ตอบด้วยวิทยาศาสตร์ ทำไม ‘แผ่นดินไหวเมียนมา’ รุนแรงถึงกรุงเทพฯ

แผ่นดินไหวเมียนมา รุนแรนถึงกรุงเทพฯ มีสาเหตุจากหลายปัจจัย และเมืองมัณฑะเลย์อาจไม่ได้สร้างอาคารบ้านเรือนที่รองรับแผ่นดินไหวได้มากพอ จึงเกิดความเสียหายครั้งใหญ่
แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ ขนาด 7.7 ในกลางภูมิภาคสะกายใกล้เมืองมัณฑะเลย์ของเมียนมา ส่งผลให้เกิดความเสียหายเป็นวงกว้าง และสั่นสะเทือนถึงประเทศเพื่อนบ้านอย่างไทยเมื่อวันศุกร์ (28 มี.ค.) ล่าสุดมีผู้เสียชีวิตในเมียนมาเกือบ 150 รายแล้ว และมีคนบาดเจ็บอีกกว่า 700 ราย ขณะที่ในไทยมีผู้เสียชีวิตจากอาคารกำลังก่อสร้างถล่มย่านจตุจักรราว 10 ราย และแรงงานยังคงสูญหายอยู่ใต้ซากอีกเกือบ 100 คน
เมียนมามีความเสี่ยงต่อแผ่นดินไหวมากเพียงใด
เมียนมาตั้งอยู่บนเส้นแบ่งเขตระหว่างแผ่นเปลือกโลกสองแผ่น และเป็นหนึ่งในประเทศที่มีแผ่นดินไหวบ่อยที่สุดในโลก ถึงแม้ว่าแผ่นดินไหวครั้งใหญ่และรุนแรงจะเกิดขึ้นไม่บ่อยในภูมิภาคสะแกงก็ตาม
โจแอนนา โฟเร วอล์กเกอร์ ศาสตราจารย์และผู้เชี่ยวชาญด้านแผ่นดินไหวจาก University College London (UCL) กล่าวว่า เส้นแบ่งเขตระหว่างแผ่นเปลือกโลกอินเดียและแผ่นเปลือกโลกยูเรเซียทอดยาวในตอนเหนือถึงตอนใต้ โดยตัดผ่านใจกลางประเทศ
วอล์กเกอร์อธิบายว่า เหตุแผ่นดินไหวเมื่อวันศุกร์มาจากการที่แผ่นเปลือกโลกทั้งสองเคลื่อนผ่านกันในแนวนอนด้วยความเร็วที่แตกต่างกัน แม้จะทำให้เกิดแผ่นดินไหวจาก “รอยเลื่อนตามแนวระดับ” (strike slip) ที่โดยปกติแล้วจะมีความรุนแรงน้อยกว่าแผ่นดินไหวที่เกิดใน “เขตมุดตัวของเปลือกโลก” (subduction zone) เช่นในสุมาตรา ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่แผ่นเปลือกโลกแผ่นหนึ่งเคลื่อนตัวไปใต้แผ่นเปลือกโลกอีกแผ่นหนึ่ง แต่แผ่นดินไหวเหล่านี้ยังมีความรุนแรงได้มากถึงระดับ 7-8
ทำไมแผ่นดินไหววันศุกร์ที่ 28 มี.ค. รุนแรงมาก
โรเจอร์ มัสสัน นักวิจัยกิตติมศักดิ์จากสำนักงานสำรวจธรณีวิทยาอังกฤษ เผยกับสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า แผ่นดินไหวครั้งนี้มีความลึกเพียงเล็กน้อย ส่งผลให้ความเสียหายรุนแรงมากขึ้น ซึ่งตามรายงานของสำนักงานสำรวจธรณีวิทยาสหรัฐ (USGS) ระบุว่า ศูนย์กลางแผ่นดินไหวอยู่ที่ความลึกเพียง 10 กิโลเมตร (6.2 ไมล์)
“ปัจจัยนี้สร้างความเสียหายอย่างมาก เนื่องจากเกิดขึ้นที่ระดับความลึกตื้น ทำให้คลื่นกระแทกไม่สามารถสลายตัวได้ในขณะที่เคลื่อนจากจุดศูนย์กลางของแผ่นดินไหวขึ้นไปยังพื้นผิว อาคารต่างๆ จึงได้รับแรงสั่นสะเทือนทั้งหมด” มัสสัน กล่าว
“สิ่งสำคัญคือต้องไม่ต้องมุ่งสนใจไปที่ศูนย์กลางแผ่นดินไหว เพราะคลื่นไหวสะเทือนไม่ได้แผ่ออกมาจากศูนย์กลางแผ่นดินไหว แต่แผ่ออกมาจากแนวรอยเลื่อนทั้งหมด” มัสสันกล่าวเสริม
สะกายได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวหลายครั้งในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ซึ่งแผ่นดินไหวขนาด 6.8 ในช่วงปลายปี 2555 ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 26 ราย และมีผู้บาดเจ็บอีกหลายสิบราย
ด้านบิล แม็กไกวร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านแผ่นดินไหวจาก UCL อีกคน กล่าวว่า เหตุการณ์เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาอาจถือเป็น “แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่สุด” ที่เกิดขึ้นในแผ่นดินใหญ่ของเมียนมาในรอบเกือบ 100 ปี
เมียนมาได้เตรียมตัวรับมืออย่างไรบ้าง
สำนักงานสำรวจทางธรณีวิทยาแห่งสหรัฐ (USGS) เผยมื่อวันศุกร์ (28 มี.ค.) คาดว่า ผู้เสียชีวิตอาจมากถึง 10,000-100,000 คน และผลกระทบทางเศรษฐกิจอาจสูงถึง 70% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของเมียนมา
มัสสันกล่าวว่า การคาดการณ์ดังกล่าวอิงตามข้อมูลจากแผ่นดินไหวในอดีต และจากขนาด ตำแหน่งที่ตั้ง และความพร้อมรับมือแผ่นดินไหวโดยรวมของเมียนมา
รอยเตอร์สระบุว่า การเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในภูมิภาคสะกายซึ่งอยู่ใกล้กับมัณฑะเลย์ เมืองที่มีประชากรหนาแน่นนั้น เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก นั่นหมายความว่า เมืองยังไม่มีการสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับแผ่นดินไหวดังกล่าว อาจทำให้ความเสียหายเลวร้ายกว่านี้มาก
มัสสันเผยด้วยว่า แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ล่าสุดที่เกิดขึ้นในภูมิภาคนี้ เกิดเมื่อปี 2500 และบ้านเรือนส่วนใหญ่หลังจากนั้น อาจไม่ได้สร้างขึ้นให้สามารถทนต่อแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวที่รุนแรงเท่ากับที่เกิดขึ้นเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาได้
“แผ่นดินไหวส่วนใหญ่ในเมียนมาร์เกิดขึ้นทางตะวันตกมากกว่า ในขณะที่แผ่นดินไหวครั้งนี้เกิดขึ้นที่ใจกลางประเทศ” มัสสันกล่าว
อ้างอิง: Reuters