จับตาวิกฤติต่อเนื่องปี 2568 | Asean Insight

จับตาวิกฤติในปี 2568 ความท้าทายในปีก่อน ยังคงส่งผลจนถึงปีนี้ ทั้งภัยธรรมชาติ ความท้าทายทางเศรษฐกิจ ความขัดแย้งระหว่างประเทศ และความมั่นคงทางการเมือง

ผ่านพ้นปี 2567 ที่เต็มไปด้วยการเปลี่ยนแปลง ภัยธรรมชาติ ความท้าทายทางเศรษฐกิจ ความขัดแย้งระหว่างประเทศ และความมั่นคงทางการเมือง และในปี 2568 นี้ เราก็ยังต้องเผชิญหน้ากับประเด็นความท้าทายที่อาจจะรับมือได้ยากยิ่งขึ้น

สิ่งแวดล้อมเป็นประเด็นแรกที่ไม่สามารถเลี่ยงได้ ปีที่ผ่านมาอุณหภูมิสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ ปี 2568 มีการคาดการณ์ว่าจะเป็นปีที่ร้อนที่สุดอันดับ 3 รองจากปี 2567 และ 2566 การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยังทวีความรุนแรงแม้นานาประเทศจะพยายามมีมาตรการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างเข้มข้น แต่ไม่อาจเห็นผลได้ในเร็ววัน

อย่างไรก็ตาม การแก้ไขและปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศกำลังพัฒนาและ LDCs มีความต้องการด้านการเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจำนวนมาก ซึ่งปัจจุบันยังคงไม่เพียงพอ ยิ่งไปกว่านั้นประเด็นเรื่องการรับมือกับภัยพิบัติ การแก้ปัญหาการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ไปจนถึงขยะพลาสติก ก็เป็นความท้าทายที่ต้องได้รับการจัดการอย่างจริงจังยิ่งขึ้น

โรคระบาดยังคงจำเป็นต้องเฝ้าระวัง ทั้งไข้หวัดนก โควิด-19 อหิวาตกโรค ไข้เลือดออก ฝีดาษลิง รวมถึงโรคอุบัติใหม่/อุบัติซ้ำ ที่อาจมีการระบาดในปีนี้ และการยกระดับด้านสาธารณสุขยิ่งมีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยในการควบคุมโรคระบาดจะมีความท้าทายอย่างมากในประเทศที่ระบบสาธารณสุขไม่เข้มแข็ง หรือมีการโยกย้ายถิ่นฐานและแรงงานข้ามชาติ ทำให้ประเทศในอาเซียนมีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดได้ง่ายและควบคุมโรคได้ยาก

ผลจากการเมืองต่างประเทศกรณีสหรัฐ จะส่งผลถึงอาเซียนโดยเฉพาะนโยบายด้านการค้าและเศรษฐกิจที่ประเทศในอาเซียนก็มีความเสี่ยงโดนเก็บภาษีนำเข้าเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเวียดนาม นอกจากนี้ ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐและจีนก็จะส่งผลต่อการค้าการลงทุนทั่วโลก แต่อาเซียนเองก็สามารถได้ประโยชน์จากการเป็นฐานการผลิตและแหล่งวัตถุดิบของทั้งสหรัฐและจีนได้เช่นกัน

ความขัดแย้งระหว่างประเทศที่ยังตึงเครียดทั้งยูเครน-รัสเซีย และตะวันออกกลาง สร้างความไม่แน่นอนให้กับเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะด้านพลังงาน ซึ่งปีนี้มีแนวโน้มที่ราคาน้ำมันอาจมีการผันผวน และความพยายามในการเปลี่ยนผ่านพลังงานจากฟอสซิลสู่พลังงานสะอาด นอกจากนี้ ราคาพลังงานฟอสซิลที่ผันผวนและต้นทุนพลังงานสะอาดที่สูงยังเป็นความท้าทายของประเทศในอาเซียนที่กำลังพยายามเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานด้วย

เทคโนโลยีโดยเฉพาะ AI ที่พัฒนาอย่างรวดเร็วจะเข้ามามีบทบาทมากยิ่งขึ้น สำหรับภาคธุรกิจจะสามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพได้เป็นอย่างดี ในอีกด้าน ความเสี่ยงจากการใช้เทคโนโลยีก็มีมากขึ้นด้วย ทั้งในประเด็นการทดแทนแรงงาน จริยธรรม AI และความเสี่ยงในการใช้เทคโนโลยีในการก่ออาชญากรรม

ทั้งวิกฤติสิ่งแวดล้อม โรคระบาด การเมืองระหว่างประเทศ ความขัดแย้ง และเทคโนโลยี จะเป็นสิ่งที่อาเซียนต้องเตรียมพร้อมในปีนี้ การเตรียมความพร้อมทั้งนโยบายและยกระดับการเฝ้าระวังในด้านต่าง ๆ จะช่วยให้ประเทศในอาเซียนรวมถึงไทยสามารถรับมือกับวิกฤติต่าง ๆ ไปจนถึงประเด็นอุบัติใหม่ได้อย่างเหมาะสมและได้รับผลกระทบด้านลบน้อยที่สุด