เจาะ 3 ซีนาริโอ เงิน ‘หยวน’ ชนวนศึกการค้าใหม่
ขณะที่สงครามการค้าสหรัฐ-จีนอาจยืดเยื้อกว่า 1 ปี บรรดานักวิเคราะห์มองว่า ความขัดแย้งนี้เริ่มตั้งเค้าเป็น “สงครามค่าเงิน” ซึ่งมีสัญญาณชัดขึ้นเรื่อย ๆขณะที่การขึ้นภาษีนำเข้าครั้งใหม่ของสหรัฐจะเป็นบททดสอบความสามารถของจีนในการประคับประคองเศรษฐกิจของตน
ค่าเงินหยวนของจีนหลุดระดับ 7 หยวนต่อดอลลาร์เมื่อสัปดาห์ที่แล้วและนับเป็นครั้งแรกตั้งแต่วิกฤติการเงินโลกปี 2551 การอ่อนค่าของหยวนทำให้กระทรวงการคลังสหรัฐออกมากล่าวหารัฐบาลจีนว่า “ปั่นค่าเงิน”
รายงานล่าสุดโดยศูนย์วิจัยโลกของธนาคารแห่งอเมริกา เมอร์ริล ลินช์คาดการณ์ว่า เงินหยวนอาจเป็นตัวแปรให้เกิด 3 สถานการณ์สำคัญในสงครามการค้าระหว่าง 2 ยักษ์เศรษฐกิจโลก
สถานการณ์ 1:สงครามการค้าเต็มรูปแบบ หากหยวนอ่อน10%
ธนาคารแห่งอเมริกา เมอร์ริล ลินช์ ระบุว่าการนำเข้าจากสหรัฐของจีน คิดเป็นเพียง 1 ใน 3 ของการนำเข้าจากจีนของสหรัฐ หมายความว่าจีนไม่อาจขึ้นภาษีนำเข้าตอบโต้สหรัฐอย่างเท่าเทียมกันได้ในแง่ของปริมาณ
อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่รัฐบาลปักกิ่งสามารถทำได้คือ การอ่อนค่าเงินหยวนลง 10% ซึ่งจะช่วยตัดผลกระทบจากการที่สหรัฐขึ้นภาษีนำเข้า 10% กับสินค้าจีน
สถานการณ์ 2: เผชิญทางตันยืดเยื้อ หากหยวน “ทรงตัว”
รายงานของธนาคารแห่งอเมริกา เมอร์ริล ลินช์ ระบุว่า ในสถานการณ์ไร้ทางออกยืดเยื้อ เงินหยวนมีแนวโน้มทรงตัวในกรอบเดิมต่อไป เพียงเพราะรัฐบาลปักกิ่งจะระมัดระวังว่าหากปล่อยเงินหยวนอ่อนค่าลงอีกอาจยิ่งทำให้สหรัฐไม่พอใจ
หรือหากปล่อยเงินหยวนแข็งค่าไปเรื่อย ๆ ก็จะยิ่งเพิ่มความยากลำบากให้กับบรรดาผู้ส่งออกของจีน
สถานการณ์ 3: มีโอกาสบรรลุข้อตกลงการค้า หากหยวนแข็ง “ปานกลาง”
ธนาคารชื่อดังระบุว่า ในสถานการณ์นี้ เงินหยวนจะแข็งค่าขึ้นแต่จะอยู่ในกรอบจำกัด เพราะข้อตกลงใด ๆ ก็ตามที่จะเกิดขึ้น อาจรวมเงื่อนไขที่จะจำกัดกรอบการอ่อนค่าของเงินหยวนในอนาคต
นอกจากนั้น หากรัฐบาลปักกิ่งรู้สึกว่าภาวะขาลงของเงินหยวนมีจำกัด ก็อาจต้องการจำกัดภาวะขาขึ้นของเงินหยวนด้วย โดยเฉพาะหากปักกิ่งคิดว่าการปล่อยหยวนแข็งค่าจะช่วยพลิกสถานการณ์ทางการเมืองได้ยาก
คำถามสำคัญคือ เมื่อเกิดสถานการณ์เหล่านี้ ประเทศใดในเอเชียจะเป็นผู้ชนะและผู้แพ้ในสมรภูมินี้
จามีล อาห์หมัด หัวหน้าระดับโลกฝ่ายกลยุทธ์เงินตราและการวิจัยตลาดของบริษัทเอฟเอ็กซ์ทีเอ็ม เผยกับซีเอ็นบีซีว่า การอ่อนค่าของเงินหยวนจะทำให้ค่าเงินอื่น ๆ ในภูมิภาคชะงักงันซึ่งรวมถึงเงินรูปีของอินเดีย เงินดอลลาร์สิงคโปร์ เงินวอนของเกาหลีใต้ เงินริงกิตของมาเลเซีย และเงินรูเปี๊ยะห์ของอินโดนีเซีย
บรรดานักวิเคราะห์ระบุในรายงานของธนาคารแห่งอเมริกา เมอร์ริล ลินช์ว่า ท่ามกลางสงครามการค้าเงินวอนน่าจะเป็นหนึ่งใน “ผู้แพ้รายใหญ่ที่สุด” เนื่องจากอ่อนค่าหนักที่สุดในช่วงสงครามการค้า
การค้าของเกาหลีใต้พึ่งพาจีนและสหรัฐอย่างหนัก เนื่องจากประเทศมีห่วงโซ่อุปทาน (ซัพพลายเชน) เชื่อมโยงใกล้ชิดกับ 2 ยักษ์ใหญ่นอกจากนั้น เงินวอนยังได้รับผลกระทบจากข้อพิพาททางการค้ากับญี่ปุ่น ซึ่งส่งผลลุกลามไปถึงการค้าระหว่าง 2 เพื่อนบ้านเอเชียด้วย
บรรดานักวิเคราะห์ของธนาคารแห่งอเมริกา เมอร์ริล ลินช์ ระบุว่า ค่าเงินที่มีภูมิคุ้มกันดีที่สุดในหมู่ตลาดเกิดใหม่ในเอเชียคือ “เงินบาท” ของไทย
แม้ธนาคารกลางแห่งประเทศไทย (ธปท.) พยายามที่จะปล่อยเงินบาทอ่อนแต่ค่าเงินของไทยกลับยังแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง ได้แรงหนุนสำคัญจากการได้เปรียบดุลการค้ามหาศาลของประเทศ รวมถึงปัจจัยอื่น ๆ
อย่างไรก็ตาม อาห์หมัดเตือนว่า ความตึงเครียดทางการค้าสหรัฐ-จีนได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในพื้นที่อื่น ๆ ประกอบกับการเติบโตทั่วโลกอยู่ในช่วงชะลอตัว ก็อาจทำให้หลายประเทศหันมาใช้วิธีปล่อยค่าเงินอ่อน
“มองจากหลายมุม เป็นเรื่องสมเหตุสมผลที่จะปล่อยค่าเงินอ่อนท่ามกลางภาวะไม่แน่นอน มีภาวะขาลงเกิดขึ้นทั่วโลก และความต้องการสินค้าหรือบริการเสี่ยงที่จะซบเซา เนื่องจากความเชื่อมั่นการลงทุนถดถอย จึงเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ประเทศต่าง ๆ ปล่อยค่าเงินอ่อนเพื่อกระตุ้นความสามารถในการแข่งขันภาคส่งออก”
ทั้งนี้ เงินที่อ่อนค่าทำให้สินค้าส่งออกของประเทศถูกลง ส่งผลให้เป็นที่ต้องการมากขึ้นในตลาดต่างประเทศ
ขณะเดียวกัน การขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีนรอบใหม่ของสหรัฐอาจสร้างความเสียหายให้กับยักษ์เศรษฐกิจแห่งเอเชียอีกครั้ง ซึ่งนักวิเคราะห์จาก “เจพี มอร์แกน” วาณิชธนกิจรายใหญ่ระดับโลก มองว่า จะเป็นเครื่องพิสูจน์ว่าปักกิ่งสามารถสนับสนุนเศรษฐกิจของตนได้มากน้อยเพียงใด
นับตั้งแต่ศึกการค้าระหว่างวอชิงตันกับปักกิ่งปะทุขึ้นเมื่อประมาณ 1 ปีที่แล้ว ทางการจีนได้ใช้นโยบายทางการเงินและการคลังในการจำกัดความเสียหายทางเศรษฐกิจจากการขึ้นภาษีของสหรัฐ
“มาตรการเหล่านี้ค่อนข้างได้ผล” บรูซ แคสแมน หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์และหัวหน้าฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจโลกของเจพี มอร์แกนเผยกับซีเอ็นบีซี และว่า “ผมคิดว่ามันช่วยให้เห็นว่าพวกเขาใช้วิธีการที่หลากหลาย และทำให้เห็นว่าสงครามการค้าก็ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอยู่บ้าง แต่เรายังไม่เห็นว่าความเสียหายจากการขึ้นภาษีรอบใหม่จะไปไกลเพียงใด”
ต้นเดือนนี้ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐ ประกาศว่าจะขึ้นภาษีนำเข้าอีก 10% ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย.นี้ กับสินค้าจีนมูลค่า 3 แสนล้านดอลลาร์ แต่หลังจากนั้น สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐ (ยูเอสทีอาร์) ได้ถอดชื่อสินค้าบางชนิดออกจากบัญชีสินค้าเป้าหมาย และเลื่อนการขึ้นภาษีนำเข้ารอบใหม่กับผลิตภัณฑ์บางส่วนไปเป็นวันที่ 15 ธ.ค.นี้
นักเศรษฐศาสตร์หลายรายมองว่า การที่สหรัฐขึ้นภาษีรอบใหม่กับสินค้านำเข้าจากจีนจะสร้างความเสียหายร้ายแรงต่อเศรษฐกิจจีน ขณะที่การเติบโตในจีนก็อยู่ในช่วงชะลอตัวอยู่แล้ว รัฐบาลปักกิ่งเผยว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ขยายตัวเพียง 6.2% ในไตรมาส 2 ของปีนี้ ถือเป็นอัตราชะลอตัวที่สุดในรอบอย่างน้อย 27 ปี
นอกจากนั้น แคสแมน ระบุว่า มีโอกาส 40% ที่จะเกิดภาวะถดถอยทั่วโลกในช่วง 6-9 เดือนข้างหน้า
“ผมคิดว่าเรามีความเสี่ยงสูงขึ้นที่จะประสบภาวะถดถอย เหตุผลคือเราเผชิญกับปัจจัยฉุดรั้งเศรษฐกิจโลกครั้งใหญ่ในปีนี้ รวมถึงความเชื่อมั่นที่ลดลงของภาคธุรกิจเกี่ยวกับความกังวลเรื่องภูมิศาสตร์การเมือง โดยเฉพาะความขัดแย้งทางการค้า”