ท่องเที่ยว ‘แอนตาร์กติกา’ คึกคัก ทำหิมะละลายเร็ว อันตรายสิ่งแวดล้อม-ระบบนิเวศ

ท่องเที่ยว ‘แอนตาร์กติกา’ คึกคัก ทำหิมะละลายเร็ว อันตรายสิ่งแวดล้อม-ระบบนิเวศ

การท่องเที่ยวใน “แอนตาร์กติกา” เติบโตอย่างรวดเร็ว เพราะคอนเทนต์จาก TikTok ส่งผลให้หิมะกลายเป็นสีดำ อันตรายต่อสิ่งแวดล้อม

การท่องเที่ยวใน “แอนตาร์กติกา” ทวีปที่ห่างไกลและหนาวเย็นที่สุด เติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ในปี 2024 มีผู้คนเดินทางมายังแอนตาร์กติกามากถึง 122,000 คน ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างมากจาก 44,000 คนในปี 2017

นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ที่เดินทางโดยเรือสำราญ ภายใต้การดูแลของสมาคมผู้ประกอบการทัวร์แอนตาร์กติการะหว่างประเทศ หรือ IAATO เดินทางมาโดยเรือสำราญ มีเพียง 1% เท่านั้นที่เดินทางมาโดยเครื่องบิน

การล่องเรือสำราญสุดหรูทำให้ผู้คนมากหน้าหลายตาสามารถเดินทางมายังทวีปนี้ได้ง่ายขึ้น และกลายเป็นลิสต์สิ่งที่ต้องทำในชีวิตของใครหลายคน แม้ปัจจุบันจะมีกฎระเบียบที่ควบคุมความถี่ ระยะเวลา และจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามาเที่ยวในภูมิภาค ไม่ให้มีคนอยู่บนบกเกิน 100 คนในแต่ละครั้ง

ปรกติแล้ว เรือสำราญที่บรรจุผู้โดยสารน้อยกว่า 270 ที่นั่ง ถือว่าเป็นเรือขนาดเล็ก แต่สำหรับแอนตาร์กติกา เรือที่มีผู้โดยสาร 150-270 คนถือว่ามีขนาดใหญ่ เนื่องจากไม่ใช่ทุกคนจะสามารถขึ้นบกได้ในคราวเดียว เรือสำราญสุดหรูหลายลำที่มีผู้โดยสารมากกว่า 200 คน ดังนั้นจึงต้องแบ่งรอบท่องเที่ยวหลายครั้งต่อวัน

นักท่องเที่ยวสามารถทำอะไรก็ได้ที่พวกเขาต้องการในแอนตาร์กติกา วิ่งมาราธอน ปีนเขา พายเรือลงไปที่ขั้วโลกใต้ ล่องเรือสำรวจ หรือแม้แต่ตั้งแคมป์ที่นั่นได้ ดังนั้นการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของการท่องเที่ยวในแอนตาร์กติกาทำให้ผู้เชี่ยวชาญกังวลเกี่ยวกับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและก่อให้เกิดอันตรายต่อระบบนิเวศที่เปราะบางมากมาย

การท่องเที่ยวมาพร้อมผลกระทบ

นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยซานติอาโกเดอชิลีพบว่า หิมะสีขาวที่ปกคลุมทวีปแอนตาร์กติกากำลังเปลี่ยนเป็นสีดำ โดยเฉพาะในบริเวณท่าเทียบเรือสำหรับนักท่องเที่ยวและสถานีวิจัยมีสีเข้มขึ้นทุกปี ซึ่งคราบสีดำนี้ เกิดจากคาร์บอนสีดำที่เกิดจากเรือ เฮลิคอปเตอร์ เครื่องบิน รถบรรทุก และเครื่องกำเนิดไฟฟ้าดีเซลที่มนุษย์นำมายังทวีปแอนตาร์กติกา

เมื่อหิมะมีสีเข้มขึ้น หิมะก็ยิ่งละลายเร็วขึ้น โดยนักวิจัยประเมินว่ายานพาหนะต่าง ๆ ที่ขนนักท่องเที่ยวและนักวิจัยมาแอนตาร์กติกาทำให้หิมะหายไปประมาณ 83 ตัน อีกทั้งยังมีการปล่อยน้ำเสียที่ปล่อยลงสู่มหาสมุทรใต้จากเรือ

การปล่อยคาร์บอนจากเรือสำราญก็เป็นปัญหาเช่นกัน โดยเฉลี่ยแล้วการเดินทางไปยังแอนตาร์กติกาส่งผลให้มีการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ 5.44 ตันต่อผู้โดยสาร หรือ 0.49 ตันต่อผู้โดยสารต่อวัน ทั้งหมดนี้ส่งผลต่อภาวะโลกร้อนส่งผลให้ทวีปมีอุณหภูมิสูงขึ้น และเกิดคลื่นความร้อนในแอนตาร์กติกา ซึ่งอุณหภูมิสูงขึ้นถึง 10 องศาเซลเซียสเหนือค่าเฉลี่ย

นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงที่สัตว์ต่างถิ่นจะเกาะติดเสื้อผ้าของผู้โดยสาร และกลุ่มทัวร์จะรบกวนสัตว์ป่าเมื่อมาเยี่ยมชม ระบบนิเวศเหล่านี้ซึ่งอยู่ภายใต้ภัยคุกคามจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอยู่แล้ว กำลังพังทลายลงจากแรงกดดันของการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น

บริษัทให้บริการเรือสำราญบางแห่งพยายามลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของนักเดินทางที่เดินทางไปแอนตาร์กติกาให้เหลือน้อยที่สุด เช่น บริษัท Quark Expeditions เสนอบริการท่องเที่ยวและสำรวจทวีปนี้เป็นกลุ่มเล็ก ๆ โดยเรือจะพาไปยังพื้นที่ห่างไกล ไม่มีเรือสำราญขนาดใหญ่กวนใจ

สำหรับนักท่องเที่ยวที่ล่องเรือกับ Quark และบริษัทที่เป็นสมาชิก IAATO จะได้รับข้อมูลเกี่ยวกับการปกป้องแอนตาร์กติกา พร้อมทำความสะอาดหลายขั้นตอน เช่น การฆ่าเชื้อรองเท้าก่อนกลับขึ้นเรือ การดูดเมล็ดพืชหรือสิ่งแปลกปลอมอื่น ๆ ออกจากเสื้อผ้า พร้อมการทำความสะอาดอุปกรณ์ เพื่อป้องกันการปนเปื้อนและภัยคุกคามจากสิ่งแปลกปลอมจากภายนอก 

รวมถึงมีการป้องกันไข้หวัดนกในแอนตาร์กติกาด้วย ซึ่งพบครั้งแรกในแอนตาร์กติกาในช่วงปลายปี 2023 หรือต้นปี 2024 ซึ่งการป้องกันเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญในการป้องกันไม่ให้สัตว์ป่าในภูมิภาคเสียชีวิตและสูญพันธุ์

ขณะเดียวกันบริษัทท่องเที่ยวทำงานร่วมกับนักวิจัยและนักอนุรักษ์อย่างแข็งขัน โดยทำหน้าที่อำนวยความสะดวกให้พวกเขาเข้าถึงพื้นที่ห่างไกลที่สุดในอาร์กติกและแอนตาร์กติกา ซึ่ง Quark ร่วมมือกับ Penguin Watch โครงการศึกษานิเวศวิทยาของนกเพนกวินและพัฒนากลยุทธ์การอนุรักษ์มาเป็นเวลา 13 ปี อีกทั้งยังเผยแพร่ข้อมูลเหล่านี้ให้แก่ผู้โดยสารได้รับรู้อีกด้วย ซึ่งช่วยให้นักท่องเที่ยวตระหนักรู้เกี่ยวกับภัยคุกคามทวีปนี้เพิ่มมากขึ้น

แม้ว่าเรือของ Quark จะสามารถเปลี่ยนเชื้อเพลิงให้เป็นเชื้อเพลิงคาร์บอนต่ำ โดยใช้ขยะมาเป็นพลังงาน แต่การปล่อยมลพิษก็ยังคงเป็นปัญหา ทำให้ในปัจจุบันนี้มีการแล่นเรือใบแบบดั้งเดิมไปยังแอนตาร์กติกาด้วยเช่นกัน ถึงจะบรรทุกคนได้น้อยกว่า ครั้งละ12-40 คน เท่านั้น แต่ก็ไม่ต้องเป็นห่วงเรื่องการปล่อยมลพิษ เพราะเรือใบใช้พลังงานลมในการขับเคลื่อน

 

“TikTok” กระตุ้นคนอยากไปแอนตาร์กติกา

ศ.แอนน์ ฮาร์ดี หัวหน้าทีมวิจัยการท่องเที่ยวในแอนตาร์กติกาของมหาวิทยาลัยแทสเมเนีย วิเคราะห์แฮชแท็กที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวแอนตาร์กติกาที่ได้รับความนิยมสูงสุดบน TikTok ในฤดูกาล 2022-23 ซึ่งรวมกันมียอดเข้าชมมากกว่า 200 ล้านครั้ง

ศ.ฮาร์ดีแสดงความกังวลว่าคอนเทนต์ใน TikTok อาจทำให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบและอาจทำลายสภาพแวดล้อมของแอนตาร์กติกา 

“ความกังวลของเราคือ หากเราเห็นพฤติกรรมที่สนุกสนานและไร้สาระบนโลกออนไลน์ อาจส่งผลถึงพฤติกรรมในโลกแห่งความเป็นจริง เช่น หยิบสิ่งตามธรรมชาติและสภาพแวดล้อมนำกลับบ้าน เพื่อเป็นของที่ระลึก” ศ.ฮาร์ดีกล่าว

เมื่อเดือนที่แล้ว IAATO แสดงความตกใจและผิดหวังหลังจากที่อาคารประวัติศาสตร์บนเกาะดีเซปชัน ใกล้กับคาบสมุทรแอนตาร์กติกา ถูกพ่นด้วยสีสเปรย์กลายเป็นภาพกราฟิตี้

“การก่ออาชญากรรมโดยไม่คิดหน้าคิดหลังนี้ไม่ได้เกิดจากนักท่องเที่ยวที่เดินทางกับสมาชิก IAATO” องค์กรการท่องเที่ยวกล่าวในแถลงการณ์

ศ.ฮาร์ดีกล่าวว่าจำนวนนักท่องเที่ยวในเขตขั้วโลกมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยส่วนหนึ่งได้รับแรงหนุนจาก TikTok และแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียอื่น ๆ

ปัจจุบัน ประเทศที่เป็นสมาชิกสนธิสัญญาแอนตาร์กติกากำลังพัฒนากรอบที่ครอบคลุม เพื่อจัดการกับการเติบโตและความหลากหลายของการท่องเที่ยวในแอนตาร์กติกา


ที่มา: ABCCNNEuro NewsThe Guardian