3แบงก์ชั้นนำฟันธงจีดีพีจีนปีนี้โตแกร่ง

3แบงก์ชั้นนำฟันธงจีดีพีจีนปีนี้โตแกร่ง

ขณะที่หลายคนเริ่มรับรู้ได้ถึงภาวะการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของจีน แต่ธนาคารชั้นนำระดับโลก อย่างธนาคารซิตี้แบงก์ บาร์เคลย์ และไอเอ็นจี กลับมีความมั่นใจในเศรษฐกิจของจีน ล่าสุด ธนาคารทั้ง3แห่งปรับเพิ่มตัวเลขคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนในปีนี้

บรรดานักเศรษฐศาสตร์จากธนาคารบาร์เคลย์ ปรับเพิ่มคาดการณ์การเติบโตของจีดีพีจีนปีนี้อยู่ที่ 6.5% จากก่อนหน้านี้ที่คาดการณ์ว่าจีดีพีจีนจะขยายตัว 6.2% โดยให้เหตุผลว่าเป็นผลพวงมาจากการที่จีดีพีจีนในช่วงไตรมาสแรกขยายตัวอย่างแข็งแกร่งจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลจีน รวมทั้งปัจจัยต่างๆ รวมถึงราคาที่อยู่อาศัยและแนวโน้มตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่ขยายตัว

ส่วนนักเศรษฐศาสตร์จากซิตีแบงก์ เพิ่มคาดการณ์จีดีพีรายปีของจีนอยู่ที่ 6.6% จาก 6.2% โดยให้เหตุผลว่ามีแนวโน้มที่ดีในการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ประกอบกับความต้องการภายในประเทศของจีนขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

“เราประเมินสถานการณ์การเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐและจีนแล้วมั่นใจว่าทั้ง2ฝ่ายจะบรรลุข้อตกลงการค้าร่วมกันภายในไตรมาสสอง และจะมีการยกเลิกการจัดเก็บภาษีระหว่างกันเป็นส่วนใหญ่”นักเศรษฐศาสตร์จากซิตีแบงก์ ให้ความเห็น

ขณะที่ นักเศรษฐศาสตร์จากไอเอ็นจี ปรับเพิ่มคาดการณ์จีดีพีจีนเป็น 6.5% จากก่อนหน้านี้ที่คาดการณ์ว่าจีดีพีจีจะขยายตัวในอัตรา 6.3% โดยให้เห็นผลการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานของจีนที่มีอย่างต่อเนื่อง และการพัฒนาเทคโนโลยี5จีที่เป็นฟันเฟืองขยายการเติบโตของเศรษฐกิจช่วงไตรมาสแรกได้อย่างแท้จริง

“เราคิดว่าแนวโน้มนี้จะดำเนินต่อไปตลอดทั้งปี”ไอริส ปัง นักเศรษฐศาสตร์ประจำจีนแผ่นดินใหญ่ของไอเอ็นจี กล่าว

ด้านคณะกรรมการกรมการเมือง (โปลิตบูโล) ซึ่งเป็นองค์กรสูงสุดที่มีอำนาจในการตัดสินใจของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ออกแถลงการณ์ว่า จีนจะยังคงใช้นโยบายสนับสนุนเศรษฐกิจ ซึ่งขณะนี้เศรษฐกิจกำลังเผชิญกับแรงกดดันในช่วงขาลง แม้มีการเปิดเผยตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ดีกว่าคาดในไตรมาสแรกก็ตาม

“เรายังคงมองเห็นปัญหา และความยากลำบากทางเศรษฐกิจ โดยปัจจัยภายนอกกำลังตึงตัว และเศรษฐกิจในประเทศก็เผชิญแรงกดดันในช่วงขาลง” แถลงการณ์ ระบุ

แถลงการณ์ยังบ่งชี้ว่า รัฐบาลจะใช้มาตรการรับมือวัฏจักรทางเศรษฐกิจในเวลาที่เหมาะสม และจะใช้นโยบายการคลังในเชิงกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งใช้นโยบายการเงินที่ไม่เข้มงวด และไม่ผ่อนคลายจนเกินไป

นอกจากนี้ รัฐบาลจะสนับสนุนภาคเอกชน และการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม รวมทั้งสร้างเสถียรภาพต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ สนับสนุนการปฏิรูป ควบคุมความเสี่ยง และพัฒนาความเป็นอยู่ของประชาชน