'น้ำนมลดลง' เพราะโลกร้อน หาทางออกให้ฟาร์มโคนม ด้วยการเกษตรเชิงฟื้นฟู

'น้ำนมลดลง' เพราะโลกร้อน หาทางออกให้ฟาร์มโคนม ด้วยการเกษตรเชิงฟื้นฟู

ฟาร์มโคนมในประเทศไทยจึงเป็นเรื่องราวของความพยายามและความมุ่งมั่นของเกษตรกร ที่ต้องเผชิญกับอุปสรรคมากมายในการดำเนินกิจการ และความหวังในการปรับปรุงฟาร์มให้ยั่งยืน เพื่อให้โคนมสามารถให้ผลผลิตที่ดีและนำความสุขมาสู่ทุกคน

KEY

POINTS

  • เกษตรกรฟาร์มโคนมไทยเผชิญกับอุปสรรค ผลผลิตน้ำนมลดลง ผลจากโลกร้อน ทั้งต้นทุนอาหารก็สูง
  • อุตสาหกรรมฟาร์มโคนม เป็นแหล่งของการปล่อยก๊าซมีเทนสูง ส่งผลต่อโลกร้อนได้มากกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ถึง 26 เท่า
  • เนสท์เล่ ชูโมเดล การเกษตรเชิงฟื้นฟู หวังปรับปรุงฟาร์มให้ยั่งยืน
  • สร้างแหล่งรายได้เสริมให้เกษตรกร 40,000 บาทต่อปี เปลี่ยนจาก “มูลโค สู่มูลค่า”

ปี 2024 ประเทศไทยมีผลผลิตน้ำนมดิบประมาณ 2,800-3,000 ตันต่อวัน และตลาดผลิตภัณฑ์นมพร้อมดื่มเติบโตสูงกว่าปีก่อนถึง 7% แต่ว่าแนวโน้มปริมาณการผลิตน้ำนมดิบกลับสวนทาง มีปริมาณลดลง เนื่องจากความท้าทายหลายประการ เช่น อากาศที่ร้อนและชื้น บวกกับสภาพอากาศแปรปรวน ทำให้โคนมต้องเผชิญกับสภาพความเครียดจากความร้อน ส่งผลให้การผลิตน้ำนมลดลงและมีปัญหาด้านการเจริญพันธุ์

รวมถึงปัญหาด้านต้นทุนอาหาร โคนมต้องการอาหารที่มีคุณภาพ แต่ต้นทุนอาหารที่เพิ่มสูงขึ้นทำให้เกษตรกรต้องแบกรับภาระหนัก แม้ว่าประเทศไทยจะสามารถผลิตอาหารสำหรับโคนมได้ตลอดปี แต่การพึ่งพาอาหารนำเข้ายังคงทำให้ต้นทุนสูงขึ้นอยู่ดี

อีกทั้งอุตสาหกรรมโคนมก็ยังเป็นแหล่งของการปล่อยก๊าซมีเทน ซึ่งเป็นก๊าซที่ส่งผลต่อโลกร้อนได้มากกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ถึง 26 เท่า ดังนั้น หากไม่มีการจัดการฟาร์มอย่างเป็นระบบครบวงจร จะทำให้เป็นอุสรรค์ต่อบริษัทรับซื้อที่มีเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้

\'น้ำนมลดลง\' เพราะโลกร้อน หาทางออกให้ฟาร์มโคนม ด้วยการเกษตรเชิงฟื้นฟู

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีความท้าทายมากมาย แต่เกษตรกรไทยยังคงมีความหวัง หากนำแนวปฏิบัติที่ยั่งยืนมาใช้ ปรับปรุงการจัดการฟาร์ม และใช้เทคนิคการผสมพันธุ์ขั้นสูง เพื่อให้ฟาร์มโคนมสามารถดำเนินต่อไปได้

"เนสท์เล่" บริษัทผู้ผลิตอาหารและเครื่องดื่มที่ใช้นมเป็นส่วนประกอบ เล็งเห็นถึงปัญหาและความท้าทายที่เกิดขึ้น จึงร่วมมือกับเกษตรกร ในการส่งเสริมการ
ทำฟาร์มโคนมตามแนวทางความยั่งยืน ด้วยการเกษตรเชิงฟื้นฟู (Regenerative Agriculture) เพื่อเพิ่มคุณภาพและปริมาณน้ำนมดิบ ลดต้นทุนให้กับเกษตรกร ควบคู่ไปกับการดูแลสิ่งแวดล้อม

น้ำนมดิบวัตถุดิบสำคัญ

“สลิลลา สีหพันธุ์” ผู้อำนวยการบริหารฝ่ายองค์กรสัมพันธ์ บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด กล่าวว่า น้ำนมดิบถือเป็นวัตถุดิบสำคัญของเนสท์เล่ในการนำมาผลิตผลิตภัณฑ์แบรนด์ต่างๆ เช่น ไมโล ตราหมี และเนสกาแฟ บริษัทจึงให้ความสำคัญกับการจัดหาน้ำนมดิบที่ต้องมีคุณภาพดี และมีแหล่งผลิตที่ยั่งยืน (Sustainable Sourcing) เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในแผนงานเพื่อบรรลุเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิจนเหลือศูนย์ หรือ Net Zero ในปี 2050 ซึ่งเนสท์เล่ผ่านมาตรฐานด้านการจัดหาวัตถุดิบอย่างยั่งยืนครบ 100% แล้ว และยังเดินหน้ายกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกร และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในฟาร์มโคนม

\'น้ำนมลดลง\' เพราะโลกร้อน หาทางออกให้ฟาร์มโคนม ด้วยการเกษตรเชิงฟื้นฟู

เนสท์เล่ได้ทำงานร่วมกับเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมในประเทศไทยมานานกว่า 40 ปี ส่งเสริมเกษตรกร ‘ปกป้อง-ทดแทน-ฟื้นฟู’ คือ การปกป้องและฟื้นฟูดินที่เป็นแหล่งปลูกอาหารวัวให้มีความสมบูรณ์ การสร้างความหลากหลายทางชีวภาพให้เกิดขึ้น ทดแทนการใช้ปุ๋ยเคมีด้วยการใช้มูลวัวตากแห้งเป็นปุ๋ยอินทรีย์ เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์เป็นพลังงานทดแทน ควบคู่ไปกับการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมในแปลงปลูกและทรัพยากรธรรมชาติ

ฟาร์มโคนมต้นแบบ

“วรวัฒน์ เวียงแก้ว” ตัวแทนเกษตรกรโคนม อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา กล่าวถึงปัญหาและอุปสรรคในการทำฟาร์มโคนมว่ามีทั้งด้านสาธารณูปโภคระบบไฟฟ้าที่ยังเข้าไม่ถึงในพื้นที่ หรือการที่วัวมีผลผลิตน้ำนมลดลงอย่างต่อเนื่อง น้ำนมดิบมีคุณภาพต่ำลง รวมถึงต้นทุนอาหารสัตว์ชนิดข้นที่แพงขึ้น ซึ่งมีส่วนทำให้จำนวนเกษตรกรฟาร์มโคนมมีจำนวนลดน้อยลง

“ผมเริ่มทำฟาร์มโคนมในปี 2561 และได้ร่วมงานกับเนสท์เล่ ในช่วงปี 2564 จากการเป็นสมาชิกเกษตรกร  โคนมพิมาย ทางเนสท์เล่ได้ลงพื้นที่มาพูดคุยถึงปัญหาในการทำฟาร์ม ช่วยหาวิธีในการเพิ่มผลผลิต รวมทั้งแนะนำหลักการเกษตรเชิงฟื้นฟูเข้ามาประยุกต์ใช้

จึงได้เริ่มเป็นฟาร์มโคนมนำร่อง มีการทำแปลงหญ้ารูซี่ หญ้าไนล์และปลูกพืชถั่วร่วมด้วย ทำบ่อไบโอแก๊ส ตากมูลวัว ติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์เพราะไฟฟ้าเข้ามาไม่ถึง ตอนนี้จึงเป็นฟาร์มที่ใช้ไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ 100% และสามารถสูบน้ำบาดาลมาใช้กับแปลงหญ้าได้ตลอดปี รวมทั้งนำมูลโคตากแห้งไปขายเพื่อเป็นรายได้เสริมอีกด้วย”

\'น้ำนมลดลง\' เพราะโลกร้อน หาทางออกให้ฟาร์มโคนม ด้วยการเกษตรเชิงฟื้นฟู

น้ำนมเพิ่ม ระดับโปรตีนเพิ่ม

การเกษตรเชิงฟื้นฟู ในฟาร์มโคนมเป็นแนวทางการเกษตรแบบองค์รวมที่เน้นการฟื้นฟูและเพิ่มพูนสุขภาพของระบบนิเวศทั้งหมดของฟาร์ม เป้าหมายคือการปรับปรุงสุขภาพ-ของอาหารโคนม ประหยัดพลังงาน และลดการปล่อยก๊าซมีเทน ในขณะที่ยังคงผลิตน้ำนมคุณภาพสูง

“ศิรวัจน์ ปิณฑะดิษ” นักวิชาการเกษตร บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด ที่ลงพื้นที่ทำงานกับเกษตรกร เปิดเผยว่า เนสท์เล่นำการเกษตรเชิงฟื้นฟูเข้ามาปรับใช้กับฟาร์มโคนมที่มุ่งเน้น 3 ด้าน คือ 1. การพัฒนาการจัดการอาหารและโภชนะ 2. การจัดการของเสียอย่างมีประสิทธิภาพ และ 3. สนับสนุนการใช้พลังงานทดแทน

“เราแนะนำให้เกษตรกรทำแปลงหญ้าผสมถั่วหลากหลายชนิดเพื่อเป็นแปลงหญ้าอาหาร และเสริมสารอาหารประเภทโปรตีนให้กับแม่โค ผลลัพธ์ที่เราได้คือปริมาณน้ำนมดิบโดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเป็น 13.5 กิโลกรัมต่อตัวต่อวัน ซึ่งมากกว่าค่าเฉลี่ยของทั้งประเทศที่ 11.7 กิโลกรัมต่อตัวต่อวัน

คุณค่าโภชนาการในน้ำนมดิบก็ดีขึ้น วัดได้จากระดับโปรตีนในนมที่เพิ่มขึ้นเป็น 3.02% จากระดับ 2.94% ในปี 2566 การที่ระดับโปรตีนในนมสูงกว่า 3% นั้นบ่งบอกถึงสุขภาพของแม่โคที่สมบูรณ์ และยังเป็นการเพิ่มโภชนาการที่มีประโยชน์ให้กับผู้บริโภคอีกด้วย

นอกจากนี้ การปลูกพืชหลายชนิดยังเป็นการเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพในแปลงหญ้า พร้อมกับปกป้องและฟื้นฟูทรัพยากรดินและสิ่งแวดล้อมในฟาร์ม การทำเช่นนี้ไม่เพียงแต่ช่วยให้แม่โคมีสุขภาพดีขึ้น แต่ยังเป็นการทำให้ฟาร์มมีความยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

\'น้ำนมลดลง\' เพราะโลกร้อน หาทางออกให้ฟาร์มโคนม ด้วยการเกษตรเชิงฟื้นฟู

มูลโค สร้างรายได้ 40,000 บาทต่อปี

เนสท์เล่ยังส่งเสริมให้เกษตรกรจัดการมูลโคอย่างมีประสิทธิภาพโดยการนำไปตากแห้ง เมื่อแห้งแล้วสามารถนำไปใช้เป็นปุ๋ยอินทรีย์ในแปลงหญ้าอาหารสัตว์ เพื่อเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดินและบางส่วนสามารถแบ่งไปจำหน่ายในรูปของปุ๋ยคอก สร้างแหล่งรายได้ให้กับเกษตรกร เปลี่ยนจาก “มูลโค สู่มูลค่า” สร้างรายได้อีกกว่า 40,000 บาทต่อปี

พร้อมกันนี้ เนสท์เล่ยังสนับสนุนการติดตั้งบ่อไบโอแก๊สเพื่อนำมูลโคมาหมักในบ่อและนำก๊าซมีเทนไปใช้ประโยชน์เป็นแก๊สหุงต้มในครัวเรือน นับเป็นวิธีการจัดการของเสียในฟาร์มให้เกิดประโยชน์ และที่สำคัญยังช่วยลดคาร์บอนจากมูลสัตว์ เนื่องจากการนำมูลโคมาตากแห้งจะทำให้ไม่เกิดการหมักหมมจนเกิดเป็นก๊าซมีเทน

ลดต้นทุนพลังงาน ลดคาร์บอน

เนื่องจากฟาร์มโคนมในบางพื้นที่ยังมีความท้าทายด้านสาธารณูปโภคระบบไฟฟ้าที่ยังเข้าไม่ถึงหรือไม่เสถียร เนสท์เล่จึงได้ส่งเสริมให้เกษตรกรติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์สำหรับสูบน้ำบาดาลมาใช้ในแปลงหญ้า เพื่อให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงแหล่งน้ำได้ตลอดปี และลดต้นทุนด้านพลังงาน ช่วยให้เกษตรกรโคนมมีไฟใช้ในครัวเรือน โดยการทำฟาร์มโคนมตามหลักการเกษตรเชิงฟื้นฟูทั้งหมดที่กล่าวมา สามารถช่วยลดคาร์บอนได้รวมประมาณ 2,000 ตันในปี 2565 เมื่อเทียบกับปี 2561

หลักการเกษตรเชิงฟื้นฟู ทำให้เกษตรกรได้รับความรู้ด้านการทำปศุสัตว์ที่เหมาะสม สามารถส่งน้ำนมดิบให้เนสท์เล่ด้วยมาตรฐาน GAP จากกรมปศุสัตว์ทั้ง 100% จนถึงตอนนี้ เนสท์เล่ได้ให้ความรู้และเทคนิคการเกษตรเชิงฟื้นฟูแก่เกษตรกรไปแล้วกว่า 160 ฟาร์เมจาก 3 สหกรณ์ และมีเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมที่ได้เริ่มทำการเกษตรเชิงฟื้นฟูครบวงจรแล้วกว่า 40 ฟาร์ม และเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับเกษตรกรในการมีตลาดรองรับผลผลิตน้ำนมดิบ เนสท์เล่ยังรับซื้อน้ำนมดิบจากเกษตรกรผ่านสหกรณ์โคนมในราคาที่เป็นธรรมตามเกณฑ์มาตรฐานการรับซื้อที่กำหนดไว้

ผลกระทบโลกร้อนต่อการผลิตน้ำนมโคในหลายประเทศ

  • ออสเตรเลีย: การผลิตนมโคนมคาดว่าจะลดลงเกือบ 500,000 เมตริกตัน ในปี 2022 เนื่องจากคลื่นความร้อนและภัยแล้งที่รุนแรง
  • อินเดีย: เกษตรกรขนาดเล็กกำลังพิจารณาลงทุนในอุปกรณ์ทำความเย็นเพื่อต่อสู้กับอุณหภูมิที่สูงขึ้น แต่หลายคนพบว่าเป็นเรื่องที่ท้าทายทางการเงิน
  • ฝรั่งเศส: ผู้ผลิตต้องหยุดผลิตชีสคุณภาพสูงบางชนิดเนื่องจากทุ่งหญ้าที่แห้งแล้งทำให้วัวที่กินหญ้าไม่มีที่เลี้ยง
  • สหรัฐอเมริกา: นักวิทยาศาสตร์คาดว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะทำให้อุตสาหกรรมนมเสียหาย 2.2 พันล้านดอลลาร์ต่อปี ภายในสิ้นศตวรรษนี้

สถิติเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าภูมิภาคต่างๆ ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ