สรุปการประชุมสองสภาจีน ตั้งการ์ดสูงรับการเปลี่ยนแปลงรอบ 100 ปี

สรุปการประชุมสองสภาจีน ตั้งการ์ดสูงรับการเปลี่ยนแปลงรอบ 100 ปี

นายกฯ จีนเตือน 'การเปลี่ยนแปลงที่ไม่เคยเห็นมาก่อนในรอบ 100 ปี' ในการเปิดประชุมสภาฯ พร้อมอัดแน่นมาตรการกระตุ้นการเงิน - การคลัง ไฟเขียวก่อหนี้เพิ่มหนุนบริโภคเต็มสูบ

ในวันนี้ (5 มี.ค.68) จีนได้เปิดม่านการประชุมสภาประชาชนแห่งชาติ (NPC) ซึ่งเป็นหนึ่งในสองสภาสำคัญระหว่างสัปดาห์แห่ง "การประชุมสองสภา" ของจีน โดยนายกรัฐมนตรี "หลี่ เฉียง" ได้กล่าวเปิดการประชุมพร้อมส่งสัญญาณปลดล็อกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนานใหญ่เพิ่มเติม เพื่อกระตุ้นการบริโภคในประเทศไปสู่เป้าหมายจีดีพี 5% ท่ามกลางสงครามการค้าที่รุนแรงขึ้นกับสหรัฐ ซึ่งหลี่ได้พูดในที่ประชุมว่า "โลกกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนที่ไม่เคยเห็นมาก่อนในรอบ 100 ปี"

"การเปลี่ยนแปลงที่ไม่เคยเห็นมาก่อนในรอบศตวรรษ กำลังเกิดขึ้นทั่วโลกในอัตราเร่งที่เร็วขึ้น....สภาพแวดล้อมภายนอกที่ซับซ้อน และรุนแรงขึ้นอาจส่งผลกระทบต่อจีนมากขึ้นในด้านต่างๆ เช่น การค้า วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี" นายกฯ จีนกล่าว

เพื่อตั้งรับการเปลี่ยนแปลง และความท้าทายนี้ ทางการจีนได้ออกมาตรการกระตุ้นหลายด้าน โดยหลายเรื่องยังเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งแรกในรอบหลายสิบของจีนด้วย โดยมีรายละเอียดเบื้องต้นดังนี้ 

เพิ่มขาดดุลงบประมาณเป็น 4% สูงสุดรอบ 3 ทศวรรษ 

หนึ่งในประเด็นสำคัญที่สุดก็คือ จีนตัดสินใจ "ขยายเพดานการดุลงบประมาณ" เพิ่มขึ้นเป็น 4% ของจีดีพี หรือประมาณ 5.66 ล้านล้านหยวน (ราว 26 ล้านล้านบาท) ซึ่งถือเป็นระดับที่สูงที่สุดในรอบกว่า 30 ปี ซึ่งถือเป็นการปลดล็อกครั้งใหญ่ในการก่อหนี้เพิ่มเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ หลังจากที่จีนพยายามเดิมที่ราว 3% ของจีดีพีมานานกว่าสิบปี 

คงเป้าจีดีพีประมาณ 5% มั่นใจทำได้

การคงเป้าหมายการเติบโตของจีดีพีที่ประมาณ 5% กลายเป็นประเด็นที่หลายฝ่ายให้ความสนใจ เพราะเท่ากับเป็นการส่งสัญญาณว่าท่ามกลางสงครามการค้า และปัจจัยภายนอกที่ท้าทายมากขึ้นในปีนี้ จีนจะต้องขับเคลื่อนจีดีพีผ่านการกระตุ้นเศรษฐกิจ และการบริโภคในประเทศให้มากขึ้น จากเดิมที่โตได้ฉิวเฉียดตามเป้าประมาณ 5% ในปีที่แล้ว 

ลุยก่อหนี้ออกพันธบัตรพิเศษเพิ่ม

สำหรับแผนการออกพันธบัตรของจีนในปีนี้ จะแบ่งเป็น 

  1. การออกพันธบัตรระยะยาวพิเศษ 1.3 ล้านล้านหยวน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนประมาณ 3 แสนล้านหยวน 
  2. ออกพันธบัตรพิเศษอีก 5 แสนล้านหยวน เพื่อเพิ่มทุนขั้นที่ 1 ให้กับแบงก์รัฐขนาดใหญ่ ซึ่งจีนใช้เป็นช่องทางช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ
  3. ออกพันธบัตรท้องถิ่นพิเศษ 4.4 ล้านล้านหยวน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนซึ่งอยู่ที่ 3.9 ล้านล้านหยวน โดยช่องทางนี้ถือเป็นพันธบัตรที่มีเป้าหมายเฉพาะเจาะจงพิเศษ (local government special-purpose bonds) ซึ่งอยู่นอกงบดุลของรัฐบาลกลาง 
  4. เพิ่มโควตาการออกพันธบัตรทั้งปีรวมเป็น 11.86 ล้านล้านหยวน หรือเพิ่มจากปีก่อน 2.9 ล้านล้านหยวน 

ลดกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อเหลือ 2% 

เป็นไปตามคาดหมายเมื่อจีนปรับลดกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อลงมาอยู่ที่ระดับ 2% ของจีดีพี เป็นครั้งแรกในรอบกว่า 20 ปี หลังจากที่ใช้กรอบ 3% มาเป็นเวลานาน ทว่าในระยะหลังจีนเผชิญปัญหาเศรษฐกิจทำให้การบริโภคไม่ถึงเป้าหมาย และติดอยู่ในแรงกดดันเงินเฟ้อมาตลอด

กระตุ้นการบริโภค

นายกฯ หลี่ เฉียง ยอมรับในช่วงหนึ่งของสุนทรพจน์ว่า "...โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบริโภคนั้นซบเซาลง..." โดยตั้งข้อสังเกตว่า "มีแรงกดดันต่อการสร้างงาน และการเติบโตของรายได้" ซึ่งบ่งชี้ถึงการให้ความสำคัญถึงเรื่องนี้เพื่อมุ่งไปสู่เป้าหมายทางเศรษฐกิจที่สำคัญในปีนี้ด้วย หลี่ให้คำมั่นว่าจะแก้ไขช่องว่างระหว่างอุปทาน และอุปสงค์ และดำเนินการปฏิรูปการคลังที่ปรับปรุงรายได้ของรัฐบาลท้องถิ่น และช่วยกระตุ้นการบริโภค ทว่าไม่ได้ให้กรอบเวลาที่แน่นอน 

เพิ่มสวัสดิการให้ประชาชน

หลี่ประกาศเพิ่มเงินบำนาญขั้นต่ำอีก 20 หยวน เป็น 143 หยวน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประโยชน์ต่อเกษตรกร รวมถึงเพิ่มเงินอุดหนุนประกันสุขภาพคนละ 30 หยวน และเพิ่มเงินอุดหนุนบริการดูแลสุขภาพขั้นพื้นฐานอีก 5 หยวน นอกจากนี้ยังให้คำมั่นว่าจะให้เงินอุดหนุนเพิ่มในการเลี้ยงดูบุตรและพัฒนาเรื่องการดูแลผู้สูงอายุ แต่ยังไม่ได้ระบุรายละเอียดเพิ่มเติม ท่ามกลางสถานการณ์เด็กเกิดใหม่ต่ำและผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

เพิ่มงบกลาโหม 7.2% ปีนี้

ซีเอ็นบีซีรายงานอ้างข้อมูลที่จะมีการเปิดเผยในสภาว่า จีนจะเพิ่มงบประมาณกลาโหมอีก 7.2% ในปีงบประมาณนี้ เป็น 1.78 ล้านล้านหยวน (ราว 8.27 ล้านล้านบาท) ซึ่งเพิ่มขึ้นมากกว่าอัตราการเติบโตของจีดีพีที่ 5% ทว่าก็ยังเป็นอัตราการเพิ่มขึ้นที่ "ทรงตัว" เหมือนกับช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ จีนยังคงเป็นประเทศที่มีการใช้จ่ายด้านกลาโหมสูงที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากสหรัฐ 

นักวิเคราะห์ชี้ปีนี้ให้น้ำหนักที่ 'การบริโภค'

รอยเตอร์สสะท้อนมุมมองนักวิเคราะห์หลายรายว่า สุนทรพจน์ของหลี่ เค่อเฉียงในปีนี้ เน้นย้ำเรื่อง "การบริโภค" โดดเด่นกว่าในปีที่แล้ว โดยสังเกตว่าปีนี้มีการเน้นคำว่า "พลังการผลิตใหม่" น้อยลง ซึ่งเป็นคำย่อของจีนสำหรับการลงทุนด้านการผลิตขั้นสูง และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และหันมาเพิ่มคำว่าการบริโภคมากขึ้นในสุนทรพจน์

"เป็นครั้งแรกที่การกระตุ้นการบริโภคถูกยกระดับให้มีลำดับความสำคัญสูงสุดในภารกิจหลักของปี 2025 แทนที่เรื่องเทคโนโลยีที่เคยเป็นประเด็นหลัก" ทิลลี จาง นักวิเคราะห์จาก Gavekal Dragonomics กล่าวและย้ำว่า "การมุ่งเน้นบริโภคไม่ใช่จุดเปลี่ยนจากนโยบายอุตสาหกรรมก่อนหน้านี้ แต่เป็นการแสวงหากรอบเศรษฐกิจมหภาคที่สมดุลมากขึ้น"

ด้าน แลร์รี หู หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จากแม็คควอรี สะท้อนมุมมองเรื่อง "หนี้และการออกพันธบัตรพิเศษ" ของจีนว่า เป็นการบ่งชี้ถึงการเก็บกระสุนเอาไว้ใช้ในภายหลัง  

"มีนาคมอาจเร็วเกินไปสำหรับการออกมาตรการกระตุ้นขนานใหญ่ ผู้กำหนดนโยบายของจีนต้องการเวลามากกว่านี้ก่อน เพื่อให้เห็นผลกระทบที่แท้จริงจากสงครามการค้า...ณ จุดนี้ พวกเขาจึงจะยังเก็บกระสุนเอาไว้ก่อน" หู กล่าว 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์