‘ซูเปอร์แอพ’อาเซียนเดือดรับศก.อินเทอร์เน็ต ‘บูม’
บรรดาผู้เชี่ยวชาญชี้ การแข่งขันเพื่อชิงความเป็น “ซูเปอร์แอพ” ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นไปอย่างดุเดือด ในขณะที่ธุรกิจอีคอมเมิร์ซบนมือถือเข้ามามีบทบาทในภูมิภาคมากขึ้นเรื่อยๆ
“มันเป็นการช่วงชิงความเป็นซูเปอร์แอพในอาเซียน” วรุณ มิตทาล หัวหน้าฝ่ายเทคโนโลยีทางการเงิน (ฟินเทค) ตลาดเกิดใหม่โลกของบริษัทที่ปรึกษา “อีวาย” กล่าวถึงสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ระหว่างร่วมสัมมนาในงานประชุมการลงทุนเอเชียเครดิตสวิสในฮ่องกง เมื่อวันอังคาร (26 มี.ค.)
ซูเปอร์แอพ ทำให้ผู้ใช้งานเข้าถึงบริการที่หลากหลายจากแอพพลิเคชั่นเดียวบนมือถือ เช่น ช่วยให้สามารถทำธุรกรรมทางการเงิน และสั่งอาหาร หรือเรียกรถรับ-ส่งได้
“ทุกคนกำลังเล็งไปที่การชำระเงินเพื่อเป็นก้าวแรกสู่บริการทางการเงินที่เหลือ” มิตทาล กล่าว และเสริมว่า การสร้างรายได้จากการชำระเงินเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอที่จะทำให้ธุรกิจเติบโต
อย่างไรก็ตาม วงสัมมนานี้แนะว่า การจะประสบความสำเร็จในด้านนี้ บรรดาผู้ให้บริการต้องให้ความสำคัญกับการสร้างความไว้วางใจและแสดงให้เห็นว่าบริการของตนสามารถปรับปรุงวิธีดำเนินชีวิตผ่านการเชื่อมโยงผู้คนกลุ่มเล็ก ๆ เข้ากับเศรษฐกิจในวงกว้างได้
ผลการศึกษาโดยบริษัทกูเกิลของสหรัฐ และบริษัทเทมาเส็ก โฮลดิ้งส์ของสิงคโปร์ที่เผยแพร่เมื่อเดือนพ.ย. ปีที่แล้ว คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจอินเทอร์เน็ตของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะมีมูลค่าทะลุ 2.4 แสนล้านดอลลาร์ภายในปี 2568 และอินเทอร์เน็ตบนมือถือที่สามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้นจะช่วยกระตุ้นการเติบโตในภาคอุตสาหกรรมอย่างการเรียกรถผ่านมือถือ (แชร์รถ) และอีคอมเมิร์ซ
นอกจากนั้น รายงานดังกล่าวยังคาดว่า เศรษฐกิจอินเทอร์เน็ตของภูมิภาคนี้อยู่ที่ราว 7.2 หมื่นล้านดอลลาร์ภายในสิ้นปีที่แล้ว หรือเพิ่มขึ้น 37% จากปีก่อนหน้า โดยวัดจากมูลค่าการขายสินค้ารวม (จีเอ็มวี) ซึ่งเป็นตัวชี้วัดสำคัญของอุตสาหกรรมในการประเมินมูลค่ายอดขายสินค้าออนไลน์
มิตทาล เน้นย้ำว่า บริษัทต่าง ๆ ต้องแสดงให้เห็นว่าจุดประสงค์ของข้อมูลที่เก็บรวบรวมนั้น ไม่ใช่การฉกฉวยข้อมูลโดยพลการ
“มันเหมือนกับเราพยายามที่จะช่วยเหลือคุณ เราต้องการช่วยให้คุณเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจ มาร่วมมือกันเพื่อช่วยให้คุณประสบความสำเร็จกันดีกว่า”
ภาคอุตสาหกรรมแชร์รถซึ่งครอบคลุมถึงการจองบริการขนส่งผ่านอินเทอร์เน็ตและการส่งสินค้าออนไลน์ เติบโตอย่างรวดเร็วในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นำโดยบริษัทรายใหญ่อย่าง “โกเจ็ก” ของอินโดนีเซีย และ “แกร็บ” ของสิงคโปร์
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว บริษัทแกร็บ ไฟแนนเชียล ในเครือแกร็บ อิงค์ เปิดเผยว่า จะเปิดบริการทางการเงินหลายรูปแบบทั่วภูมิภาคอาเซียน ซึ่งรวมถึงระบบชำระเงินออนไลน์ที่จะทำให้ผู้ขายรองรับบริการชำระเงินดิจิทัลของแกร็บที่ชื่อว่า “แกร็บเพย์” ได้
อย่างไรก็ตาม แมคคินซีย์ แอนด์ คัมพะนี บริษัทที่ปรึกษาด้านการจัดการ ระบุว่า 99% ของจำนวนการทำธุรกรรมในอินโดนีเซียซึ่งมีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยังคงอยู่ในรูปเงินสด
แอนโธนี โธมัส ประธานและประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) “มินต์” ผู้ให้บริการการชำระเงินออนไลน์และฟินเทคของฟิลิปปินส์ในเครือ “โกลบ เทเลคอม” “แอนท์ ไฟแนนเชียล” และ “อยาลา” กล่าวว่า ซูเปอร์แอพจำเป็นต้องสามารถช่วยให้ผู้คนผ่านชีวิตประจำวันได้ราบรื่นขึ้น และปัจจุบัน เทคโนโลยีก็ช่วยให้คนที่เคยเข้าไม่ถึงบริการขั้นพื้นฐาน สามารถกู้สินเชื่อได้
“จริง ๆ แล้ว ปัญหาในฟิลิปปินส์คือ การเข้าถึงบริการทางการเงินอย่างเป็นทางการ เนื่องจากชาวฟิลิปปินส์ 2 ใน 3 คนยังไม่มีบัญชีธนาคารเป็นของตัวเอง” โธมัสระบุ และว่า “อีกทั้ง 9 ใน 10 คนยังเข้าไม่ถึงการกู้สินเชื่อจากธนาคาร”
ขณะเดียวกัน “ลาซาด้า” บริษัทอีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่แห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในเครือ “อาลีบาบา กรุ๊ป โฮลดิ้ง” ของจีน กำลังหาทางกระตุ้นผลิตภัณฑ์ด้านบริการทางการเงินของตน ในความพยายามเพื่อชิงความได้เปรียบในตลาดค้าปลีกออนไลน์ที่มีการแข่งขันสูงของภูมิภาค
ปิแอร์ ปัวนองต์ ซีอีโอลาซาด้าซึ่งเข้ารับตำแหน่งเมื่อเดือนธ.ค. ที่ผ่านมา ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวซีเอ็นบีซีที่งานประชุมโป๋อาวในจีนว่า บริการทางการเงินจะมีบทบาทสำคัญต่ออนาคตของบริษัท ในขณะที่บริษัทกำลังหาทางสนับสนุนทรัพยากรเพิ่มในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
บริษัทซึ่งมีสำนักงานใหญ่ในสิงคโปร์ดำเนินการแพลตฟอร์มซึ่งให้ผู้ค้าสามารถจำหน่ายสินค้าไปยังหลายประเทศที่บริษัทดำเนินการอยู่ รวมถึงไทยและอินโดนีเซีย และปัจจุบัน ลาซาด้าซึ่งครอบรอบการก่อตั้ง 7 ปี วานนี้ (27 มี.ค.) ดำเนินการกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (อีวอลเล็ท) ซึ่งทำให้ผู้ใช้สามารถซื้อและจำหน่ายผลิตภัณฑ์บนแพลตฟอร์มของตนได้
อย่างไรก็ตาม ปัวนองต์เผยว่า เขามีแผนที่จะขยายขอบเขตผลิตภัณฑ์นั้น“ก้าวต่อไปคือบริการทางการเงิน ซึ่งให้ผลตอบแทนมากกว่าอีวอลเล็ทของเราเสียอีก ดังนั้น เราจะยังเดินหน้าลงทุนในทิศทางนี้ต่อไป”
เมื่อปีที่แล้ว ลาซาด้าจับมือกับ “ฟินแอกซาร์” แพลตฟอร์มการเงินสำหรับธุรกิจขนาดเล็ก เพื่อเสนอสินเชื่อให้กับธุรกิจขนาดย่อมและขนาดกลางบนแพลตฟอร์มของตน ปัวนองต์ เผยว่า แผนต่อไปอาจเป็นการเพิ่มผลิตภัณฑ์ทางการเงิน เพื่อทำให้สินเชื่อมีประสิทธิภาพมากขึ้น