2 เม.ย. “Liberation Day” หรือวันที่แบรนด์อเมริกาจะเสียหายหนัก?

นโยบายขึ้นภาษีศุลกากรทั่วโลกของประธานาธิบดีทรัมป์ นโยบายห่างมิตรใกล้ชิดศัตรู บ่อนเซาะหลักการประชาธิปไตย กำลังจะส่งผลเสียหายอย่างใหญ่หลวงต่อคนอเมริกันเอง?
ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เรียกวันที่ 2 เมษายน ว่า เป็น “วันปลดปล่อย” (Liberation Day) ของสหรัฐเพราะวันที่ทำเนียบขาวจะขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากทั่วโลก ในระดับสูงประมาณ 20% ขึ้นไป
แต่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่หวั่นว่า นโยบายขึ้นภาษีศุลกากรทั่วโลกของประธานาธิบดีโดทรัมป์ นโยบายห่างมิตรเข้าหาใกล้ชิดรัสเซียศัตรูยุโรปและศัตรูเก่าสหรัฐในยุครัฐบาลไบเดน รวมทั้งการที่ทรัมป์และคณะบริหารของเขาบ่อนเซาะหลักการประชาธิปไตย และขับไล่คนต่างชาติออกนอกประเทศ ภายใต้ธีม "ทำให้สหรัฐอเมริกากลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง" (Make America Great Again) กำลังจะส่งผลเสียหายอย่างใหญ่หลวงต่อคนอเมริกันเอง
หนังสือพิมพ์เดอะวอลล์สตรีทเจอร์นัลรายงานเมื่อวันอาทิตย์โดยอ้างแหล่งข่าวว่า รัฐบาลทรัมป์จะขึ้นภาษีนำเข้าสูงถึง 20% กับสินค้าจากต่างประเทศทุกรายการ
ด้านนายปีเตอร์ นาวาร์โร ที่ปรึกษาด้านการค้าของทรัมป์ให้สัมภาษณ์กับทีวีฟ็อกนิวส์ว่า การขึ้นภาษีนำเข้าจะทำให้เก็บภาษีได้ 6 ล้านล้านดอลลาร์ในช่วง10ปี ข้างหน้า และจะนำมาชดเชยให้กับแพคเก็จลดภาษีให้กับชนชั้นกลางครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์สหรัฐ
ทรัมป์เชื่อมั่นว่า การตั้งกำแพงภาษีศุลกากรสูงจะทำให้บริษัทสหรัฐที่เคยเสียเปรียบ ได้เปรียบ นักลงทุนจะแห่มาลงทุนในสหรัฐ สร้างงาน และสหรัฐจะได้เงินภาษีเป็นกอบเป็นกำ ผู้ส่งออกสินค้าของทั่วโลกจะเป็นผู้รับภาษีแทนผู้บริโภคอเมริกาเพราะจะยอมแบกต้นทุนภาษีแลกกับการไม่ขึ้นราคาสินค้าเพื่อรักษาตลาด
แต่นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่เห็นว่า ทรัมป์ฝันเฟื่องในเรื่องผลดีของกำแพงภาษีศุลกากร และเตือนว่า จะเกิดเงินเฟ้อสูงในสหรัฐเพราะสินค้าจะแพงขึ้น การตอบโต้จากประเทศอื่นๆจะนำไปสู่สงครามการค้าและอาจจะส่งผลให้ทั้งเศรษฐกิจสหรัฐเองและทั่วโลกถดถอยได้
นอกจากนี้นักเศรษฐศาสตร์ยังเชื่อว่า ผู้บริโภคชาวอเมริกันจะเป็นผู้รับภาระภาษีศุลกากร เช่น ราคารถยนต์จะแพงขึ้น แม้รถนั้นจะผลิตในสหรัฐเพราะต้องใช้ชิ้นส่วนส่วนหนึ่งจากต่างประเทศด้วย
อดีตรัฐมนตรีคลังสหรัฐ แลร์รี ซัมเมอร์ส วิจารณ์นโยบายภาษีของทรัมป์ว่า “ข้ออ้างของรัฐบาลสหรัฐที่ว่าต่างประเทศจะเป็นผู้รับภาระภาษีศุลกากรนั้นเป็นเรื่องไร้สาระ”
รัฐมนตรีคลังคนปัจจุบัน สกอตต์ เบสเซนต์ ตอบโต้ว่า ซัมเมอร์สเป็นพวกรับจ้างประท้วง
จากการสำรวจเมื่อเร็วๆนี้ของสำนักวิจัย Kent A. Clark Center for Global Markets ของบัณฑิตวิทยาลัยบริหารธุรกิจของมหาลัยชิกาโก University of Chicago Booth School of Business พบว่า นักเศรษฐศาสตร์ 95% เห็นตรงกันว่า คนอเมริกัน หรือ คนของประเทศที่ขึ้นภาษีศุลกากรสูงจะเป็นผู้แบกรับภาระภาษีในสัดส่วนที่สูง
ด้านสำนักวิจัย Yale Budget Lab ประมาณการว่า อัตราภาษีนำเข้ารถยนต์ 25 % ที่จะมีผลบังคับในวันที่ 3 เมษายน จะทำให้สหรัฐเก็บภาษีได้ประมาณ 6-6.5 แสนล้านดอลลาร์ในช่วงปี 2026-2035 และโดยเฉลี่ยจะทำให้รถยนต์แพงขึ้น 13.5 % หรือเพิ่มขึ้น 6.4 พันดอลลาร์ต่อคันจากราคารถในปี 2024 ครอบครัวอเมริกันจะรับภาระภาษีเพิ่มประมาณ 500-600 ดอลลาร์ (17,045-20,457 บาท)
- อุตสาหกรรมรถยนต์สหรัฐจะได้รับผลกระทบ
พอล ครุกแมน นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล วิเคราะห์ว่า ภาษีใหม่ของทรัมป์ที่จะเก็บจากรถยนต์นำเข้าจะทำลายอุตสาหกรรมรถยนต์สหรัฐเอง ซึ่งมีห่วงโซ่การผลิตที่เข้มแข็งในอเมริกาเหนือร่วมกับประเทศ แคนาดาและเม็กซิโก ห่วงโซ่การผลิตถูกพัฒนาขึ้นมาจากข้อตกลงการค้าเสรีนาฟตาเดิม
- อุตสาหกรรมผลิตอาวุธสหรัฐจะได้รับผลกระทบ
ครุกแมนและนักเศรษฐศาสตร์คนอื่นๆมองว่า หลายประเทศจะตอบโต้ทรัมป์ เช่น มาร์ก คาร์นีย์ นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของแคนาดาได้แสดงความตั้งใจที่จะทบทวนการซื้อเครื่องบินรบ F-35 จากสหรัฐ ซึ่งหมายความว่าแคนาดากำลังเข้าร่วมกับประเทศในยุโรปที่กำลังพิจารณาทบทวนการพึ่งพาอาวุธของสหรัฐฯ เช่นกัน
ครุกแมนกล่าวว่า การหันหลังให้กับการพึ่งพาทางการทหารของสหรัฐฯ เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ เพราะอเมริกาไม่ใช่พันธมิตรที่เชื่อถือได้ของกลุ่มประเทศประชาธิปไตยอีกต่อไป การที่ทรัมป์หันไปหาวลาดิมีร์ ปูติน ผู้นำรัสเซียและการที่เขาพูดถึงการผนวกแคนาดาและกรีนแลนด์ ทำให้แคนาดาเห็นว่า สหรัฐไม่ใช่พันธมิตรอีกต่อไป
ขณะที่คาร์นีย์เอง กล่าวเมื่อเร็วๆนี้ว่า ความสัมพันธ์แบบเก่าระหว่างแคนาดากับสหรัฐนั้นสิ้นสุดลงแล้ว
ครุกแมนเชื่อว่า นโยบายภาษีและนโยบายการต่างประเทศของทรัมป์ที่ทำลายพันธมิตรเก่า จะส่งกระทบทางลบต่ออุตสาหกรรมผลิตอาวุธของสหรัฐ
อย่างในปี 2024 การส่งออกอาวุธยุทโธปกรณ์ทางทหารของสหรัฐฯ มีมูลค่า 318,700 ล้านดอลลาร์ ซึ่งคิดเป็นประมาณ 15 % ของการส่งออกสินค้าทั้งหมดของสหรัฐฯ นอกจากนี้ยังคิดเป็นเกือบสองเท่าของการส่งออกผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรของสหรัฐ
“ยอดขายเหล่านี้จะลดลงไปเท่าใด เมื่อรัฐบาลต่างประเทศรู้แล้วว่าสหรัฐไม่สามารถไว้วางใจได้ อาจจะใช้เวลาสักพักในการหาสิ่งทดแทน คำตอบที่เป็นไปได้คือ มาก” ครุกแมนระบุในบทความที่เขียนลงใน Substack.com เมื่อเร็วๆนี้
- ผลต่อการส่งออกบริการการศึกษา
ครุกแมนระบุว่า อุตสาหกรรมที่จะได้รับความเสียหายตามมาคือการศึกษาจากการที่อเมริกาหันไปด้านมืด
เขาอธิบายว่า ชาวต่างชาติจำนวนมากมาที่อเมริกาเพื่อศึกษา ถูกดึงดูดด้วยคุณภาพของวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยของสหรัฐ ในปี 2023 ซึ่งเป็นปีล่าสุดที่มีข้อมูล นักศึกษาต่างชาติใช้จ่ายเงินไปมากกว่า 50,000 ล้านดอลลาร์ แต่ถ้าชาวต่างชาติที่กำลังพิจารณาไปเรียนต่อที่สหรัฐอเมริกาในปีหน้า กังวลว่าอาจจะถูกจับกุมและเนรเทศออกจากสหรัฐอเมริกาเพราะแสดงความคิดเห็นที่ฝ่ายบริหารปัจจุบันมองว่าเป็นมุมมองต่อต้านอเมริกา คนเหล่านั้นก็จะไม่มาเรียนต่อที่สหรัฐ
- การท่องเที่ยวจะได้รับผลกระทบ
ครุกแมนกล่าวว่า การใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาเที่ยวสหรัฐมีมูลค่ามากกว่า 1 แสนล้านดอลลาร์ต่อปี แต่เชื่อว่าชาวแคนาดาจะมาเที่ยวสหรัฐน้อยลงมากในปีนี้และปีหน้า และไม่ใช่แค่ชาวแคนาดาเท่านั้นแต่จากประเทศในยุโรปด้วย จากการที่ประธานาธิบดีทรัมป์ ยังคงดำเนินการปราบปรามผู้อพยพ นอกจากนี้คนจำนวนมากที่เดินทางบ่อยๆมักหลีกเลี่ยงประเทศที่มีระบอบเผด็จการ ก็จะกระทบกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวด้วย
- เสี่ยงต่อต้นทุนหนี้ต่างประเทศเพิ่ม
สุดท้าย คือหนี้ต่างประเทศของสหรัฐฯ ซึ่งหากรวมทั้งพันธบัตรและเงินกู้ที่ต่างชาติเป็นเจ้าของ จะมีมูลค่ามากกว่า 18 ล้านล้านดอลลาร์ ครุกแมนกล่าวว่า เขาไม่คิดว่าสหรัฐจะเสี่ยงต่อวิกฤตหนี้แบบประเทศกรีก
แต่หากต้นทุนการกู้ยืมเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย เพราะนโยบายที่ไม่สอดคล้องกันและการพูดถึงการแปลงหนี้ระยะสั้นเป็นหนี้ระยะยาว ก็จะเพิ่มต้นทุนหนี้อย่างมาก
ครุกแมนกล่าวว่า เขากังวลเกี่ยวกับภัยคุกคามที่ทรัมป์ก่อขึ้นต่อประชาธิปไตยมากกว่านโยบายเศรษฐกิจที่แย่ของเขา
ในแง่เศรษฐกิจล้วนๆ ความเสียหายที่เกิดจากภาษีศุลกากรและการเนรเทศต่างชาติ รวมถึงการตอบโต้จากต่างประเทศ อาจมีความสำคัญมากกว่าต้นทุนที่เกิดจากการสูญเสียความไว้วางใจจากต่างประเทศ
- ทรัมป์กำลังทำลายแบรนด์อเมริกา
ครุกแมนชี้ว่า ทรัมป์กำลังทำกับอเมริกาแบบเดียวกับที่อีลอน มัสก์กำลังทำกับเทสลา คือการทำลายแบรนด์ที่มีคุณค่าผ่านพฤติกรรมที่ไม่แน่นอนและอุดมการณ์ที่น่ารังเกียจ ยอดขายของรถเทสลาในยุโรปและที่อื่นกำลังตกต่ำลง และเกิดการประท้วงบ่อยครั้งที่หน้าโชว์รูมรถเทสลาในสหรัฐและในยุโรป บางแห่งมีการทำลายโซว์รูม
“ความเชื่อของทรัมป์ที่ว่าอเมริกาถือไพ่เหนือกว่า ส่วนอื่นๆของโลกต้องการเข้าถึงตลาดของสหรัฐ แต่สหรัฐไม่ต้องการตลาดพวกเขานั้น ผิดทั้งหมด สหรัฐกำลังสูญเสียความไว้วางใจของโลกอย่างรวดเร็ว และส่วนหนึ่งกลายเป็นต้นทุนทางการเงิน” ครุกแมนสรุป