เรียนรู้การรับมือแผ่นดินไหวแบบญี่ปุ่น

เรียนรู้การรับมือแผ่นดินไหวแบบญี่ปุ่น

เหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 28 มี.ค.ที่ผ่าน สร้างความตื่นตระหนกให้แก่สังคมไทยอย่างมาก เกิดคำถามขึ้นมาว่า เมื่อเกิดแผ่นดินไหวเราควรทำอย่างไรกันแน่? 

ควรจะอพยพออกจากบ้านอาคารทันที หรือควรหลบลงใต้โต๊ะก่อน? ถ้าวิ่งหนีแต่ออกจากตึกไม่ทัน ตึกถล่มลงมาก่อนจะยิ่งอันตรายกว่าหรือไม่? แต่ถ้าหลบอยู่ใต้โต๊ะแล้วตึกถล่มก็อาจจะติดอยู่ใต้ซากตึกอีก?

ผู้เขียนจึงขอยกแนวทางปฏิบัติในการรับมือแผ่นดินไหวของญี่ปุ่นเป็นกรณีศึกษา ให้เราได้เรียนรู้ว่าควรทำอย่างไรเพื่อเตรียมตัว และลดความเสี่ยงอันตรายให้น้อยที่สุด

ญี่ปุ่นได้รับการขนานนามว่าเป็น “ดินแดนแห่งแผ่นดินไหว” เพราะต้องประสบกับแผ่นดินไหวขนาดกลาง (ระดับ 4-6 ตามมาตรฐานญี่ปุ่น) เฉลี่ยมากกว่าห้าสิบครั้งต่อปี

ชาวญี่ปุ่นจึงคุ้นเคยกับแผ่นดินไหว เรียกได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตประจำวันไปแล้ว เพราะมีการเผยแพร่ข้อมูล ให้ความรู้ และฝึกซ้อมอพยพอยู่ไม่ขาด

นอกจากนั้น ระบบแจ้งเตือนจากภาครัฐก็เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือสำคัญที่ทำให้คนญี่ปุ่นรับมือกับแผ่นดินไหวได้อย่างเหมาะสมตามสถานการณ์ 

เมื่อเกิดแผ่นดินไหว กรมอุตุนิยมวิทยาของญี่ปุ่นจะประเมินแรงสั่นสะเทือนและ “ประกาศเตือน” พร้อมให้ข้อมูลขนาดแผ่นไหวและโอกาสเกิดคลื่นสึนามิภายใน 30 วินาที ผ่านทางวิทยุโทรทัศน์ เว็บไซต์ หรือแอปพลิเคชันทางโทรศัพท์มือถือ

หากแผ่นดินไหวมีขนาดการสั่นสะเทือนตั้งแต่ระดับ 6 ขึ้นไปหรือเป็นแผ่นดินไหวแบบคลื่นยาว (Long-period ground motion) ตั้งแต่ระดับ 4 ขึ้นไป จะยกระดับเป็นการ “ประกาศเตือนภัย” 

ผู้ประสบภัยจะต้องตัดสินใจว่าควรอพยพจากที่อยู่อาศัยเดิมหรือไม่ โดยพิจารณาจากขนาดของแผ่นดินไหวและความเสี่ยงของการเกิดคลื่นสึนามิ โดยอ้างอิงจากแผนที่ระบุความเสี่ยงภัย (Hazard Map) ซึ่งระบุความเสี่ยงของการเกิดภัยพิบัติเกี่ยวเนื่องในแต่ละพื้นที่ เช่น คลื่นสึนามิ ดินถล่ม น้ำท่วมฉับพลัน ภูเขาไฟปะทุ

ขนาดของแผ่นดินไหวเป็นข้อมูลสำคัญที่ช่วยให้คนญี่ปุ่นตัดสินใจว่าควรปฏิบัติตัวอย่างไร ญี่ปุ่นจัดมาตรฐานของขนาดแผ่นดินไหวแบ่งเป็น 9 ระดับตามความรุนแรง แผ่นดินไหวระดับ 1-2 อาจจะมีบางคนที่ยังไม่รู้สึกถึงการสั่นสะเทือน

ระดับ 3 ผู้ที่อยู่ภายในอาคารเกือบทุกคนจะสัมผัสได้ถึงแรงสั่นสะเทือน ระดับ M4 ทุกคนสัมผัสได้ถึงแรงสั่นสะเทือน สิ่งของที่ไม่มั่นคงเริ่มล้มหรือตกหล่นลงมา

ระดับ M5 จะสั่นไหวรุนแรงจนเกิดความกลัว ต้องการคว้าจับสิ่งของเพื่อความมั่นคง อาจถึงขั้นเซจนเดินไม่ตรงหากไม่ยึดจับสิ่งใดไว้

ระดับ 6 สั่นสะเทือนรุนแรงมากจนเคลื่อนที่ไม่ไหว อาคารที่ไม่ได้ออกแบบต้านทานแผ่นดินไหวจะเริ่มเสียหายหรืออาจทรุดตัวเอียงลงมา ระดับสูงตั้งแต่ M7 ขึ้นไป อาคารที่ไม่ต้านทานแผ่นดินไหวส่วนใหญ่จะพังทลาย อาคารที่ต้านทานแผ่นดินไหวสูงจะเริ่มเสียหายหรือทรุดตัว

คนญี่ปุ่นถูกสอนว่าเมื่อเกิดแผ่นดินไหวขึ้นสิ่งแรกที่ต้องทำคือ การหลบเข้าไปพื้นที่ปลอดภัยหรือแข็งแรงซึ่งสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวที่สุดมักเป็นใต้โต๊ะ เพื่อป้องกันไม่ให้ศีรษะถูกกระแทกก่อน

 หลังจากนั้นจึงพิจารณาประกอบกับคำแนะนำจากประกาศแจ้งเตือนและแผนที่ระบุความเสี่ยงภัยว่า จะอพยพหรือไม่ตามระดับความรุนแรงของแผ่นดินไหว 

การเคลื่อนที่ขณะที่ยังมีแรงสั่นสะเทือนอยู่เป็นการกระทำที่เสี่ยงต่ออันตรายมาก เพราะสิ่งของจากชั้นวาง ผนังฝ้าเพดานอาจร่วงหล่นหรือพังถล่มลงมาทับ หรืออาจถูกบาดโดยเศษกระจกหน้าต่างที่แตกจากการบีบอัดของผนังกำแพง

สำหรับแผ่นดินไหวที่รุนแรงตั้งแต่ระดับ 6 ซึ่งสามารถทำให้อาคารเสียหาย การสั่นสะเทือนจะรุนแรงเกินมากจนไม่สามารถเคลื่อนไหวได้อย่างปลอดภัย

ดังนั้น การหลบอยู่ใต้โต๊ะหรือพื้นที่ปลอดภัยจึงลดความเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุได้ทั้งกรณีแผ่นดินไหวที่เบาจนถึงรุนแรง

ในทางตรงกันข้าม การวิ่งหนีออกจากอาคารทันทีขณะที่ยังสั่นสะเทือนอยู่กลับเป็นการกระทำที่เสี่ยงอันตรายอย่างมาก แผ่นดินไหวส่วนใหญ่มักเกิดการสั่นสะเทือนที่รุนแรงในช่วงสั้น ๆ ไม่เกิน 1-2 นาที

กรณีของอาคารสูง แผ่นดินไหวอาจสงบลงก่อนที่จะอพยพลงมาถึงที่ระดับพื้นดินเสียด้วยซ้ำ หากตึกถล่มเพราะแรงสั่นสะเทือนก็มีโอกาสสูงที่จะพลัดตกบันไดหรือติดอยู่ในทางหนีไฟ 

ยิ่งไปกว่านั้น หากออกมาภายนอกอาคารได้แล้ว คำถามต่อไปก็คือจะอพยพไปที่ไหนต่อ? เพราะประเทศไทยไม่ได้เตรียมสถานที่ปลอดภัยสำหรับเป็นศูนย์อพยพเอาไว้

การอพยพอย่างไร้จุดหมายและปราศจากแผนการอาจทำให้หลงเข้าไปในพื้นที่อันตรายแทน เสี่ยงประสบอุบัติเหตุจากวัตถุภายนอกอาคาร เช่น ต้นไม้ใหญ่หรือเสาไฟฟ้าหักโดน หรือรถยนต์ที่สูญเสียการควบคุมพุ่งชน 

ความเสี่ยงเหล่านี้อาจเกิดขึ้นที่ภายนอกอาคารหลังจากแผ่นดินไหวสงบลง ดังนั้น การอพยพออกนอกอาคารโดยปราศจากจุดหมายที่ชัดเจน จึงอาจเป็นอันตรายยิ่งกว่าการหลบอยู่ภายในอาคารที่แข็งแรงเพียงพอต่อการรับแรงสั่นสะเทือนด้วยซ้ำ 

แน่นอนว่าการหนีตายอย่างสับสนอลหม่านที่เกิดขึ้นมีสาเหตุหลักเพราะ คนไทยส่วนใหญ่ “ไม่เชื่อมั่น” ว่างานก่อสร้างอาคารของไทยได้มาตรฐาน 

อย่างน้อยเหตุการณ์ในวันที่ 28 มี.ค. ได้พิสูจน์ให้เห็นว่าโครงสร้างอาคารของประเทศไทยก็มี “มาตรฐาน” ในระดับหนึ่ง จึงไม่เกิดเหตุการณ์อาคารถล่มเป็นหน้ากลอง รางรถไฟฟ้า ทางด่วนพังพินาศลงมาทั่วทั้งเมือง

สิ่งก่อสร้างโดยวิศวกรไทยยังสามารถทนแผ่นดินไหวระดับ 3-4 ได้ตามมาตรฐานการก่อสร้างอย่างที่ควรเป็น แม้ยังต้องตรวจสอบความแข็งแรงของโครงสร้างอาคาร และซ่อมแซมส่วนตกแต่งภายนอกที่เสียหาย ซึ่งเป็นกระบวนการฟื้นฟูในระยะยาว

กระนั้น ความวุ่นวายที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นว่าสังคมไทยยังขาดความเข้าใจและแผนการรับมือกับสถานการณ์แผ่นดินไหวที่เป็นระบบ ขาดความพร้อมตั้งแต่ระดับผู้บริหารประเทศ กลไกการทำงานของหน่วยงานต่างๆ จนถึงภาคประชาชน

เราจึงควรนำประสบการณ์ในครั้งนี้ไปสรุปเป็นบทเรียน สร้างแผนรับมือและระบบการแจ้งเตือนภัย เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความวุ่นวายเช่นนี้อีกในอนาคต.