แรงงานประท้วงทั่วโลกรับวันแรงงาน

แรงงานประท้วงทั่วโลกรับวันแรงงาน

แรงงานในหลายประเทศทั่วโลก เดินขบวนประท้วงเนื่องในวันแรงงานสากล 1 พ.ค. เรียกร้องขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ

กลุ่มแรงงานทั่วเอเชียพากันออกมาเดินขบวนประท้วงเนื่องในวันแรงงานสากล โดยข้อเรียกร้องส่วนใหญ่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน คือ ปรับเพิ่มค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ และปรับปรุงสภาพแวดล้อมในการทำงาน

ทั้งนี้ การเดินขบวนของกลุ่มแรงงานนับพันคนบังกลาเทศ ที่เพิ่งเกิดเหตุอาคาร 8 ชั้นพังถล่มเป็นไปอย่างดุเดือด นอกจากจะเรียกร้องให้เพิ่มมาตรฐานความปลอดภัยของสถานที่ทำงานแล้ว ยังเรียกร้องให้ลงโทษประหารชีวิตแก่เจ้าของอาคาร รานา พลาซ่า สูง 8 ชั้นที่พังถล่มเมื่อวันพุธที่แล้ว (24 เม.ย.) ที่่ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 402 คน ท่ามกลางรายงานข่าวที่วิตกว่าอาจมีผู้เสียชีวิตติดอยู่ใต้ซากปรักหักพังถึงเกือบ 900 คน แต่ต่อมาเจ้าหน้าที่คาดว่าอาจมีเพียง 149 คนโดยอาจเกิดความผิดพลาดจากการนับซ้ำ

ส่วนที่กรุงมะนิลาของฟิลิปปินส์ มีแรงงานหลายพันคนเดินขบวนตามท้องถนนเรียกร้องให้รัฐบาลรับประกันการจ้างงานและหยุดใช้วิธีจ้างงานด้วยสัญญาว่าจ้างชั่วคราว ที่จะทำให้แรงงานไม่ได้รับสิทธิและสวัสดิการบางอย่าง นอกจากนี้ผู้ประท้วงเรียกร้องให้ประธานาธิบดีเบนิโญ อาคิโนออกกฎหมายเพิ่มอำนาจให้กับสหภาพแรงงาน

ขณะแรงงานกัมพูชาเกือบ 5,000 คนเดินขบวนในกรุงพนมเปญเรียกร้องขึ้นเงินเดือนขั้นต่ำของแรงงานภาคการผลิตเสื้อผ้าเป็นเดือนละ 150 ดอลลาร์ ขอให้ปรับปรุงสภาพแวดล้อมการทำให้ดีขึ้น และลดราคาน้ำมันเบนซินให้ต่ำกว่าลิตรละ 29 บาทจากปัจจุบัน 40 บาท

แรงงานหลายพันคนในอินโดนีเซีย เดินขบวนในกรุงจาการ์ตา เรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกแผนขึ้นราคาน้ำมัน ที่จะทำให้ราคาสินค้าเพิ่มขึ้นและเป็นการเพิ่มภาระให้แรงงาน หลังประธานาธิบดีสุสิโล บัมบัง ยูโดโยโนประกาศจะลดเงินอุดหนุนเชื้อเพลิงด้วยการขึ้นราคาน้ำมันในเดือนนี้เพื่อนำเงินไปใช้ในโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานและอื่นๆที่จำเป็น

ทางด้านนครอิสตันบุลของตุรกีเกิดเหตุรุนแรงระหว่างการประท้วงของแรงงาน เมื่อผู้ประท้วงหลายสิบคนพยายามฝ่าแนวรั้วเครื่องกีดขวางทางเข้าสู่จตุรัสทักซิม ทำให้ตำรวจต้องฉีดน้ำ และแก๊สน้ำตาเข้าสลาย และผู้ประท้วงขว้างหินเข้าใส่เป็นการตอบโต้ ที่ผ่านมาจตุรัสแห่งนี้ เป็นสถานที่ชุมนุมของแรงงานในวันแรงงานทุกปี แต่ปีนี้ไม่อนุญาตให้เข้าไปในบริเวณนั้น เพราะกำลังมีงานก่อสร้าง