ไอเอ็มเอฟเตือนศก.เอเชีย-แปซิฟิกเสี่ยงขาลงเพิ่ม

ไอเอ็มเอฟเตือนศก.เอเชีย-แปซิฟิกเสี่ยงขาลงเพิ่ม

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ระบุว่า แนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจของเอเชีย-แปซิฟิกยังคงมีเสถียรภาพ แต่ความเสี่ยงในช่วงขาลงเพิ่มขึ้น โดยได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของการค้า, ราคาน้ำมันที่พุ่งขึ้น และภาวะผันผวนในตลาดการเงินทั่วโลก

นายชางยอง รี ผู้อำนวยการฝ่ายเอเชียและแปซิฟิกของไอเอ็มเอฟ กล่าวว่า ความไม่แน่นอนเกี่ยวกับนโยบายการค้าจะเป็นภัยคุกคามครั้งใหม่ต่อการขยายตัวของเอเชีย

ทั้งนี้ ไอเอ็มเอฟ คาดว่าเอเชียจะมีการขยายตัว 5.4% ในปีนี้ และปีหน้า โดยไม่เปลี่ยนแปลงจากตัวเลขคาดการณ์ในเดือนต.ค.ปีที่แล้ว ขณะที่เอเชียมีสัดส่วนมากกว่า 60% ของการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก

ไอเอ็มเอฟ ได้ทบทวนปรับเพิ่มตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนในปีนี้ สู่ระดับ 6.3% จากระดับ 6.2% ก่อนหน้านี้ โดยได้รับผลบวกจากความคืบหน้าของการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐและจีน รวมทั้งการใช้นโยบายการคลังเชิงขยายที่มากกว่าที่คาดการณ์ไว้

นายรี ระบุว่า ประเทศในเอเชียจะต้องใช้นโยบายที่รอบคอบ, ระมัดระวัง และมีความยืดหยุ่นเพื่อให้สามารถผ่านพ้นช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ

“นโยบายเศรษฐกิจมหภาคควรจะเน้นในด้านการรักษาการขยายตัวอย่างมีเสถียรภาพ, อย่างยั่งยืน และยืดหยุ่น” นายรีกล่าว พร้อมกับเสริมว่า เอเชียจะต้องมีการปฏิรูปแรงงาน และตลาด, เพิ่มการใช้จ่ายทางด้านสังคมเพื่อแก้ปัญหาควาไม่เท่าเทียวกันที่เพิ่มมากขึ้น รวมทั้งใช้ความพยายามในการเปิดกว้างเศรษฐกิจในภูมิภาคต่อการค้า ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงที่เกิดจากนโยบายกีดกันทางการค้าทั่วโลก

ด้านนางคริสติน ลาการ์ด ผู้อำนวยการไอเอ็มเอฟ เรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายกำหนดนโยบายของรัฐบาลทั่วโลกพยายามหลีกเลี่ยงการดำเนินนโยบายการค้าที่ผิดพลาดและเป็นอันตราย เนื่องจากเศรษฐกิจทั่วโลกชะลอตัวลงเป็นวงกว้าง ขณะที่แนวโน้มการดีดตัวของเศรษฐกิจยังคงเปราะบาง

“เราต่างก็ทราบกันมานานหลายสิบปีแล้วว่า การบูรณาการทางการค้าเป็นปัจจัยที่ช่วยกระตุ้นประสิทธิภาพด้านการผลิต นวัตกรรม การเติบโต การจ้างงาน และยังช่วยลดค่าครองชีพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่ประชาชนที่มีรายได้ต่ำ” นางลาการ์ด กล่าวในการประชุมประจำปีของไอเอ็มเอฟและธนาคารโลก วานนี้ (12เม.ย.)

ผู้อำนวยการไอเอ็มเอฟ ยังเรียกร้องให้ประเทศต่างๆ ร่วมมือกันแก้ไขปัญหาการดำเนินนโยบายการค้าที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งรวมถึงการดำเนินการผ่านการปฏิรูประบบขององค์การการค้าโลก พร้อมระบุว่า ทุกฝ่ายจำเป็นต้องหลีกเลี่ยงการดำเนินการที่จะสร้างความเจ็บปวดให้กับตนเอง ซึ่งรวมถึงการเรียกเก็บภาษีและกำแพงการค้า