แอลกอฮอล์เข้าสู่ยุคเสื่อม? เมื่อเบียร์-เหล้า-ไวน์แบบไร้แอลกอฮอล์โตแรง

แอลกอฮอล์เข้าสู่ยุคเสื่อม? เมื่อเบียร์-เหล้า-ไวน์แบบไร้แอลกอฮอล์โตแรง

ตลาดเบียร์-เหล้า-ไวน์แบบไร้แอลกอฮอล์มาแรง! โดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่ แต่เส้นทางกลับไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ การผลิตเครื่องดื่มมึนเมาเหล่านี้ให้ปราศจากแอลกอฮอล์ โดยยังคงรสชาติและกลิ่นเหมือนเดิมนั้นไม่ง่าย

KEY

POINTS

  • ยอดขายเครื่องดื่มไม่ว่าจะเป็นเบียร์ ไวน์ หรือสุราที่ไม่มีแอลกอฮอล์ทั่วโลกในปี 2023 อยู่ที่ราว 6.9 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าจากเมื่อ 5 ปีก่อน
  • ในสมัยอียิปต์โบราณเมื่อราว 5,000 ปีก่อนคริสตกาล ชาวอียิปต์ในสมัยนั้นมักต้ม “ไซธัม” (Zythum) ซึ่งเป็นเบียร์มอลต์โบราณ และคาดว่าเป็นต้นกำเนิดของเบียร์ไร้แอลกอฮอล์
  • “ไวน์ไร้แอลกอฮอล์” ถือว่าผลิตยากยิ่งกว่าเบียร์เสียอีก เพราะไวน์นั้นพึ่งพาแอลกอฮอล์อย่างมากในการสร้างรสชาติและสัมผัสในปาก

แต่เดิมนั้น การสังสรรค์อะไรต่าง ๆ จะมาคู่กับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไม่มากก็น้อย แต่เทรนด์นี้กำลังเปลี่ยนไปในปัจจุบัน เมื่อคนรุ่นใหม่หันไปเลือก “เครื่องดื่มปราศจากแอลกอฮอล์” มากขึ้นแทน ไม่ว่าเบียร์ ไวน์ สุราที่ยังคงมีรสชาติและกลิ่นอายใกล้เคียงแบบเดิม แต่ปราศจากแอลกอฮอล์ 

เห็นได้จาก “1 ใน 3 ของชาวอเมริกัน” วางแผนที่จะเข้าร่วมกิจกรรม “งดเหล้าเข้ามกรา” (Dry January) ในปี 2025 นี้ ไม่ว่าจะเป็นลดการดื่มหรืองดเว้นแอลกอฮอล์ตลอดทั้งเดือน โดยในกลุ่มผู้ดื่มเจน Z และ Millennial ตัวเลขดังกล่าวเพิ่มขึ้นเป็น 49% ตามงานวิจัยของ The New Consumer and Coefficient Capital ซึ่งเป็นกลุ่มศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภค

ไม่เพียงในอเมริกาเท่านั้น แม้แต่กลุ่มเจน Z ในจีนและญี่ปุ่นก็มีแนวโน้มเลือกเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์น้อยลงด้วย

เหตุผลเพราะนับตั้งแต่ช่วงโควิด-19 เป็นต้นมา ผู้คนหันมาใส่ใจสุขภาพมากขึ้น ส่งผลให้อุตสาหกรรมเครื่องดื่มไร้แอลกอฮอล์โตแรงในขณะนี้ ตอบรับกระแสรักสุขภาพ การควบคุมน้ำหนัก ไปจนคนผู้ที่ชอบสังสรรค์ แต่ไม่ต้องการเมา 

ตามข้อมูลจาก Euromonitor บริษัทวิจัยตลาดในลอนดอนระบุว่า ยอดขายเครื่องดื่มไม่ว่าจะเป็นเบียร์ ไวน์ หรือสุราที่ไม่มีแอลกอฮอล์ทั่วโลกในปี 2023 อยู่ที่ 20,000 ล้านดอลลาร์ หรือราว 6.9 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าจากเมื่อ 5 ปีก่อน และเติบโตสูงถึง 20% ในปี 2023 เมื่อเทียบกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่เติบโตเพียง 8% สะท้อนศักยภาพในการเติบโตของตลาดนี้ที่น่าจับตามอง

เพื่อตอบสนองต่อกระแสดังกล่าว ยักษ์ใหญ่ในวงการสุราต่างพัฒนาเครื่องดื่มไร้แอลกอฮอล์ของตนเอง “Diageo” บริษัทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ข้ามชาติของอังกฤษ ใช้เวลาสองปีทดลองกว่า 400 สูตรสำหรับเหล้ากัปตันมอร์แกน เวอร์ชั่นไร้แอลกอฮอล์ และเพิ่งเข้าซื้อกิจการ Ritual แบรนด์เครื่องดื่มไร้แอลกอฮอล์ด้วย

ส่วน “LVMH” เจ้าของแชมเปญ Moët & Chandon ก็หันมาลงทุนใน French Bloom แบรนด์ไวน์สปาร์คกลิ้งแบบไร้แอลกอฮอล์

แอลกอฮอล์เข้าสู่ยุคเสื่อม? เมื่อเบียร์-เหล้า-ไวน์แบบไร้แอลกอฮอล์โตแรง

- ไวน์ French Bloom แบบ 0.0% Alcohol -

ดื่มด่ำรสชาติโดยไม่เมา

ถึงแม้ตลาดนี้เติบโตอย่างรวดเร็ว แต่การผลิตเครื่องดื่มมึนเมาเหล่านี้ให้ปราศจากแอลกอฮอล์ โดยยังคงรสชาติและกลิ่นเหมือนเดิมนั้น “ไม่ง่าย” เพราะเป็นการเปลี่ยนพื้นฐานเดิมของเครื่องดื่มพวกนี้ 

อย่างไรก็ตาม ในบรรดาเครื่องดื่มมึนเมาต่าง ๆ “เบียร์” ถือเป็นเครื่องดื่มที่ถูกแปลงให้ปราศจากแอลกอฮอล์ได้ง่ายที่สุด ย้อนไปในสมัยอียิปต์โบราณเมื่อประมาณ 5,000 ปีก่อนคริสตกาล ชาวอียิปต์ในสมัยนั้นมักต้ม “ไซธัม” (Zythum) ซึ่งเป็นเบียร์มอลต์โบราณ และน่าจะเป็นต้นกำเนิดของเบียร์ไร้แอลกอฮอล์ กระบวนการคือ หมักบ่มให้นานจนแอลกอฮอล์ที่มีอยู่หายไป แต่ยังคงกลิ่นอายของเบียร์

ต่อมาในช่วงทศวรรษ 1970 มีการพัฒนาเบียร์ไร้แอลกอฮอล์กันอย่างแพร่หลาย เพื่อใช้บูชาทวยเทพและในพิธีศาสนา นั่นจึงทำให้อุตสาหกรรมเบียร์ก้าวหน้าอย่างมาก จนครอง 89% ของยอดขายตลาดเครื่องดื่มไร้แอลกอฮอล์ เมื่อเทียบกับไวน์ที่ 7% และสุราที่ 4% ตามข้อมูลจากบริษัทวิจัย Bernstein

แทนที่จะใช้ความร้อนในการระเหยแอลกอฮอล์ออกจากเบียร์ ซึ่งจะทำลายรสชาติ ผู้ผลิตจึงหันมาใช้กรรมวิธีผลิตพิเศษที่พัฒนาขึ้นเป็นความลับเฉพาะของตนเอง โดย Athletic Brewing แบรนด์คราฟต์เบียร์ชั้นนำจากอเมริกาก็เป็นหนึ่งในนั้น โดยกำลังดำเนินการจดสิทธิบัตรกระบวนการผลิต เพื่อรักษาความได้เปรียบทางการแข่งขัน

ในส่วนของ “ไวน์ไร้แอลกอฮอล์” ถือว่าผลิตยากยิ่งกว่าเบียร์เสียอีก ไวน์นั้นพึ่งพาแอลกอฮอล์อย่างมากในการสร้างรสชาติและสัมผัสในปาก ซึ่งการดื่มไวน์ไม่ใช่เพียงกลืนลงคอ แต่ควรกลั้วให้ทั่วปากเบา ๆ ราว 5 วินาทีก่อน เพื่อค่อย ๆ ดื่มด่ำกับรสสัมผัสก่อนกลืน โดยถ้ากำจัดแอลกอฮอล์ออกไป มักจะส่งผลให้รสของไวน์เสื่อม

แม้ว่าในปัจจุบันจะมีเทคโนโลยีการสกัดแอลกอฮอล์ออกไป เช่น ออสโมซิสแบบย้อนกลับ (Reverse Osmosis) และเทคโนโลยีกรวยหมุน (Spinning Cone Technology) ซึ่งเป็นการสร้างแรงเหวี่ยงเพื่อแยกสารละลายออกมา แต่กระบวนการเหล่านี้มักกระทบต่อรสชาติและกลิ่นอันเป็นเอกลักษณ์ของไวน์ เนื่องจากแอลกอฮอล์มีบทบาทสำคัญในการสร้างรสชาติและสัมผัสในปาก ดังที่มอริทซ์ ไซเรวิตซ์ ผู้ก่อตั้ง The Gentle Wine แบรนด์เครื่องดื่มไร้แอลกอฮอล์ชั้นนำของเยอรมันกล่าวว่า

“อุตสาหกรรมไวน์ยังคงตามหลังอุตสาหกรรมเบียร์อยู่ราว 20 ปี”

สำหรับ "เหล้า" นั้น Seedlip บริษัทสัญชาติอังกฤษได้ผลิตเหล้าจากพืชสมุนไพรโดยไม่มีแอลกอฮอล์ ซึ่งบริษัทอธิบายผลิตภัณฑ์ของตนว่า เป็นสุราไม่มีแอลกอฮอล์ที่กลั่นครั้งแรกของโลก มีขาย 4 รสชาติ ได้แก่ “Garden 108” (ถั่วลันเตาและสมุนไพรในสวน), “Spice 94” (เครื่องเทศ, เปลือกส้มและเปลือกไม้), “Grove 42” (ส้มและเครื่องเทศ) และ “Notas de Agave” (กระบองเพชร, มะนาว และว่านอะกาเว)

แอลกอฮอล์เข้าสู่ยุคเสื่อม? เมื่อเบียร์-เหล้า-ไวน์แบบไร้แอลกอฮอล์โตแรง

- สุรา Seedlip ไร้แอลกอฮอล์ (เครดิต: Seedlip) -

แอลกอฮอล์เข้าสู่จุดถดถอย?

หลายคนอาจคิดว่า “เครื่องดื่มไร้แอลกอฮอล์” กำลังเข้ามาแย่งตลาดเครื่องดื่มมึนเมา จากการเติบโตที่รวดเร็ว และคนรุ่นใหม่อย่างเจน Z ทั่วโลกที่หันมาลดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากขึ้น แต่อันที่จริงแล้ว เมื่อมองภาพรวมในทุกช่วงอายุกลับไม่ได้เป็นเช่นนั้น เป็นการเติบโตเคียงคู่ไปพร้อม ๆ กันมากกว่า

นาดีน ซาร์วัตจากบริษัทวิจัย Bernstein พบว่า ผู้บริโภคชาวอเมริกันกว่า 94% ที่ซื้อเครื่องดื่มทางเลือกที่ไม่มีแอลกอฮอล์ ยังคงมีซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อยู่เช่นกัน

นอกจากนี้ อีกหนึ่งความท้าทายของธุรกิจไร้แอลกอฮอล์ คือ ราคาค่อนข้างสูง เนื่องด้วยต้องใช้เทคโนโลยีพิเศษในการผลิตดังที่กล่าวไป โดยเฉพาะเครื่องดื่มเรียกน้ำย่อย (Apéritif) ที่ไม่มีแอลกอฮอล์นั้น มีราคาสูงเกินคาด บางชนิดอาจมีราคาสูงถึง 40 ดอลลาร์หรือราว 1,400 บาทต่อขวด ซึ่งขัดกับความคาดหวังของผู้บริโภคที่ต้องการเครื่องดื่มไร้แอลกอฮอล์ในราคาที่จับต้องได้มากกว่านี้ โดยผลสำรวจของ The New Consumer ชี้ให้เห็นว่า เกือบ 40% ของชาวอเมริกันมองว่า เครื่องดื่มประเภทนี้ควรมีราคาถูกกว่าเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์

ทั้งนี้ สำหรับรายได้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั่วโลกขึ้นแตะ 1.7 ล้านล้านดอลลาร์ในปี 2025 ตามข้อมูลสถิติ Statista โดยผู้บริโภคใน “กลุ่มผู้สูงอายุ” กำลังดื่มแอลกอฮอล์มากขึ้น ซึ่งช่วยชดเชยตัวเลขการดื่มที่ลดลงใน “กลุ่มคนรุ่นใหม่”

อ้างอิง: economistnewsweekscmpseedstatista