หนุ่มสาวจีนคว่ำบาตร ‘ระบบบำนาญ’ หยุดจ่ายเงินกองทุน กังวลเงินหมดก่อนเกษียณ
หนุ่มสาวจีนหลายล้านคนคว่ำบาตร ‘เงินบำนาญ’ หยุดจ่ายเงินเข้ากองทุน กังวลเงินหมดก่อนเกษียณ ทำกองทุนเสี่ยงเงินหมด - ขาดสภาพคล่องในอีก 10 ปี
สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานว่า “ระบบบำนาญ” ของจีนกำลังเผชิญกับวิกฤติรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ โดยมีการคาดการณ์ว่าระบบบำนาญอาจขาดสภาพคล่องภายในระยะเวลาเพียงหนึ่งทศวรรษหรือในอีก 10 ปีเท่านั้น เมื่อมีรายงานว่าคนงานจำนวนมาก โดยเฉพาะกลุ่มคนหนุ่มสาว ได้หยุดชำระเงินเข้ากองทุนบำนาญ
คนรุ่นใหม่ในจีนกำลังกังวลว่า เงินที่ส่งเข้ากองทุนบำนาญไว้เพื่อใช้ในยามเกษียณอาจไม่เพียงพอ หรืออาจสูญหายไป เนื่องจากระบบบำนาญกำลังเผชิญกับความท้าทายอย่างหนัก
ทว่าเรื่องนี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในจีนเท่านั้น ประเทศอื่นๆ ทั่วโลกก็กำลังเผชิญกับปัญหาคล้ายกัน โดยระบบสวัสดิการสังคมที่ออกแบบมาเพื่อดูแลผู้สูงอายุเริ่มแสดงสัญญาณของความเปราะบาง
สังคมสูงวัยในจีน
ในช่วงทศวรรษหน้า คาดว่าจะมีชาวจีนมากกว่า 20 ล้านคนเกษียณอายุในแต่ละปี ซึ่งจะทำให้จำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว คาดการณ์ว่าจะมีชาวจีนมากกว่า 400 ล้านคน ภายในปี 2035 จากประชากรทั้งหมด 1,400 ล้านคน ณ ปัจจุบัน หรือคิดเป็นกว่าหนึ่งในสี่ของประชากรทั้งหมดที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ซึ่งมากกว่าจำนวนประชากรของสหรัฐอเมริกา และแคนาดารวมกัน
ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.68 เป็นต้นมา สภานิติบัญญัติของจีนเริ่มปรับเพิ่มอายุ เกษียณ ของชาวจีนเป็นครั้งแรกในรอบ 46 ปี และจะเป็นการปรับอายุขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งจะใช้ถึงปี 2040 จึงจะมีผลบังคับใช้เต็มรูปแบบ
เป้าหมายสุดท้ายของแผน 15 ปีนี้คือ การปรับเพิ่มอายุเกษียณสำหรับผู้ชายจาก 60 เป็น 63 ปี สำหรับผู้หญิงที่ทำงานในโรงงานจาก 50 เป็น 55 ปี และสำหรับผู้หญิงที่ทำงานออฟฟิศจาก 55 เป็น 58 ปี
จีนกำลังเผชิญกับปัญหาแรงงานลดน้อยลง และงบประมาณเงินบำนาญที่ขาดแคลน ซึ่งอาจสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจได้อย่างมาก นักเศรษฐศาสตร์เรียกร้องให้มีการปฏิรูปกฎหมายเกี่ยวกับอายุเกษียณของประเทศ ซึ่งปัจจุบันอายุเกษียณของจีนจัดว่าต่ำที่สุดในโลก ทั้งๆ ที่อายุขัยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นอย่างมาก ในปี 2023 อายุขัยเฉลี่ยของคนจีนเพิ่มขึ้นเป็น 78.6 ปี จากประมาณ 44 ปีในปี 1960
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์