‘ไต้หวัน’ ความสำเร็จ & ทางออกยุคขึ้นกำแพงภาษี | กันต์ เอี่ยมอินทรา

‘ไต้หวัน’ ความสำเร็จ & ทางออกยุคขึ้นกำแพงภาษี | กันต์ เอี่ยมอินทรา

ไต้หวัน เป็นหนึ่งในเขตเศรษฐกิจที่อาจได้รับผลกระทบสูงสุดจากการเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าของรัฐบาลประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ และคงต้องทำทุกวิถีทางเพื่ออยู่รอด แม้จะต้องโดนขูดเลือด บังคับซื้อเครื่องบินรบก็ตาม

ไต้หวันคือหนึ่งในเขตเศรษฐกิจที่จะได้รับผลกระทบสูงสุด หากทรัมป์ตัดสินใจขึ้นกำแพงภาษีจริงและบีบให้ย้ายฐานการผลิตกลับสู่สหรัฐ

เพราะเศรษฐกิจไต้หวันพึ่งพาอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ ไมโครชิป คอมพิวเตอร์อิเล็กทรอนิกส์อย่างหนัก รายได้กว่าครึ่งของระบบเศรษฐกิจมาจากอุตสาหกรรมนี้ การส่งเสริมทั้งจากรัฐบาลไต้หวันและความเก่งกาจเชี่ยวชาญของภาคเอกชนไต้หวัน ภายใต้การสนับสนุนจากสหรัฐเอง ที่ทำให้ไต้หวันอยู่ในจุดที่เรียกได้ว่าอันดับหนึ่งของโลกของอุตสาหกรรมนี้

TSMC คือบริษัทเซมิคอนดักเตอร์สัญชาติไต้หวันที่ไม่เพียงใหญ่ที่สุดในไต้หวันและนำรายได้เข้าประเทศกว่า 25% ของ GDP แต่ยังเป็นบริษัทผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกด้วย โดยมีรายได้จากการส่งออกโดยประมาณอยู่ที่ 185,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งหากเทียบกับรายได้จากการส่งออกของไทยทั้งหมดเฉลี่ยต่อปีที่ 332,000 ล้านดอลลาร์ ก็พูดได้ว่า แค่บริษัทเดียวของไต้หวันก็ทำรายได้ส่งออกเกินครึ่งของที่ไทยรวมกันแล้ว

แต่ไต้หวันก็ไม่ได้มีแค่บริษัทเดียว ไต้หวันยังมี UMC และ MediaTek ซึ่งก็คือบริษัทชั้นนำอันดับ 2 และ 4 ในอุตสาหกรรมนี้ของโลก ทั้งหมดทั้งมวลนี้จึงสามารถทำให้พูดได้ว่าไต้หวันคือเกาะแห่งอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์โดยแท้ และนี่คือเหตุผลว่าทำไมเกาะเล็กๆ ที่ดูมีทรัพยากรน้อยแห่งนี้ถึงมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่อเนื่องยาวนานหลายทศวรรษ

แท้จริงแล้วไต้หวันไม่ได้ริเริ่มเติบโตมาจากอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ แต่เติบโตมาจากสังคมการเกษตร แล้วจึงมาเป็นอุตสาหกรรมการแปรรูปสินค้าเกษตรและอื่นๆ ในช่วงทศวรรษต่อๆ มาหลังก่อตั้ง หากมองในเชิงเปรียบเทียบแล้วจะพบว่าเป็นโมเดลการเติบโตที่เหมือนกับไทยเป๊ะ แต่ถ้าจะพูดให้ถูกต้อง ก็ต้องพูดว่าไทยเราต่างหากที่ใช้โมเดลไต้หวัน

ไต้หวันจะพัฒนาก่อนเราหนึ่งก้าวเสมอในเชิงเศรษฐกิจ และเมื่อราคาแรงงานสูงขึ้น ความเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมนั้นๆ ก็ลดลงและย้ายฐานการผลิตมาไทย ยกตัวอย่างที่ง่ายและเห็นภาพที่สุดคือ อุตสาหกรรมการแปรรูปสับปะรด ที่แต่ก่อนไต้หวันดังและส่งออกหนักมาก แต่ในที่สุดไทยเราก็โค่นแชมป์ลง แต่อุตสาหกรรมที่เราพยายามทำให้ดีแต่ยังไม่สามารถโค่นแชมป์ลงได้นั่นคือ เซมิคอนดักเตอร์

และหนึ่งในเหตุผลหลักก็คือความช่วยเหลือจากสหรัฐ ที่ไต้หวันได้รับอย่างต่อเนื่อง แต่ไทยเราได้บ้างไม่ได้บ้าง สหรัฐมีนโยบายที่มั่นคงต่อการแพร่ขยายอิทธิพลของจีน และการมีอยู่และอยู่ดีของไต้หวันนั้นคือหนึ่งในหมุดหมายสำคัญที่จะต่อต้านการขยายอิทธิพลของจีน

หากพูดให้เห็นภาพชัดที่สุด สหรัฐตรึงกำลังในรูปแบบฐานทัพตั้งแต่ญี่ปุ่น (ที่มีทหารสหรัฐอยู่กว่า 5 หมื่นนาย) ฮาวาย (4 หมื่น) เกาหลี (2 หมื่น) เกาะกวม (6 พัน) ฟิลิปปินส์ ออสเตรเลีย และที่ไต้หวัน ขึงเป็นโครงข่ายใยแมงมุมถึง 2 ชั้น ไม่รวมเรือบรรทุกเครื่องบินและการซ้อมรบกับมิตรประเทศ เช่น ไทย เป็นต้นอีก ขณะที่ในทางเศรษฐกิจสหรัฐก็ใช้กลไกเงินสกุลดอลลาร์ และกุมเครื่องมือการเงินโลกไว้หมด

และไต้หวันก็ไม่เพียงพึ่งพิงสหรัฐในฐานะพาร์ตเนอร์ด้านเทคโนโลยีและความมั่นคง แต่ยังเป็นตลาดสำคัญด้วย ดังนั้นหากสหรัฐขึ้นจะภาษีจริง ไต้หวันจะกระทบอย่างหนักและก็คงจะต้องทำทุกวิถีทางที่จะทำให้เศรษฐกิจอยู่รอด ถึงแม้จะต้องโดนขูดเลือด บังคับซื้อเครื่องบินรบเป็นร้อยลำ ก็คงต้องจำยอม เพราะทางเลือกนั้นน้อยมาก