M&A ญี่ปุ่นพุ่งสูงทุบสถิติ! กองทุน Private Equity ซื้อกิจการคึกคัก

M&A ญี่ปุ่นพุ่งสูงทุบสถิติ! กองทุน Private Equity ซื้อกิจการคึกคัก

‘ตลาด M&A ญี่ปุ่น’ ร้อนแรงที่สุดในรอบหลายทศวรรษ โดยมีมูลค่าและจำนวนดีลพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง กองทุนเอกชนเข้ามามีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนตลาดนี้ ด้วยการเข้าซื้อกิจการจากบริษัทญี่ปุ่นที่ต้องการปรับโครงสร้างธุรกิจ

เว็บไซต์นิกเกอิ เอเชียรายงานว่า ปีที่ผ่านมา “การควบรวมและซื้อกิจการในญี่ปุ่น” (M&A) พุ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่ปี 1985 โดยมีปัจจัยสำคัญมาจากกองทุนไพรเวทอิควิตี้ (Private Equity Funds) ซึ่งเป็นกองทุนที่ระดมเงินทุนจากผู้ลงทุนสถาบัน ได้เข้าซื้อธุรกิจที่เหล่าบริษัทญี่ปุ่นขายออกไป โดยการขายออกไปก็เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพของเงินทุน และมุ่งเน้นไปที่ธุรกิจหลักที่ทำกำไรได้ แทนที่จะถือครองธุรกิจที่ไม่สำคัญหรือทำกำไรได้น้อย

ตามข้อมูลจาก Recof Data ซึ่งตั้งอยู่ในกรุงโตเกียวระบุว่า จำนวนข้อตกลงการควบรวมและซื้อกิจการที่มีการประกาศ ซึ่งเกี่ยวข้องกับผู้ซื้อหรือผู้ขายชาวญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น 17% จากปี 2023 เป็น 4,700 รายการในปี 2024

ในแง่ของมูลค่ากิจกรรมการทำธุรกรรมเพิ่มขึ้น 8% เป็นประมาณ 19.6 ล้านล้านเยน รองจากปี 2018 ซึ่งตัวเลขดังกล่าวสูงขึ้นจากบริษัทยา Takeda Pharmaceutical ของญี่ปุ่นเข้าซื้อ Shire ซึ่งเป็นบริษัทผลิตยาของไอร์แลนด์

อีกทั้งยังมีการซื้อกิจการที่ใหญ่ที่สุดในปี 2024 คือ การเข้าซื้อกิจการบริษัทประกันชีวิต Resolution Life ของสหรัฐ มูลค่า 8,200 ล้านดอลลาร์ของบริษัทประกันชีวิต Nippon Life

สำหรับการเติบโตของ M&A เกิดขึ้นในขณะที่บริษัทต่าง ๆ ขายทอดตลาดธุรกิจที่ไม่ใช่ธุรกิจหลักหรือธุรกิจที่มีกำไรต่ำ ผู้สังเกตการณ์ตลาดคาดการณ์ว่า จะมีดีลเช่นนี้เกิดขึ้นอีกมากมายในปี 2025

โนบุฮิโกะ คิมูระ หัวหน้าฝ่ายที่ปรึกษา M&A รองอาวุโสของ SMBC Nikko Securities กล่าวว่า “ปัจจัยสำคัญที่สุดที่อยู่เบื้องหลังการเพิ่มขึ้นของดีลคือ กิจกรรมที่เพิ่มขึ้นของนักลงทุนเชิงรุกและกองทุนเพื่อการลงทุน”

ตามข้อมูลจาก Dealogic ณ กลางเดือนธันวาคม ธนาคารเพื่อการลงทุนได้รับค่าธรรมเนียมจากดีล M&A ที่เกี่ยวข้องกับญี่ปุ่นประมาณ 1.05 พันล้านเยนในปี 2024 ซึ่งสูงกว่ายอดรวมทั้งปี 2023 ถึง 7% และสูงที่สุดนับตั้งแต่เริ่มเก็บข้อมูลในปี 2000

ที่ปรึกษา M&A จากโบรกเกอร์หลายแห่งกล่าวว่า ค่าธรรมเนียมต่อดีลได้เพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากธุรกรรมมีความซับซ้อนมากขึ้น โดยเกี่ยวข้องกับผู้ซื้อมากกว่าหนึ่งราย 

ทาคาโอมิ โทมิโอกะ หัวหน้าร่วมของทีมที่ปรึกษาญี่ปุ่นที่ Carlyle Group ซึ่งได้เปิดตัวกองทุนญี่ปุ่นมูลค่า 430,000 ล้านเยนในปีที่ผ่านมากล่าวว่า “ความคาดหวังของนักลงทุนต่างชาติที่มีต่อตลาดญี่ปุ่นเพิ่มสูงขึ้นมากในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา เนื่องจากปัจจัยต่างๆ เช่น การปฏิรูปของตลาดหลักทรัพย์โตเกียวด้วยต้นทุนการระดมทุนที่ต่ำกว่าในสหรัฐและที่อื่นๆ สภาพแวดล้อมเชิงบวกนี้จะยังคงดำเนินต่อไปในปี 2568”

ในปัจจุบัน ญี่ปุ่นกำลังเผชิญกับการเข้าซื้อกิจการโดยไม่ได้รับเชิญมากขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากการที่บริษัทต่างๆ คลายพันธะการถือหุ้นไขว้ ทำให้มีผู้ถือหุ้นหลักน้อยลง ส่งผลให้บริษัทเหล่านี้กลายเป็นเป้าหมายที่น่าสนใจสำหรับผู้ที่ต้องการเข้าซื้อกิจการมากขึ้น

นอกจากนี้ ในบางครั้งการเข้าซื้อกิจการครั้งใหญ่ยังคงเผชิญกับอุปสรรค โดย “ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ” เริ่มถูกมองว่าเป็นประเด็นที่น่ากังวลมากขึ้น เช่น กรณีคำสั่งของประธานาธิบดีโจ ไบเดนแห่งสหรัฐที่สั่งระงับการเข้าซื้อกิจการเหล็กของ U.S. Steel โดย Nippon Steel ของญี่ปุ่น

อ้างอิง: nikkei