ไทยระดมสมองสร้างความมั่นคงไซเบอร์อาเซียน
ไทย พยายามผลักดันประเด็นความเชื่อมโยงและการขับเคลื่อนเมืองอัจฉริยะ เศรษฐกิจดิจิทัลกระแสของข้อมูลและกำลังคนและสังคมเพื่อวางอนาคตอาเซียนโดยเฉพาะการมุ่งสู่การเป็นเศรษฐกิจดิจิทัลอาเซียน
กระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ร่วมเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมนานาชาติ ในหัวข้อ “ความมั่นคงทางไซเบอร์:ผลกระทบต่อสันติภาพและความมั่นคงในภูมิภาคอาเซียน” ที่โรงแรมแชงกรีลา กรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 10-11พ.ค. เพื่อเปิดให้ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้สนใจ เข้าร่วมได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้ทรงคุณวุฒิที่เชี่ยวชาญในด้านความมั่นคงทางไซเบอร์จากประเทศไทยและต่างประเทศ อาทิ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม บริษัทไมโครซอฟท์บริษัทพาโล อัลโต เน็ตเวิร์กส์และบริษัทซิสโก้
นอกจากนี้ ยังมีการแสดงเทคโนโลยีด้านความมั่นคงทางไซเบอร์ที่ทันสมัย เพื่อเสริมสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ ซึ่งเป็นความท้าทายรูปแบบใหม่ในยุคปัจจุบัน รวมถึงแนวทางการป้องกันและรับมือกับภัยดังกล่าวเพื่อให้สอดคล้องกับการดำรงชีวิตในยุค 4.0
นายสุริยา จินดาวงษ์ อธิบดีกรมอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่าการประชุมนานาชาติครั้งนี้ถือเป็นเวทีที่สำคัญ ในปีที่ไทยดำรงตำแหน่งประธานอาเซียน ภายใต้แนวคิดหลัก “ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน” ที่มุ่งเสริมสร้างความยั่งยืนในทุกมิติ เพื่อบรรลุเป้าหมายการสร้างประชาคมอาเซียนที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ในขณะนี้ทั้ง 10 ประเทศสมาชิกอาเซียนกำลังก้าวไปสู่ระบบเศรษฐกิจดิจิทัล และต้องเผชิญกับการปฏิวัติอุสาหกรรมครั้งที่4 ซึ่งเทคโนโลยีได้สร้างผลกระทบไปทั่วทั้งโลกโดยเฉพาะการที่เออีซีต้องพึ่งพาการค้าดิจิทัลระบบอีเพย์เมนท์ และการติดต่อกันทางอินเทอร์เน็ตสิ่งสำคัญเราต้องมีความพร้อมด้านระบบป้องกัน ไม่ว่าจะเป็นนโยบายจากภาครัฐ และกฎหมายรวมทั้งป้องกันภัยคุกคามทางไซเบอร์
“การประชุมครั้งนี้นับเป็นก้าวที่สำคัญเป็นการกระตุ้นและสร้างความพร้อมให้กับ 10 ประเทศสมาชิกอาเซียน รวมทั้งผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เนื่องจากความมั่นคงทางไซเบอร์เป็นเรื่องครอบคลุมความร่วมมือ 3 เสาหลัก การเมือง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม ซึ่งไทยมุ่งส่งเสริมการสร้างกลไกและมาตรการรักษาความปลอดภัยทางอินเทอร์เน็ตอย่างการจัดตั้งศูนย์ความร่วมมืออาเซียน-ญี่ปุ่น ในการพัฒนา และส่งเสริมศักยภาพบุคลากรร่วมกัน เพื่อป้องกันระบบจากภัยคุกคามทางไซเบอร์” อธิบดีกรมอาเซียนกล่าว
นายสุริยา กล่าวด้วยว่า ผลการประชุมครั้งนี้ จะเป็นข้อเสนอแนะนำเข้าสู่กระบวนการหารือในอาเซียน ซึ่งจะมีมติออกมาว่า จะมีการออกแผนปฏิบัติการความร่วมมือด้านความมั่นคงทางไซเบอร์ของอาเซียน หรือปรับกฎหมายข้อปฏิบัติภายในอาเซียนต่อไป
ด้านนางสาวเอ็ดนา ยัป ผู้แทนบริษัทดีลอยต์ ประจำประเทศสิงคโปร์ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาด้านการกำหนดยุทธศาสตร์เทคโนโลยีสารสนเทศ ชี้ถึงปัจจัยที่ทำให้เกิดการละเมิดความมั่นคงทางไซเบอร์ว่า จากการสำรวจผู้ใช้บริการในโลกออนไลน์พบว่า 15% ใช้พาสเวิร์ดเดิมไม่เคยเปลี่ยน และส่วนใหญ่ใช้ซอฟต์แวร์ที่ไม่มีการรับประกันคุณภาพ โดยจีนอยู่ในอันดับหนึ่ง รองลงมาเป็น อินเดีย เวียดนาม ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย ไต้หวัน ไทย ออสเตรเลีย ฮ่องกง และสิงคโปร์ ตามลำดับ
ขณะที่มีผู้ใช้เพียง 16% ตั้งระบบตรวจสอบตัวตนเพื่อยืนยันความเป็นเจ้าของเมื่อใช้แอพพลิเคชั่นบนโลกออนไลน์ นอกจากนี้ พบว่า 1 ใน 3 ของบริษัทค้นพบช่องโหว่ที่มัลแวร์จู่โจมเข้าสู่ระบบ สิ่งเหล่านี้จำเป็นต้องมีระบบปกป้องภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่มาทุกรูปแบบ