‘ญี่ปุ่น’ แซงหน้า‘จีน’วางโครงสร้างพื้นฐานอาเซียน
บรรดาผู้เชี่ยวชาญระบุว่า รัฐบาลโตเกียวอาจไม่แข่งขันเรื่องเงินลงทุนจำนวนมหาศาลกับรัฐบาลปักกิ่งไม่ได้ แต่ยังเป็นต่อในแง่ของชื่อเสียงและผลกระทบที่มีต่อท้องถิ่น
ก่อนที่จีนเริ่มโน้มน้าวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วยการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานผ่านแผนนำร่อง “เส้นทางสายไหมใหม่” (บีอาร์ไอ) ญี่ปุ่นเคยเป็นผู้สนับสนุนเงินทุนการพัฒนารายใหญ่ที่สุดของภูมิภาคนี้แต่ปัจจุบัน2 ประเทศมหาอำนาจกำลังแข่งขันด้านอิทธิพลทางเศรษฐกิจและการค้า นักวิเคราะห์บางรายมองว่า รัฐบาลปักกิ่งอาจชนะศึกนี้ได้ก็จริง แต่กำลังจะแพ้สงครามกับญี่ปุ่น
บรรดาผู้เชี่ยวชาญระบุว่า รัฐบาลโตเกียวอาจไม่แข่งขันเรื่องเงินลงทุนจำนวนมหาศาลกับรัฐบาลปักกิ่งไม่ได้ แต่ยังเป็นต่อในแง่ของชื่อเสียงและผลกระทบที่มีต่อท้องถิ่น
หลายฝ่ายมองว่า ธุรกิจร่วมทุนของญี่ปุ่นภายในประเทศเกิดใหม่ของเอเชียซึ่งเริ่มขึ้นครั้งแรกช่วงปลายทศวรรษที่ 70 ผ่านบรรดาบริษัทข้ามชาติก่อนรัฐบาลโตเกียวจะบุกเบิกความเชื่อมโยงด้านโครงสร้างพื้นฐานในช่วงทศวรรษที่ 90 ถือเป็นแบบอย่างสำหรับสิ่งที่กลุ่ม 7ประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก (จี7) และองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (โออีซีดี) เรียกว่า “โครงสร้างพื้นฐานคุณภาพ”
โครงการเหล่านี้มีมาตรฐานสูงด้านความปลอดภัย สิ่งแวดล้อม ความน่าเชื่อถือ และความครอบคลุม นอกเหนือจากการยกระดับโลจิสติกส์ทั้งหมดในพื้นที่ที่มีการพัฒนา
ตัวอย่างเช่น ธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (เจบิก) อ้างว่าสินเชื่อที่ธนาคารอนุมัติให้เวียดนามสำหรับทางหลวงแห่งชาติและการปรับปรุงท่าเรือ กระตุ้นรายได้ครัวเรือนลดระดับความยากจน และเพิ่มประสิทธิภาพในพื้นที่ชนบท
แม้หลายแคมเปญภายใต้โครงการเส้นทางสายไหมใหม่ของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ผู้นำจีน ถูกมองว่าเป็นโครงสร้างพื้นฐานคุณภาพ แต่มักเกิดความกังวลในวงกว้างเกี่ยวกับการร่วมลงทุน ซึ่งหลายฝ่ายมองว่าเป็นแนวทางหนึ่งในการประกาศอำนาจของจีนไปทั่วโลก
“ระดับการลงทุนอันทะเยอทะยานของโครงการบีอาร์ไอแทบไม่สะท้อนถึงผลลัพธ์ที่แท้จริงจากโครงการโครงสร้างพื้นฐานใหม่” โจนาธาน ฮิลล์แมน นักวิชาการอาวุโสและผู้อำนวยการโครงการเชื่อมโยงเอเชียของศูนย์เพื่อการศึกษายุทธศาสตร์ระหว่างประเทศ (ซีเอสไอเอส) ระบุในรายงานเมื่อปีก่อน
นอกจากนั้น ฮิลล์แมนตั้งคำถามว่า “การใช้จ่ายในบีอาร์ไอจะช่วยผู้ที่ยากไร้มากที่สุดหรือไม่ บีอาร์ไอจะเป็นโครงการที่อยู่รอดได้หรือสูญเงินเปล่า โครงการนี้จะช่วยหรือทำลายภาวะโลกร้อน”
บรรดาผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า ทางรถไฟ เครือข่ายการสื่อสาร และการพัฒนาเกษตรกรรมที่สร้างโดยบรรดาบริษัทและสถาบันภาครัฐญี่ปุ่น มีประโยชน์อย่างมากโดยเฉพาะด้านการฝึกอบรมเทคนิคและการให้ความรู้แก่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในท้องถิ่น และถือเป็นแนวทางระยะยาวในการกระชับความสัมพันธ์อันดีระหว่างรัฐบาลโตเกียวกับประเทศเจ้าภาพ