Love Has No Gender  'สมรสเท่าเทียม' พัฒนาไทยสู่เวทีโลก | World Wide View

Love Has No Gender สมรสเท่าเทียมและพัฒนาการด้านความเท่าเทียมทางเพศของไทยพัฒนาไกลสู่เวทีโลก ส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดี ทำให้ประเทศไทยถูกมองว่าเป็นสังคมที่ปลอดภัยและเป็นมิตรต่อทุกเพศ และเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวมากยิ่งขึ้น

หลังการต่อสู้ในเรื่องกฎหมายสมรสเท่าเทียมมายาวนานกว่า 2 ทศวรรษ ในที่สุด พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ถูกร่างขึ้นสำเร็จ และมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการในวันที่ 23 มกราคม 2568 ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเป็นประเทศที่ 3 ในทวีปเอเชียที่มีการรับรองและประกาศใช้กฎหมาย นับตั้งแต่นี้ทุกคนสามารถจดทะเบียนสมรสได้อย่างเท่าเทียมกันไม่ใช่เพียงแค่คู่รักชายหญิงอีกต่อไป

เพื่อฉลองความสำเร็จครั้งนี้หน่วยงานภาครัฐบาลและภาคเอกชนได้ร่วมกันจัดงานเพื่อเฉลิมฉลอง งานแรกจัดขึ้นที่ทำเนียบรัฐบาลเป็นการถ่ายภาพระหว่างคู่รักและกลุ่ม LGBTQIA+ ร่วมกับนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรีรวมถึงเอกอัครราชทูตประจำประเทศไทย นับเป็นภาพประวัติศาสตร์ที่สำคัญซึ่งแสดงให้ทั่วโลกได้เห็นว่า ประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมที่เท่าเทียมทางเพศอย่างแท้จริง อีกทั้งยังเห็นได้ว่ารัฐบาลสมัยนายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร ให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมทางเพศ รัฐบาลมีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะทำให้ประเทศไทยเป็นสังคมที่เปิดกว้าง โอบรับทุกเพศอย่างเสมอภาคและเป็นสังคมที่ปลอดภัย ทุกคนจะอยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกัน

อีกหนึ่งงานที่สำคัญ งานวันสมรสเท่าเทียม Marriage Equality จัดขึ้นวันที่ 23 มกราคม 2568 ซึ่งตรงกับวันประกาศให้มีการจดทะเบียนสมรสเท่าเทียมอย่างเป็นทางการ โดย Bangkok pride ร่วมกับกรุงเทพมหานคร และองค์กรพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชนที่พารากอนฮอลล์ ชั้น 5 สยามพารากอน งานนี้เป็นงานเฉลิมฉลองให้แก่คู่รักทุกคู่ที่ได้เข้าร่วมการจดทะเบียนสมรส รวมถึงคู่รักที่ไม่ได้เข้าร่วมงานนี้อีกด้วย หากใครไม่ได้มาจดทะเบียนสมรส ณ ที่นี่ คู่รักสามารถเข้ารับบริการจดทะเบียนสมรสได้ ณ ที่ว่าการอำเภอ สำนักงานเขตทุกแห่งทั่วประเทศ สถานทูตและสถานกงสุลใหญ่ทั่วโลกได้อีกด้วย

นอกจากงานที่เกี่ยวข้องกับสมรสเท่าเทียมแล้ว ยังมีงานแถลงข่าวโครงการผลักดันคอนเทนต์วายไทยสู่สายตาโลก เป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงการต่างประเทศร่วมกับมูลนิธิไทย และสมาคมส่งเสริมคอนเทนต์ วาย ไทย ในการผลักดันซีรีส์ Boys Love และ Girls Love 

ในปี 2567 ประเทศไทยมีรายได้จากการผลิตคอนเทนต์วายเข้ามามากกว่า 2000 ล้านบาท และมีแนวโน้มที่จะเติบโตมากยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของภารกิจด้านการทูตวัฒนธรรม การทูตเศรษฐกิจเชิงรุก และแนวคิดการเชื่อมโยงท้องถิ่นสู่สากล (Local to Global) ในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์สาขาภาพยนตร์ ละคร ซีรีส์ ที่มีศักยภาพของไทยให้ “รุกไปในระดับโลก”

ประเทศไทยมีความก้าวหน้าอย่างก้าวกระโดดเกี่ยวกับพัฒนาการในด้านความเท่าเทียมทางเพศเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ประเทศไทยมีภาพลักษณ์ที่ดี ทำให้ประเทศไทยถูกมองว่าเป็นสังคมที่ปลอดภัยและเป็นมิตรต่อทุกเพศ ยิ่งไปกว่านั้นจะเป็นเป้าหมายในการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้อุตสาหกรรมเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของประเทศไทยมีอัตราที่เติบโตสูงขึ้นมากกว่าเดิม