เข้าใจเหตุผลที่ประธานาธิบดีทรัมป์ขึ้นภาษีกับทั่วโลก

ในที่สุดวันแห่งอิสรภาพหรือ Liberation day ก็มาถึงเมื่อประธานาธิบดีทรัมป์ ประกาศที่จะเก็บ ภาษีนําเข้า เพิ่มเติมกับสินค้าที่ส่งไปขายในสหรัฐจากทุกประเทศ
เริ่มวันที่ 5 และ 9 เม.ย.ในอัตราร้อยละ 10 ถึงร้อยละ 50 แล้วแต่ประเทศ ทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกร่วงระนาวและเป็นนโยบายที่จะทําให้เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอย
แต่ที่ทุกคนมองข้ามคือ ทําไมสหรัฐเลือกที่จะตัดสินใจดังกล่าว อะไรคือเหตุผลหรือเบื้องลึกของการตัดสินใจ
และสหรัฐต้องการอะไรจากการทําแบบนี้แม้จะสร้างความเสียหายให้กับเศรษฐกิจทั่วโลก นี่คือสิ่งที่ต้องเข้าใจ และนี่คือประเด็นที่จะเขียนวันนี้
การตัดสินใจทุกอย่างมีเหตุผล แม้จะดีหรือไม่ดีในสายตาผู้คน แต่ก็มีเหตุผลที่นําไปสู่การตัดสินใจ คราวนี้ก็เช่นกัน ในความคิดของทรัมป์ การขาดดุลการค้าที่สหรัฐมีมาต่อเนื่องและนับวันจะรุนแรง
ล่าสุดปี 2567 ตัวเลขสูงถึง 918 พันล้านดอลลาร์ คือ ปัจจัยที่ทําให้เศรษฐกิจสหรัฐอ่อนแอ ซึ่งเป็นผลจากระเบียบการค้าโลกและการจับขั้วของประเทศต่างๆ หลังสงครามโลกครั้งที่สอง
ที่สหรัฐอเมริกาเหมือนถูกหลอกหรือหลอกตัวเองให้ยอมรับระเบียบการค้าที่ไม่เป็นธรรมต่อสหรัฐ รวมถึงการใช้จ่ายด้านการทหารเพื่อความปลอดภัยของประเทศอื่น
นี่คือดีลที่ไม่ดีกับสหรัฐในสายตาของทรัมป์ และการขาดดุลได้มาถึงจุดที่จะทําลายความมั่นคงของสหรัฐถ้าไม่มีการแก้ไขในคําสั่งบริหารที่ทรัมป์ลงนามเมื่อวันที่ 2 เม.ย.โดยใช้อํานาจประธานาธิบดี เอกสารคำสั่งระบุเรื่องราวและเหตุผลที่นำไปสู่การขึ้นภาษีนําเข้ากับทุกประเทศ สรุปได้ดังนี้
1.การขาดดุลการค้าที่เกิดขึ้น รวมถึงพัฒนาการที่นําไปสู่การขาดดุล คือ ภัยต่อความมั่นคงของประเทศสหรัฐ จึงใช้อำนาจประธานาธิบดีประกาศเป็นสถานการณ์ฉุกเฉินของชาติที่ต้องแก้ไข
2.ในอดีต สหรัฐยึดหลักการค้าแบบ Reciprocity คือตอบแทนซึ่งกันและกัน หมายถึงสหรัฐและประเทศที่สหรัฐค้าขายด้วยจะกําหนดอัตราภาษีระหว่างกันแบบเท่าเทียม
แต่หลังสงครามโลกครั้งสอง ข้อตกลงการค้าภายใต้องค์การการค้าโลกเพื่อส่งเสริมการค้าเสรีไม่ได้ให้ผลอย่างที่หวัง คือ อัตราภาษีนําเข้าของสหรัฐตํ่าสุดเทียบกับประเทศอื่นๆ ทำให้สหรัฐเสียเปรียบ ไม่มีการตอบแทนซึ่งกันและกันแบบเท่าเทียม
รวมถึงมีการใช้มาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีและการแทรกแซงค่าเงินที่กระทบการส่งออกของสหรัฐ สิ่งเหล่านี้ทําให้การค้าโลกไม่สมดุล และนำไปสู่การขาดดุลการค้าของสหรัฐที่รุนแรงและต่อเนื่อง กระทบการผลิตในสหรัฐ ซึ่งก็คือความมั่นคงของประเทศ
3.การผลิตภาคอุตสาหกรรมสหรัฐที่ลดลงจากร้อยละ 28.4 ของโลกปี 2544 เหลือร้อยละ 17.4 ปี 2566 มีผลต่อการจ้างงาน ซึ่งกว่าห้าล้านตำแหน่งงานหายไปเพราะการขาดดุลการค้า
ขณะที่สมรรถนะในภาคอุตสาหกรรมที่ลดลงจากการขาดดุลการค้าก็กระทบความสามารถในการแข่งขัน นวัตกรรม ความสามารถในการผลิตอาวุธ และความพร้อมทางการทหาร
นอกจากนี้ การพึ่งพาสินค้านำเข้ามากเกินไปก็เป็นความเสี่ยงต่อความมั่นคง ทั้งหมดเป็นผลจากการค้าที่ไม่สมดุล
4.นโยบายรัฐบาลสหรัฐ คือปรับการค้าโลกให้สมดุลโดยขึ้นภาษีสินค้านําเข้าประเทศสหรัฐร้อยละ 10 ตั้งแต่วันที่ 5 เม.ย. จากนั้นปรับขึ้นตามอัตราที่กําหนดไว้ในภาคผนวกสําหรับแต่ละประเทศเริ่มวันที่ 9 เม.ย.จนกว่าจะได้ผลที่น่าพอใจ
อัตราเหล่านี้เป็นอัตราเพิ่มเติมจากสิ่งที่มีอยู่ยกเว้นแคนาดาและเม็กซิโก และอาจมีมาตรการเพิ่มเติมถ้าผลที่ออกมาไม่น่าพอใจหรือประเทศคู่ค้ามีมาตรการตอบโต้
และถ้าประเทศยอมแก้ไข (remedy) ความไม่เท่าเทียมและตรงกับสหรัฐในเรื่องเศรษฐกิจและความมั่นคง ประธานาธิบดีก็อาจลดหรือจำกัดขอบเขตของภาษีที่ระบุไว้ในคําสั่งนี้
นี่คือสิ่งที่ทรัมป์ลงนามในคําสั่งบริหาร ซึ่งชัดเจนว่าเป้าหมายคือการแก้ดุลการค้าขาดดุลตามที่ได้หาเสียงไว้ โดยให้เหตุผลว่าการขาดดุลเป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศ
แต่เพราะสหรัฐเป็นเศรษฐกิจอันดับหนึ่งของโลก การขึ้นภาษีกับทุกประเทศในอัตราที่แตกต่างกันหมายถึงการสิ้นสุดของระบบการค้าเสรีที่มีกฎเกณฑ์ภายใต้ระบบพหุภาคี ที่เป็นพื้นฐานของการค้าโลกมาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งจะสร้างผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจสหรัฐและเศรษฐกิจโลก
ผมคิดว่าทรัมป์และทีมงานเข้าใจผลกระทบเหล่านี้เป็นอย่างดี แต่ก็เลือกที่จะทําเพราะมั่นใจว่าเศรษฐกิจสหรัฐเข้มแข็งพอที่จะเผชิญกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นและสามารถกลับมาเป็นผู้ชนะได้ในที่สุด
ที่สําคัญ สหรัฐจะได้ประโยชน์จากอีกสองเรื่องที่ซ่อนอยู่ในการตัดสินใจ ที่อาจเป็นเบื้องลึกจริงๆ ของการขึ้นภาษีคราวนี้
อย่างแรก ภูมิรัฐศาสตร์ การประกาศขึ้นภาษีกับทุกประเทศในอัตราแตกต่างกัน และสามารถลดได้ถ้าประเทศพร้อมแก้ไข คือการบังคับให้ทุกประเทศต้องเจรจากับสหรัฐเพื่อขอลดอัตราภาษีเพื่อลดผลกระทบ
ซึ่งในการเจรจา สหรัฐอาจต้องการมากกว่าความเท่าเทียมเรื่องภาษีหรือลดการใช้มาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี แต่อาจขยายไปถึงสิ่งที่สหรัฐต้องการให้ประเทศ “แก้ไข" ที่ตรงกับสหรัฐในเรื่องเศรษฐกิจและความมั่นคง ซึ่งอาจเป็นอะไรก็ได้ที่สหรัฐต้องการ
นี่คือการใช้อํานาจ ผ่านการบีบบังคับและเจรจาที่ทรัมป์ทีมถนัดที่สุด เป็นประเด็นที่ต้องระวังและคงเกิดขึ้นแน่ๆ
สอง หนี้สาธารณะ ที่เป็นจุดอ่อนและอาจเป็นจุดตาย (Achilles' heel) ของเศรษฐกิจสหรัฐ เพราะแต่ละปีสหรัฐมีภาระดอกเบี้ยที่ต้องชําระมากถึง 800-900 พันล้านดอลลาร์ต่อปี ซึ่งสูงมาก
เงินเหล่านี้จําเป็นต้องมีเพื่อไม่ให้เศรษฐกิจสหรัฐสะดุดหรือเกิดปัญหาผิดนัดชําระหนี้ ซึ่งการหาเงินทําได้สองทาง คือ ลดการใช้จ่ายหรือขึ้นภาษี
ตัวเลขชี้ว่าการขึ้นอัตราภาษีสินค้านําเข้าเป็นเฉลี่ยร้อยละ 20 จะสามารถสร้างรายได้ให้รัฐบาลสหรัฐในวงเงินใกล้เคียงกับภาระดอกเบี้ยที่ต้องชำระในแต่ละปี
จึงไม่แน่ใจว่าการขึ้นภาษีเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหาหนี้สาธารณะของรัฐบาลสหรัฐหรือไม่ เพราะดูสหรัฐจะไม่มีทางเลือกอื่น แต่เงินภาษีเหล่านี้ในที่สุดแม้ไม่ทั้งหมด ประชาชนสหรัฐจะเป็นผู้จ่ายจากราคาสินค้าในประเทศที่จะสูงขึ้น กระทบความเป็นอยู่ของประชาชนสหรัฐ
ดังนั้น เมื่อรัฐบาลทรัมป์ได้ประกาศขึ้นภาษีแล้ว รัฐบาลก็คงต้องพร้อมดูแลความเป็นอยู่ของประชาชนสหรัฐที่จะลําบากมากขึ้นจากนี้ไป
นี่คือเหตุผลหรือสิ่งที่อาจอยู่เบื้องหลังการตัดสินใจคราวนี้ ในความเห็นของผม.
เศรษฐศาสตร์บัณฑิต
ดร.บัณฑิต นิจถาวร
ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล
bandid.n@ppgg.foundation