Lunch Talk กับ 'มาริษ เสงี่ยมพงษ์' ริเริ่มเจรจาแก้วิกฤติเมียนมา ‘ไม่ใช่ไทยทำไม่ได้’
เป็นธรรมเนียมมาแต่ไหนแต่ไร ขึ้นปีใหม่ทั้งทีก็ต้องไปสวัสดีผู้หลักผู้ใหญ่ที่เคารพ เมื่อวันที่ 8 ม.ค.กรุงเทพธุรกิจและสื่อในเครือเนชั่น นำทีมโดย ฉาย บุนนาค ประธานกรรมการบริหาร และ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เนชั่น กรุ๊ป เข้าพบปะพูดคุยและรับประทานอาหาร Lunch Talk กับ มาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
งานนี้ท่านรัฐมนตรีไม่ได้มาคนเดียว แต่มีรัศม์ ชาลีจันทร์ ผู้ช่วยรัฐมนตรี และนิกรเดช พลางกูร อธิบดีกรมสารนิเทศ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศมาร่วมพูดคุยด้วย เรียกได้ว่ามากันทั้งหล่อเล็ก หล่อกลาง หล่อใหญ่ สามหนุ่มสามมุมแห่ง กต.เลยทีเดียว ประเด็นหลักที่พูดคุยเน้นหารือกันเรื่องงานใหญ่ของ กต. ในปี 2568 เป็นหลัก
ปีนี้ไทยจะเป็นเจ้าภาพการประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง ร่วมกับจีน ที่นายกรัฐมนตรีหลี่เฉียงของจีนมาร่วมประชุมด้วย
กรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้างประกอบด้วยสมาชิก 6 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม ไทย และจีน เป็นข้อริเริมของไทยเมื่อปี 2555 ที่ประสงค์จะพัฒนากรอบความร่วมมือในเขตเศรษฐกิจลุ่มน้ำโขง โดยเน้นให้มีการพัฒนาที่ยั่งยืน ลดความเหลื่อมล้ำ และส่งเสริมกระบวนการพัฒนาอาเซียน ซึ่งประเทศสมาชิกได้หารือร่วมกันเกี่ยวกับการพัฒนากรอบความร่วมมือดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง และได้ประกาศจัดตั้งอย่างเป็นทางการในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศแม่โขง-ล้านช้าง ครั้งที่ 1 ในเดือนพฤศจิกายน 2558
อีกหนึ่งงานที่ไทยรับหน้าที่เป็นเจ้าภาพประจำปี 2568 คือ กรอบความร่วมมือเอเชีย (Asia Cooperation Dialogue: ACD) ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2545 โดยการริเริ่มของไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ (1) เป็นเวทีหารือระดับนโยบายและความร่วมมือระหว่างประเทศในทวีปเอเชีย (2) ส่งเสริมความเข้าใจ ความไว้เนื้อเชื่อใจ ตลอดจนส่งเสริมผลประโยชน์ร่วมกัน (3) เป็นเวทีเอเชียที่เชื่อมโยงประเทศในทวีปเอเชีย (Pan-Asian Forum) และกรอบความร่วมมือในอนุภูมิภาคต่าง ๆ และ(4) เป็นเวทีหารือระดับนโยบายของเอเชียที่ประเทศสมาชิกสามารถแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น และหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาความท้าทายต่าง ๆ ของโลก
ACD มีสมาชิก 35 ประเทศ ครอบคลุมประเทศในทวีปเอเชีย ตั้งแต่เอเชียตะวันออกถึงตะวันตก และเป็นเวทีแรกที่มีเป้าหมายจะรวมประเทศเอเชียในทุกอนุภูมิภาค
“ประเทศ ACD มีศักยภาพสูงมาก เป้าหมายคือจะทำให้ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ขับเคลื่อนสิ่งที่ประเทศกำลังพัฒนาต้องการ ตอบโจทย์ประเทศกำลังพัฒนาให้ได้ ประเทศไทยต้องมีบทบาทในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ นี่คือการทำให้ไทยกลับสู่จอเรดาร์โลก” รมว.มาริษย้ำถึงเป้าหมายด้านการต่างประเทศที่รัฐบาลตั้งเป้าไว้ตั้งแต่แรกในการทำให้ไทยกลับมาเป็นที่จับตามองในเวทีโลก หลังตกอยู่ในทศวรรษที่สูญหายนานเกือบสิบปี
อีกหนึ่งประเด็นในเวทีระหว่างประเทศที่ไทยหนีไม่พ้นเพราะมีชายแดนติดกัน นั่นคือสถานการณ์ในเมียนมา หากจำกันได้เมื่อไม่ถึงหนึ่งเดือนก่อน เมื่อวันที่ 19 ธ.ค.2567 ไทยเป็นเจ้าภาพการหารืออย่างไม่เป็นทางการระดับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ 6 ประเทศเพื่อนบ้านเมียนมา ทั้งไทย สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว จีน อินเดีย และบังกลาเทศ ตามด้วยการหารืออย่างไม่เป็นทางการในกรอบอาเซียน ที่ สปป.ลาวเป็นประธาน และประเทศไทยเป็นผู้อำนวยความสะดวกในการจัดการหารือในวันที่ 20 ธ.ค.2567
อธิบดีนิกรเดช เสริมว่า รมว.มาริษยกประเด็นเมียนมาขึ้นมาในการพูดคุยทุกครั้งที่มีโอกาส การประชุมระหว่างวันที่ 19-20 ธ.ค.ที่ประเทศไทยนั้น จีนขอบคุณไทยมากที่ยกประเด็นเมียนมาขึ้นมาหารือ
"การประชุมประเทศเพื่อนบ้านเมียนมาเป็นความคิดริเริ่มของไทย ที่ผ่านมาไม่เคยมีการจัดการประชุมในลักษณะนี้มาก่อน และถ้าไม่ใช่ไทยก็จัดไม่ได้ เราเอาจีนและอินเดียมาได้ เพราะประเทศอื่นๆ ต่างหวาดระแวงซึ่งกันและกัน" นิกรเดชกล่าว ขณะที่มาริษย้ำ
“กดดันเมียนมาไม่มีประโยชน์ เปลี่ยนจากกดดันมาเป็นร่วมมือดีกว่า”
อย่างไรก็ตาม การประชุมดังกล่าวอาจมีบางคนคาใจว่า ทำไมไม่เชิญฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลหรือรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติเมียนมา (เอ็นยูจี) มาด้วย
“ทุกอย่างต้องมีจุดเริ่มต้นครับ ผมทำงานการทูตทำไมผมจะไม่รู้ อย่าง Peace Summit ที่ผู้ช่วยฯ รัศม์ไปร่วมที่สวิตเซอร์แลนด์ไม่เชิญรัสเซียก็ไม่เกิดผล ณ ขณะนี้มีเสียงตอบรับที่ดีจากชนกลุ่มน้อยหลายกลุ่ม” มาริษกล่าวพร้อมชี้ให้เห็นว่า ทุกคนเริ่มไว้ใจไทย และคาดหวังว่าจะมีการพูดคุยครั้งที่ 2 ต่อไปอีก แม้แต่ประเทศบรูไนที่อยู่ห่างไกลออกไป ทุกคนมีความคาดหวังสูงกับไทย
- ตอบกระทู้สด ไทยต้องคุยกับทุกกลุ่ม
รุ่งขึ้นในวันพฤหัสบดี (9 ม.ค.) ที่รัฐสภา มาริษ ได้ตอบกระทู้ถามสดของกัณวีร์ สืบแสง สส.บัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคเป็นธรรมที่ตั้งคำถามถึงนโยบายและกรอบการทำงานของไทยต่อความไม่สงบในประเทศเมียนมา ต่อการช่วยเหลือและสนับสนุนให้เมียนมาเกิดสันติภาพโดยเร็วเพราะประเทศไทยถือว่าเป็นมิตรประเทศใกล้เคียง รมว.ต่างประเทศกล่าวตอนหนึ่งว่า ประเทศไทยไม่เห็นด้วยกับการใช้ความรุนแรงกับทุกกลุ่ม ทั้งจากฝ่ายปกครองหรือฝ่ายต่อต้าน รวมถึงไม่สนับสนุนให้เกิดความรุนแรง ไม่ต้องการให้การสู้รบคงอยู่ในเมียนมาต่อไป อย่างไรก็ดีปัญหาของเมียนมานั้นจำเป็นต้องใช้การพูดคุยตามขั้นตอน
“สถานการณ์ของเมียนมามีขั้นตอนและความเปราะบางหลายจุด รวมถึงมีผู้เล่นที่เกี่ยวข้องมาก สถานการณ์ซับซ้อน เป้าหมายของไทยอยากให้เมียนมากลับมาสงบ มีเสถียรภาพประชาชนเมียยนมามีความเป็นอยู่ที่ดี มีความก้าวหน้า โดยต้องดำเนินการพูดคุยอย่างสร้างสรรค์กับคนทุกกลุ่มในเมียนมา” มาริษ กล่าว