‘สิงคโปร์’ แซงหน้าจีน ฐานะประตูต่างชาติสู่ 'ไทย' ดูดเม็ดเงิน 1.14 ล้านล้านบาท
‘สิงคโปร์’ แซงหน้าจีน กลายเป็นแหล่งลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศที่สำคัญที่สุดของไทย สะท้อนให้เห็นบทบาทสำคัญของสิงคโปร์ในฐานะ ‘ประตู’ สู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เว็บไซต์นิกเกอิ เอเชียรายงานว่า ในปี 2567 “สิงคโปร์” แซงหน้า “จีน” กลายเป็นแหล่งลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ที่สำคัญที่สุดของไทย เนื่องจากบริษัทจีนและอเมริกันใช้ฐานการผลิตในสิงคโปร์เพื่อริเริ่มโครงการต่าง ๆ มากขึ้น โดยเฉพาะดาต้าเซ็นเตอร์และโรงงานอิเล็กทรอนิกส์แห่งใหม่
คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ประกาศเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาว่า ภาคดิจิทัลและอิเล็กทรอนิกส์ดึงดูดเงินลงทุนรวม 475,000 ล้านบาทในปีที่ผ่านมา ซึ่งรวมถึงคำมั่นสัญญาจากบริษัทเทคโนโลยีระดับโลกอย่าง Google ในการตั้งศูนย์ข้อมูลในไทย
ในปีที่ผ่านมา ไทยได้รับเงินลงทุนรวม 1.14 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 35% เมื่อเทียบเป็นรายปี และสูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2557 โดยนายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนอธิบายว่า การเติบโตดังกล่าวเกิดจาก “ความเป็นกลางทางภูมิรัฐศาสตร์” ของไทยในภาคบริการดิจิทัลและอิเล็กทรอนิกส์
นายนฤตม์เสริมต่อว่า ปี 2568 จะเป็น “ปีแห่งโอกาส” สำหรับประเทศไทย โดยทำหน้าที่เชื่อมช่องว่างทางเศรษฐกิจระหว่างสองมหาอำนาจ ขณะที่สงครามการค้าครั้งใหม่กำลังก่อตัวขึ้นระหว่างจีนและรัฐบาลสหรัฐภายใต้การนำของ โดนัลด์ ทรัมป์ ในปีนี้ BOI ตั้งเป้าหมายการขอรับการส่งเสริมการลงทุนไว้ที่มากกว่า 1 ล้านล้านบาท
แม้ว่า BOI จะไม่ได้เปิดเผยสัดส่วนของใบสมัครที่ได้รับการอนุมัติ แต่ระบุว่า การเบิกจ่ายขึ้นอยู่กับกำหนดเวลาของแต่ละโครงการ โดยเสริมว่า “ตัวเลขดังกล่าวคือใบสมัครจริง ซึ่งเป็นตัวเลขมาตรฐานที่ BOI เผยแพร่เสมอ เนื่องจากแสดงให้เห็นถึงความสนใจจริงของนักลงทุนในประเทศ”
ทั้งนี้ บริษัทในสิงคโปร์ให้คำมั่นสัญญา 357,500 ล้านบาทสำหรับ 305 โครงการ ซึ่งคิดเป็น 43% ของใบสมัครที่ยื่นต่อ BOI ในปีที่ผ่านมา ในจำนวนนี้ 250,000 ล้านบาทและ 45,000 ล้านบาทมาจากบริษัทจีนและสหรัฐตามลำดับ ผ่านทางสิงคโปร์
อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนไม่ได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสาเหตุที่การลงทุนถูกส่งผ่านทางนิติบุคคลในสิงคโปร์ แต่ “สิงคโปร์” เป็นประตูทางการเงินสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาโดยตลอด และได้รับการยกย่องว่ามีความเป็นกลางทางการเมืองและมีโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินที่พัฒนาแล้ว ซึ่งหมายความว่า สหรัฐได้หลุดจาก 5 อันดับแรกของแหล่งที่มาของการลงทุนเป็นครั้งแรกในรอบสี่ปี
ส่วนการลงทุนโดยตรงจากจีนมาเป็นอันดับสองที่ 174,600 ล้านบาท หลังจากที่ครองอันดับหนึ่งติดต่อกันสองปี มีโครงการมากกว่า 800 โครงการที่อยู่ในขั้นตอนการดำเนินการ ครอบคลุมอุตสาหกรรมยานยนต์ แผงวงจรพิมพ์ และผลิตภัณฑ์โลหะ
บริษัทฮ่องกงและไต้หวันให้คำมั่นสัญญา 82,300 ล้านบาทและ 50,000 ล้านบาท ตามลำดับ โดยการลงทุนสำคัญในอุปกรณ์ผลิตชิปมาจาก Foxsemicon Integrated Technology บริษัทย่อยของยักษ์ใหญ่ผลิตชิปของไต้หวันอย่าง Foxconn และเวเฟอร์ซิลิคอนคาร์ไบด์จาก FT1 Corp ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง Hana Microelectronics ที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยและกลุ่ม ปตท.ของไทย
“เราคาดว่าแนวโน้มนี้จะแข็งแกร่งยิ่งขึ้นในปี 2568 ตามการจัดตั้งคณะกรรมการกําหนดนโยบายและยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์แห่งชาติ และความจําเป็นของบริษัทต่าง ๆ ในการลดความเสี่ยงมากขึ้น เนื่องจากสถานการณ์ทางภูมิรัฐศาสตร์ในปัจจุบัน” นายนฤตม์กล่าว
คณะกรรมการกําหนดนโยบายและยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์แห่งชาติที่ได้รับการแต่งตั้งใหม่ จะจัดทำกลยุทธ์เพื่อดึงดูดการลงทุนในด้านการผลิตชิปรายสูง โดยมีเป้าหมาย 500,000 ล้านบาทภายในปี 2572
กลยุทธ์นี้จะคล้ายคลึงกับมาตรการจูงใจรถยนต์ไฟฟ้าที่ดึงดูดโรงงานผลิตรถยนต์ของจีนเข้ามาในไทย ซึ่งหลายแห่งเริ่มดำเนินการผลิตในปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ในเดือนธันวาคม รัฐบาลไทยได้ปรับลดการสนับสนุนอย่างมากมายให้กับผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าต่างชาติ โดยอนุญาตให้เลื่อนการผลิตในประเทศออกไป เนื่องจากปัญหาอุปทานส่วนเกินได้กดดันตลาดรถยนต์ภายในประเทศ
“ญี่ปุ่น” ถือเป็นผู้เล่นหลักในอุตสาหกรรมยานยนต์สันดาปของไทย ได้รับการจัดอันดับที่ 5 ด้วยการลงทุน 49,100 ล้านบาทในด้านการผลิตยานยนต์และรถจักรยานยนต์ ยางล้อเครื่องบิน กล้องดิจิตอล และเครื่องปรับอากาศ
อ้างอิง: nikkei