‘คอนเทนท์เอเชีย’ เป้าหลักยักษ์สตรีมมิง
งาน “ฟิล์มอาร์ต 2019” ซึ่งจัดขึ้นในฮ่องกงเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ถือเป็นอีเวนท์อุตสาหกรรมภาพยนตร์และโทรทัศน์นานาชาติที่เรียกได้ว่าเป็น “ใบเบิกทาง” สำหรับบรรดาผู้ผลิตคอนเทนท์ทั่วโลกสู่ตลาดยักษ์ใหญ่อย่างจีน เพื่อชิงลิขสิทธิ์ความบันเทิงภายในบ้าน
อย่างไรก็ตาม ความเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนที่สุดของงานฟิล์มอาร์ตครั้งนี้ คือ การมีบทบาทสำคัญของบรรดาแพลตฟอร์มสตรีมมิงและผู้ผลิตคอนเทนท์โทรทัศน์ยักษ์ใหญ่จากทั่วโลก ทำให้ในวงสัมมนาหัวข้อต่าง ๆ ในงานเต็มไปด้วยเหล่าผู้บริหารผู้ให้บริการ "โอทีที" หรือบริการสื่อสารและแพร่ภาพเนื้อหาผ่านแอพพลิเคชั่นบนอินเทอร์เน็ตและผู้ผลิตคอนเทนท์ “ลองฟอร์ม” ระดับไฮเอนด์ จากเดิมที่เคยมีแต่ผู้บริหารค่ายภาพยนตร์
กง หยู ประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) บริษัทอ้ายฉีอี้ (iQiyi) ยักษ์ใหญ่สตรีมมิงของจีน กล่าวระหว่างการสัมมนาว่า อุตสาหกรรมบันเทิงของจีนได้เข้าสู่ยุคที่น่าตื่นเต้น ซึ่งถูกพัฒนาขึ้นด้วยแรงขับเคลื่อนจากความต้องการผู้บริโภคที่สูงขึ้นและความล้ำหน้าทางเทคโนโลยี
“จีนเคยมีจีดีพี (ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ) ต่อหัวแตะที่ 8,500 ดอลลาร์ อุตสาหกรรมบันเทิงของประเทศจะมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องไปอีกกว่า 10 ปี ด้วยอัตรากว่า 10% ต่อปี” กงระบุ และว่า “เมื่อปีที่แล้ว จีนมีจีดีพีต่อหัวอยู่ที่กว่า 9,000 ดอลลาร์ ไม่มีช่วงเวลาไหนจะดีกว่าตอนนี้อีกแล้วสำหรับอ้ายฉีอี้ ในการก้าวเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมบันเทิงแดนมังกร”
ซีอีโอรายนี้กล่าวว่า ความสำเร็จของคอนเทนท์ของอ้ายฉีอี้เกิดจากความเข้าใจอย่างถ่องแท้ต่อความต้องการของผู้บริโภคและรูปแบบธุรกิจที่มีประสิทธิภาพของบริษัท และยังเป็นผลจากการใช้ประโยชน์และลงทุนในเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) อันล้ำสมัยและบุคลากรระดับหัวกะทิของอ้ายฉีอี้
ขณะเดียวกัน การแจ้งเกิดอย่างรวดเร็วของแพลตฟอร์มโอทีทีในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ยังเป็นหัวข้อถกเถียงสำคัญในวงสัมมนาของงานฟิล์มอาร์ตปีนี้ โจนาธาน สปิงค์ ซีอีโอของเอชบีโอ เอเชีย กล่าวว่า แม้จะมีความท้าทายหลายด้าน แต่อนาคตสำหรับบริการโอทีทียังดูสดใสมาก
“คุณจะเห็นว่าผู้คนไม่เพียงเลือกและจ่ายเงินซื้อแพลตฟอร์มเดียวเท่านั้นแต่ยังซื้อ 2-3 แพลตฟอร์ม และพวกเขายังรับชมคอนเทนท์มากกว่าที่เคยเป็นในอดีต”
ด้านฌอน พาร์ค ผู้อำนวยการการตลาดบริษัทยูทูบ อินเตอร์เนชันแนล มาร์เก็ตส์ ระบุว่า ยูทูบกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันไปแล้ว และปัจจุบันมีการอัพโหลดคอนเทนท์บนยูทูบรวม 500 ชั่วโมงในทุก ๆ นาที
“ราว 70% ของยอดเข้าชมมาจากมือถือ เฉลี่ยอยู่ที่ 1 ชั่วโมงต่อวัน หรือเท่ากับเวลาที่ผู้คนใช้ขณะสัญจรบนท้องถนน”
จูเลียน ชิว ผู้จัดการอาวุโสด้านการขายและกระจายสินค้าระหว่างประเทศของบริษัทเอ็ดโก เอนเตอร์เทนเมนท์ ที่มาร่วมงานฟิล์มอาร์ต เผยนอกรอบว่า บริษัทสตรีมมิงหลายรายเตรียมงบจำนวนมากขึ้นสำหรับซื้อคอนเทนท์จีน เพื่อตอบสนองความต้องการของประชากรจีนในต่างประเทศที่เติบโตขึ้นเรื่อย ๆ อย่างไรก็ตาม เขาไม่ได้เจาะจงจำนวนเงิน
เมื่อไม่นานนี้ “เน็ตฟลิกซ์” บริษัทสตรีมมิงความบันเทิงรายใหญ่ของสหรัฐ แสดงความสนใจมากขึ้นต่อคอนเทนท์จีนที่ได้รับความนิยมสูง แม้ถูกรัฐบาลปักกิ่งห้ามเปิดบริการในประเทศก็ตาม เห็นได้จากการซื้อ “The Wandering Earth” ภาพยนตร์แนวไซไฟที่ฉายในช่วงตรุษจีนที่ผ่านมา รวมไปถึง “Animal World” หรือชื่อไทย เจิ้งไค ฮีโร่เกรียนกู้โลก ภาพยนตร์แนวธริลเลอร์เจาะกลุ่มวัยรุ่น และ “Us and Them” ภาพยนตร์แนวโรแมนติกที่ฉายเมื่อปีที่แล้ว
อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่า บรรดาโปรเจคขนาดเล็กกว่าจะได้ประโยชน์จากการซื้อลิขสิทธิ์ของเน็ตฟลิกซ์มากที่สุด “ภาพยนตร์จีนที่ใช้งบน้อยกว่า เช่น แนวดราม่าและโรแมนติกคอมเมดี้ ซึ่งปกติแล้วจะไม่เป็นที่สนใจของตัวแทนจำหน่ายในต่างประเทศ แต่ตอนนี้กลับมีพื้นที่ใหม่สำหรับออกฉายไปทั่วโลกแล้ว ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดี” ชิวกล่าว
เอมิโกะ คาวาอิ หัวหน้าฝ่ายขายบริษัทนิกคัตสึของญี่ปุ่น เผยนอกรอบงานฟิล์มอาร์ตว่า งานตลาดภาพยนตร์ยุโรป (อีเอฟเอ็ม) ในกรุงเบอร์ลินของเยอรมนีเมื่อเดือนที่แล้ว กลายเป็นครั้งที่เงียบเหงาที่สุดตั้งแต่เคยจัดมา ส่วนหนึ่งเป็นเพราะจัดชนกับช่วงตรุษจีน แต่จริง ๆ ผู้ซื้อชาวจีนบางส่วนได้ระงับแผนซื้อคอนเทนท์ไปตั้งแต่ก่อนหน้านั้นแล้ว
ขณะเดียวกัน ตลาดอื่น ๆ ต่างเพิ่มความพยายามเพื่อชดเชยความกระหายคอนเทนท์น้อยลงของจีนเมื่อไม่นานนี้ ตัวอย่างเช่น เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งเป็นแหล่งอาศัยของผู้บริโภคที่มีศักยภาพรวมเกือบ 1,000 ล้านคนและโครงสร้างพื้นฐานด้านนิทรรศการภาพยนตร์ที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว
“คนในอุตสาหกรรมบางส่วนคิดว่าเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อาจเป็นตลาดการเติบโตแห่งต่อไป” คาวาอิเผย และว่า “ตลาดนี้ไม่ได้ใหญ่เท่ากับจีน แต่ดิฉันคิดว่าจะได้เห็นตัวแทนจำหน่ายมากขึ้นจากหลายประเทศ เช่น เวียดนาม”
ขณะที่ชิว จากเอ็ดโก ระบุว่า ฟิล์มอาร์ตเป็นตลาดสำคัญมาโดยตลอด ไม่ใช่เพียงสำหรับการทำข้อตกลงธุรกิจเท่านั้น แต่ยังช่วยสร้างความสัมพันธ์ใหม่กับบรรดาตัวแทนจำหน่ายจากที่อื่น ๆ ในเอเชีย โดยเฉพาะคนในอุตสาหกรรมจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ไม่ได้เดินทางไปเทศกาลภาพยนตร์ในเมืองคานส์ (ฝรั่งเศส) กรุงเบอร์ลิน (เยอรมนี) หรือตลาดภาพยนตร์อเมริกันบ่อยนัก