว่า

สภาพคล่องมักตึงตัวในช่วงสิ้นไตรมาสแรก ดังนั้นอาจเป็นเวลาที่เจ้าหน้าที่ตัดสินใจลด RRR อีกครั้ง

ผู้กำหนดนโยบายระดับสูงของจีนได้ให้คำมั่นที่จะใช้นโยบายการเงิน "ผ่อนคลายปานกลาง" ในปี 2025 เปลี่ยนจากท่าที "รอบคอบ" ที่ยึดถือมา 14 ปี ซึ่ง PBOC ยังปรับปรุงเครื่องมือเพื่อให้มีอิทธิพลต่อตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพและยืดหยุ่นมากขึ้น

"จำเป็นต้องมีการดำเนินการที่สำคัญเพื่อกระตุ้นอุปสงค์อย่างมีประสิทธิภาพในปี 2025" คาร์โรส์ คาซาโนวา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสประจำเอเชียจาก Union Bancaire Privee กล่าว พร้อมอธิบายเสริมว่า "นอกเหนือจากการกระตุ้นสภาพคล่องอย่างต่อเนื่อง เราคาดว่าธนาคารจะขยายงบดุลอย่างมีนัยสำคัญและไม่ตัดทิ้งความเป็นไปได้ในการซื้อหุ้นโดยตรง"

อ้างอิง: Bloomberg