‘โลกร้อน’ กระทบ Polar Vortex 2025 จะหนาวสุดขั้ว ร้อนสุดขีด
Polar Vortex มักเกิดขึ้นตามฤดูกาลหรือเป็นวัฏจักร แต่ไม่ใช่ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นประจำปี และแม้ทำให้สหรัฐและแคนาดาหนาวสุดขั้วในตอนนี้ แต่หน่วยงานระดับโลกหลายแห่งเตือนว่า ปีนี้โลกยังคงร้อนสุดขีด รองจากปี 2024 และ 2023
สหรัฐและแคนาดากำลังเผชิญกับพายุฤดูหนาวรุนแรงตั้งแต่สัปดาห์ก่อน ส่งผลกระทบต่อผู้คนมากกว่า 60 ล้านคนทางตะวันออกของสหรัฐ โดยคลื่นความเย็นที่ยังคงมีอยู่ซึ่งอาจลดลงไปถึง -50 องศาเซลเซียส ได้รับอิทธิพลมาจากปรากฏการณ์ “โพลาร์วอร์เท็กซ์” (Polar Vortex) หรือ“กระแสลมวนขั้วโลก”
โพลาร์วอร์เท็กซ์ คือ กระแสลมวนขั้วโลกที่หมุนวนแบบทวนเข็มนาฬิการอบขั้วโลกเหนือ ด้วยแรงลมราว 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งมีกระแสวนลม 2 ประเภทด้วยกัน ได้แก่ กระแสลมวนโทรโพสเฟียร์ และสตราโตสเฟียร์
กระแสลมวนขั้วโลกโทรโพสเฟียร์ จะเกิดขึ้นในชั้นบรรยากาศล่างสุด ซึ่งเป็นชั้นที่เกิดปรากฏการณ์ทางธรรมชาติมากที่สุด โดยกระแสลมวนนี้จะก่อให้เกิดสภาพอากาศอุ่นทั่วละติจูดเหนือ ส่วนลมวนขั้วโลกที่โลกเผชิญอยู่คือ กระแสลมวนสตราโตสเฟียร์ ที่เกิดขึ้นราว 10-30 กิโลเมตรเหนือพื้นดิน โดยจะก่อตัวขึ้นในฤดูใบไม้ร่วงและหายไปในฤดูใบไม้ผลิในแต่ละปี
กระแสลมวนทั้งสองชนิดนี้มีความสำคัญต่อการหมุนเวียนของชั้นบรรยากาศโลกและการควบคุมสภาพภูมิอากาศ
หากกระแสลมวนสตราโสเฟียร์ปกติ อากาศหนาวเย็นจากอาร์กติกจะจำกัดอยู่แค่ในขั้วโลก แต่เมื่อสภาพอากาศจากชั้นบรรยากาศระดับต่ำอุ่นขึ้น กระแสลมวนจะอ่อนแอลง ส่งผลให้อากาศเย็นแผ่ขยายเกินขอบเขตภูมิภาคขั้วโลกเหนือ และความหนาวเย็นในขั้วโลกจะแผ่ขยายเป็นวงกว้าง ซึ่งสามารถแผ่ไปได้ไกลถึงรัฐฟลอริดา
อุณหภูมิที่เย็นจัดจากกระแสลมวนขั้วโลกอ่อนแอลง แม้มักเกิดขึ้นตามฤดูกาลหรือเป็นวัฏจักร แต่ไม่ใช่ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นประจำปี ซึ่งที่ผ่านมากระแสลมวนขั้วโลกไม่ค่อยเป็นที่พูดถึงมากหนัก จนกระทั่งปี 2014 ที่เกิดปรากฏการณ์นี้
โพลาร์วอร์เท็กซ์ในปี 2013-2014 ก่อให้เกิดอากาศหนาวเย็นและหิมะตกหนักทั่วแคนาดาและภาคตะวันออกของสหรัฐ ทำให้ทั้งภูมิภาคเข้าสู่หนึ่งในฤดูหนาวที่หนาวที่สุด ส่งผลให้เมืองมหานครสำคัญ เช่น นิวยอร์ก ฟิลาเดลเฟีย และชิคาโก ปกคลุมไปด้วยหิมะ และเป็นปีที่มีหิมะปกคลุมมากที่สุดติดท็อป 10 ในประวัติศาสตร์
บทความขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (นาซา) ที่เผยแพร่เมื่อปี 2015 ระบุว่า กระแสลมวนขั้วโลกในปี 2013-14 ทำให้ทะเลสาบเกรตเลกส์ (Great Lakes) กลายเป็นน้ำแข็ง 92.5% ของพื้นที่ ถือเป็นปีที่มีน้ำแข็งปกคลุมพื้นที่มากที่สุดเป็นอันดับ 2 ในประวัติศาสตร์ ส่วนทะเลสาบมิชิแกนก็กลายเป็นนำแข็งมากถึง 93.3 ของพื้นที่ ทุบสถิติมากที่สุดที่เคยบันทึกไว้
ทั้งนี้ เว็บไซต์นิวส์วีกเผยว่า ปรากฏการณ์โพลาร์วอร์เท็กซ์ในปัจจุบัน ยังคงเกิดขึ้นต่อเนื่องในสหรัฐและแคนาดาตลอดทั้งเดือน ม.ค. นี้
โลกร้อนกระทบ Polar Vortex?
นักวิจัยพยายามทำความเข้าใจผลกระทบจากสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงต่อความเข้มข้นหรือความถี่ของการเกิดอุณหภูมิเย็นลงอันเนื่องมาจากกระแสลมวนขั้วโลก และบางข้อมูลบ่งชี้ว่า สภาพอากาศเปลี่ยนแปลงอาจส่งผลต่อกระแสลมวนขั้วโลกได้
"สตีเวน เดกเคอร์" ผู้อำนวยการโครงการปริญญาตรีสาขาอุตุนิยมวิทยา มหาวิทยาลัยรัตเจอร์ส เผยว่า
"เป็นไปได้ที่กระแลลมวนขั้วโลกไม่แข็งแกร่งเนื่องมาจากโลกร้อน เพราะโลกไม่ได้ร้อนอย่างสม่ำเสมอเท่ากัน มันร้อนขึ้นในขั้วโลก บั่นทอนความแข็งแกร่งของกระแสลมวนขั้วโลกและกระแสลมกรด เสี่ยงทำให้กระแสลมวนหลุดออกและแผ่ขายออกมามากขึ้น"
โดยสรุป โลกร้อนมีส่วนทำให้กระแสลมวนขั้วโลกอ่อนแอ เพราะโลกไม่ได้ร้อนขึ้นเหมือนกันในทุกพื้นที่ โดยเฉพาะขั้วโลกเหนือที่ร้อนขึ้นรวดเร็วภูมิภาคอื่นๆ ของโลก จึงส่งผลให้โพลาร์วอร์เท็กซ์และกระแสลมกรดอ่อนลง ความหนาวเย็นจึงแผ่เข้าสู่หลายภูมิภาค รวมทั้งยุโรปและเอเชียตอนเหนือ
ดับฝันไทยไม่อาจมีหิมะ
อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยที่อากาศหนาวเย็นขึ้นและยาวนานในปีนี้ ไม่ใช้อิทธิพลของกระแสลมวนขั้วโลกโดยตรง
กรมอุตุนิยมวิทยาของไทยแถลงว่า อากาศหนาวเย็นในไทยมาจากความกดอากาศสูง หรือมวลอากาศเย็นกำลังค่อนข้างแรงจากประเทศจีนที่แผ่ลงมายังประเทศไทยตอนบน และเผยเพิ่มเติมว่า ปรากฏการณ์ Polar Vortex จะไม่ส่งผลกระทบมาถึงไทย เพราะมีเทือกเขาสูงอย่าง “เทือกเขาหิมาลัย” เป็นสิ่งกีดขวางกระแสลม ทำให้กระแสลมวนที่ไหลเวียนลงมาเปลี่ยนทิศทางไป
หนาวสุดขั้ว ร้อนสุดขีด
ด้านองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) เผยว่าปี 2025 นี้ จะยังคงมีอากาศร้อนทุบสถิติ รองจากปี 2024 และปี 2023 และระดับก๊าซเรือนกระจกที่กักเก็บความร้อนไว้ในชั้นบรรยากาศยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แตะระดับสูงที่สุดเท่าที่เคยมีการบันทึกไว้ เสี่ยงเกิดสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงสุดโต่ง และอาจนำไปสู่การเกิดภัยพิบัติธรรมชาติที่รุนแรงมากขึ้น