‘จีน’ ส่งสัญญาณฟื้น ภาคบริการพุ่งสูงสุดรอบ 7 เดือน แต่ยังกังวลสงครามการค้า

‘จีน’ ส่งสัญญาณฟื้น ภาคบริการพุ่งสูงสุดรอบ 7 เดือน แต่ยังกังวลสงครามการค้า

‘จีน’ ส่งสัญญาณฟื้นตัว ไฉซินเผย PMI ภาคบริการจีนเดือนธ.ค.พุ่งสูงสุดในรอบ 7 เดือน รับดีมานด์แกร่ง ท่ามกลางความกังวลสงครามการค้า แบงก์ชาติจีนเร่งออกนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ-การลงทุน

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานถึง ผลสำรวจของไฉซิน/เอสแอนด์พี โกลบอล (Caixin/S&P Global) ซึ่งมีการเผยแพร่ในวันนี้ (6 ม.ค.) ระบุว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการเดือนธ.ค. พุ่งขึ้นแตะระดับ 52.2 จากระดับ 51.5 ในเดือนพ.ย.  ของจีนขยายตัวในอัตราที่รวดเร็วที่สุดในรอบ 7 เดือน โดยได้แรงหนุนจากอุปสงค์ภายในประเทศที่ปรับตัวขึ้นอย่างแข็งแกร่ง  บ่งชี้ว่า ภาคบริการของจีนยังคงมีการขยายตัว

ผลสำรวจยังระบุด้วยว่า ดัชนีธุรกิจใหม่ปรับตัวขึ้นแตะระดับ 52.7 ในเดือนธ.ค. จากระดับ 51.8 ในเดือนพ.ย. แต่ยอดสั่งซื้อจากต่างประเทศปรับตัวลง ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าสงครามการค้าที่รุนแรงมากขึ้นนั้นมีความเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจจีน

รายงานดัชนี PMI ภาคบริการเดือนธ.ค.ซึ่งสำรวจโดยไฉซิน/เอสแอนด์พี โกลบอลนั้น สอดคล้องกับที่สำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (NBS) รายงานเมื่อวันที่ 31 ธ.ค.ว่า ดัชนี PMI ภาคบริการเดือนธ.ค.ของจีน ปรับตัวขึ้นแตะระดับ 52.2 ในเดือนธ.ค. จากระดับ 50.0 ในเดือนพ.ย. โดยดัชนี PMI ที่สูงกว่า 50 บ่งชี้ว่าภาคบริการของจีนยังคงขยายตัว

เศรษฐกิจจีนเผชิญหน้ากับความท้าทายอย่างหนักในช่วงที่ผ่านมา โดยการบริโภคภายในประเทศที่ซบเซา การลงทุนที่ชะลอตัว และวิกฤติภาคอสังหาริมทรัพย์ที่รุนแรงได้ส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ แม้ว่าการส่งออกยังเป็นปัจจัยบวกให้กับเศรษฐกิจจีน แต่ก็มีความเสี่ยงที่จะเผชิญกับอุปสรรคจากนโยบายการค้าของสหรัฐภายใต้การบริหารของทรัมป์หากกลับมาดำรงตำแหน่งอีกครั้ง

จีนอัดนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ

เพื่อรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าว รัฐบาลจีนได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหลากหลายรูปแบบ ทั้งนโยบายการเงินและการคลัง เพื่อพยุงเศรษฐกิจที่กำลังอ่อนแอลง

ก่อนหน้านี้ ธนาคารกลางจีน (PBOC) เปิดเผยกับหนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียลไทมส์ว่า PBOC อาจจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยจากปัจจุบันที่ระดับ 1.5% “ในเวลาที่เหมาะสม” ในปีนี้ รวมทั้ง PBOC ส่งสัญญาณว่าอาจเพิ่มสภาพคล่องให้กลุ่มธนาคารพาณิชย์ โดยการลดอัตราส่วนเงินสำรองตามกฎหมาย (RRR)  ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในการกระตุ้นการปล่อยสินเชื่อและการลงทุน ท่ามกลางเศรษฐกิจที่กำลังอ่อนแอ

 หวัง เจ๋อ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสจากไฉซินเผยว่า นับตั้งแต่ปลายเดือนกันยายนเป็นต้นมา มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐบาลจีนได้ดำเนินการนั้นเริ่มส่งผลบวกต่อตลาดและเศรษฐกิจโดยรวม

อ้างอิง Reuters